ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A+? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ ?A-? พร้อมคงแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ด้วย
อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมของโลก ตลอดจนการมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ในประเทศต่าง ๆ รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านโปรตีน ตลอดจนความผันผวนของรายได้ที่มีอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำ ตลอดจนจากการลงทุนและการซื้อกิจการเป็นระยะซึ่งทำให้บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับที่สูงตลอดเวลา
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานที่อ่อนลง
ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญใน 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และการลดลงของราคาสัตว์บก รวมไปถึงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
สถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ยังส่งผลทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนแรงงานในโรงงานแปรรูปอาหารหลาย ๆ แห่งอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายพิเศษจำนวนมากเพื่อใช้ดำเนินการป้องกันโรคโควิด 19 ในปี 2564 ในขณะที่ผลการดำเนินงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเวียดนามก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาสุกรที่ลดลงอย่างหนักจากสถานการณ์โรคโควิด 19 และการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์อาฟริกาในสุกร (African Swine Fever -- ASF) นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทก็ยังได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในทั่วทุกภูมิภาคของโลกอีกด้วย โดยในปี 2564 ราคาข้าวโพดโดยเฉลี่ยในประเทศไทยและประเทศเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% และ 36% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ในขณะที่ราคากากถั่วเหลืองโดยเฉลี่ยในประเทศไทยและประเทศเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้น 55% และ 29% ตามลำดับ
ด้วยสาเหตุดังกล่าว กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจึงลดลง 37.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 5.2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10.1% ในปี 2564 จากระดับ 14.1% ในปี 2563
ทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทน่าจะเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และความผันผวนของราคาสุกรยังคงเป็นสาเหตุหลัก ในขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งทางเรือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการที่บริษัทได้มีการผสานพลังทางธุรกิจร่วมกับบริษัทในเครือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศ ตลอดจนกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนนั้นน่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทยังอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
การลงทุนในประเทศรัสเซีย
บริษัทได้ลงทุนขยายธุรกิจในประเทศรัสเซียมานานกว่า 15 ปีโดยประกอบด้วย การดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์ ตลอดจนธุรกิจฟาร์มไก่และสุกร รายได้จากธุรกิจในประเทศรัสเซียคิดเป็นประมาณ 3% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2564 ส่วนวงเงินสินเชื่อที่ใช้ลงทุนส่วนใหญ่นั้นมาจากธนาคารท้องถิ่นในประเทศรัสเซีย ซึ่งประมาณ 85% เป็นเงินกู้ระยะยาวที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่
ทริสเรทติ้งมองว่าผลกระทบจากธุรกิจในประเทศรัสเซียที่มีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นอยู่ในระดับที่จำกัดเมื่อพิจารณาจากฐานรายได้ที่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะส่งผลทำให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับกำไรของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากคำสั่งซื้อไก่ส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศยูเครนป็นประเทศผู้ส่งออกไก่รายหลักในทวีปยุโรป ซึ่งเผชิญภาวะสงครามและไม่สามารถผลิตตามคำสั่งซื้อได้
ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
การลงทุนขยายงานจำนวนมากและการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่งผลให้บริษัทมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและมีหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 โดยหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.4 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 จากระดับ 3.8 แสนล้านบาทในปี 2563 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61.3% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับ 59.6% ณ สิ้นปี 2563 นอกจากนี้ ระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและกำไรจากการดำเนินงานที่ลดลงยังส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทถดถอยลงมาอยู่ที่ระดับ 8.4 เท่าในปี 2564 เทียบกับระดับ 4.5 เท่าในปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับ 6.4% ในปี 2564 ลดลงจากระดับ 14.5% ในปี 2563
เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้เพิกถอนหลักทรัพย์ของ C.P. Pokphand Co., Ltd. (CPP) ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง จากธุรกรรมครั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนเพิ่มเติมอีก 25% ใน CPP โดยคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลทำให้บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 75% ใน CPP และที่เหลืออีก 25% ถือโดย ITOCHU Corporation
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงจากแผนการลงทุนจำนวนมากของบริษัท อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้สินน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของราคาสัตว์บกและสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่คลี่คลายมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทมีแผนปรับปรุงสถานะทางการเงิน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและมีแผนงานที่ชัดเจนในการลดภาระหนี้ ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนที่ระดับประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีซึ่งไม่รวมการซื้อกิจการ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 8.8 เท่าในปี 2565 จากผลของการลงทุนใน CPP และการลงทุนตามแผนของบริษัท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่าในช่วงปี 2566-2567 ตามแผนการลดหนี้ของบริษัท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 63% ในปี 2565 และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57% ในปี 2567
สภาพคล่องที่พอเพียง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2565 ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ส่วนแหล่งที่มาของเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้โดยหลัก ๆ จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่สภาพคล่องของบริษัทนั้นมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นรวมกันประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 เป็นเงินสำรอง นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนจำนวนมากใน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 34% ในบริษัทซีพี ออลล์ และ 8.9% ในบริษัทสยามแม็คโคร โดยมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าวเมื่อคิดตามราคาตลาด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 แล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8 แสนล้านบาทและ 3.9 หมื่นล้านบาทตามลำดับ เนื่องจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์เหล่านี้เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาด หลักทรัพย์ดังกล่าวจึงน่าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทในช่วงที่ขาดแคลนสภาพคล่องได้
ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และผลิตภัณฑ์
การกระจายