ทริสเรทติ้ง) ตามมุมมองของทริสเรทติ้ง
โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในธุรกิจร้านอาหารและร้านอาหารบริการด่วนของบริษัทซึ่งมีการแข่งขันที่รุนแรงและมีผู้ประกอบการหลากหลาย อันดับเครดิตถูกลดทอนโดยระดับหนี้สินของบริษัทซึ่งอยู่ในระดับสูงจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องท่ามกลางผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงอันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อ แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนความกังวลจากแผนการขยายธุรกิจร้านอาหารประกอบกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ซึ่งอาจจะทำให้ภาระหนี้สินและระดับหนี้สินของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นอีก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อกดดันธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากความยืดเยื้อของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 และมาตรการห้ามรับประทานที่ร้านเป็นครั้งคราวตลอดปี 2564 เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายระลอกและมีการกลายพันธุ์ของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ?เกรฮาวด์ คาเฟ่? (Greyhound Caf? -- GHC) เป็นร้านอาหารในเครือของบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากพึ่งพารายได้หลักจากการรับประทานที่ร้านอีกทั้งความพยายามในการบริการอาหารเดลิเวอรี่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปจากมาตรการจำกัดการเดินทางและแนวโน้มการปรับตัวทำงานจากบ้านก็ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของร้าน ?โอ บอง แปง? (Au Bon Pain -- ABP) อย่างมากด้วยเช่นกัน โดยยอดขายของทั้ง 2 ร้านดังกล่าวซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายของธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดของบริษัทรวมกัน ลดลง 53% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม รายได้ของร้าน ?ดังกิ้น? (Dunkin) ในปี 2564 ฟื้นตัวสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นผลจากการขยายสาขา และปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยเน้นการเปิดร้านขนาดเล็ก (Kiosk) ในสถานีบริการน้ำมันและศูนย์การค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) โดยการเปิดร้านขนาดเล็กดังกล่าวใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการเปิดร้านในรูปแบบเดิมและมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายสาขามากกว่า นอกจากนี้ สาขาในสถานีบริการน้ำมันและศูนย์การค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตยังได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จากรัฐที่น้อยกว่าด้วย ในขณะที่ร้านอาหารของบริษัทในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มฟื้นตัวในปี 2564 จากการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เนื่องจากยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายระลอกตลอดปี 2564
บริษัทมีรายได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 2.3 พันล้านบาทในปี 2564 แต่ยังคงลดลง 24% หากเทียบกับปี 2562 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 425 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการควบคุมต้นทุนของบริษัท การได้รับการยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ร้านจากผู้ให้เช่าในบางช่วง และการสนับสนุนจากรัฐบาลในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส
รายได้จะทยอยฟื้นตัวในขณะที่อัตรากำไรจะถูกกดดัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะทยอยฟื้นตัวหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ดีขึ้น ภายใต้การประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2.9-3.6 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งคาดว่ามาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะผ่อนคลายมากกว่าปีที่แล้ว จากการที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัท โดยคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15% ในช่วงปีประมาณการ เปรียบเทียบกับระดับ 18% ในปี 2564 ทำให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 440-570 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องใช้จ่ายมากขึ้นในการจัดกิจกรรมทางการตลาดและจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าความนิยมใช้บริการอาหารเดลิเวอรี่ที่เพิ่มสูงขึ้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับบริษัทจากการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในขณะที่บริการอาหารเดลิเวอรี่ของบริษัทมีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบให้ค่าสาธารณูปโภค ค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาแป้งสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของ ?โอ บอง แปง? และ ?ดังกิ้น? ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบปานกลางเนื่องจากบริษัทมีการตกลงราคาแป้งสาลีกับผู้ขายวัตถุดิบสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม หากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวยังคงยืดเยื้อจะส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมากยิ่งขึ้น
แผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิด 19
จากความพยายามในการกระจายธุรกิจไปต่างประเทศ ในช่วงปลายปี 2560 บริษัทจึงได้ซื้อกิจการร้านอาหาร ?Le Grand Vefour? ซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในกรุงปารีส และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัทยังได้เปิดร้านอาหารเกรฮาวด์ คาเฟ่ ที่กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นร้านที่บริษัทบริหารเองแห่งแรกในต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของร้านอาหารทั้ง 2 แห่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทคาดไว้และยิ่งอ่อนตัวลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนทางธุรกิจคือ Mr. Guy Martin ซึ่งเป็นหัวหน้าเชฟของร้าน Le Grand Vefour เพื่อเปิดร้านอาหารเพิ่มอีก 4 แห่งในกรุงปารีส ได้แก่ ?Pasco? ?Augustin? และ ?A-Noste? ซึ่งเปิดในปี 2563 และ ?La Mere Lachaise? ที่เปิดในช่วงต้นปี 2565
ทริสเรทติ้งมองว่าการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้แก่สถานะทางธุรกิจของบริษัทมากยิ่งขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ยิ่งเพิ่มความท้าทายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการขยายธุรกิจในต่างประเทศประสบความสำเร็จก็จะส่งผลให้บริษัทมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นและมีโอกาสในการเติบโตที่สูงขึ้น
ระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น
ระดับหนี้สินของบริษัทลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2564 เนื่องจากกำไรของบริษัทลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อและการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ 4.5 เท่าในปี 2564 จาก 5.1 เท่าในปี 2563 ภายใต้การประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 4.7 เท่าในปี 2565 เนื่องจากการลงทุนที่สูง ก่อนจะทยอยปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 4 เท่าในปี 2567 จากการที่กำไรของบริษัทจะฟื้นตัวกลับมาที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาทในปี 2565 และรวมประมาณ 230 ล้านบาทในช่วงปี 2566-2567 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนเพื่อขยายสาขาโดยเฉพาะสาขาของร้าน ?ดังกิ้น?
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้อยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวภาระหนี้ประมาณ 1.0 พันล้านบาทเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนซึ่งประกอบด้วยเงินกู้และหุ้นกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและเงินกู้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันที่บริษัทลูก ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมเท่ากับ 80% ซึ่งสูงกว่า 50% ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง ซึ่งส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกินกว่า 3 เท่าโดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.53 เท่า นอกจากนี้ เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารของบริษัทยังมีเงื่อนไขสำคัญให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า รวมทั้งอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไม่ต่ำกว่า 1.2 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายไม่เกิน 3 เท่าด้วย โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.32 เท่า 0.79 เท่า และ 4.41 เท่าตามลำดับ บริษัทได้รับการผ่อนผันเงื่อนไขทางการเงินทั้งในส่วนของอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากธนาคารสำหรับปี 2564 แล้ว แต่บริษัทอาจจะผิดเงื่อนไขข้อกำหนดดังกล่าวได้และคงต้องขอรับการผ่อนผันจากธนาคารอีกครั้งในปี 2565 หากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวสอดคล้องหรือต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้
สภาพคล่องตึงตัว
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่ตึงตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งสภาพคล่องของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2564 ประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดประมาณ 200 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 340 ล้านบาท และวงเงินกู้ที่สามารถเบิกได้ 30 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 400 ล้านบาท ภาระค่าเช่าจ่ายจำนวน 200 ล้านบาท และเงินลงทุนซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทอาจจะต้องหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการลงทุนด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 2.9-3.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ 440 ล้านบาทในปี 2565 และอยู่ที่ 530-570 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
? เงินลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาทในปี 2565 และรวม 230 ล้านบาทในช่วงปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งต่อแผนการลงทุนเพื่อขยายสาขาในธุรกิจร้านอาหารของบริษัท ประกอบกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งอาจทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินและระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาด
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่ออันดับเครดิตของบริษัททรัพย์ศรีไทยหรือการเปลี่ยนแปลงในสถานะของบริษัทในฐานะบริษัทย่อยหลักของบริษัททรัพย์ศรีไทยอาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ไม่ว่าจะเกิดจากผลกระทบในด้านลบที่ยืดเยื้อจากการระบาดของโรคโควิด 19 หรือจากการที่บริษัทลงทุนเชิงรุกโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม ในขณะที่ทริสเรทติ้งอาจปรับอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจนทำให้ระดับหนี้สินปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิมหรือใกล้เคียงกับประมาณการของทริสเรทติ้ง
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่มีสัดส่วนกำไรที่สูงในบริษัททรัพย์ศรีไทย การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัททรัพย์ศรีไทย ซึ่งจะทำอันดับเครดิตของบริษัทเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) (MUD)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative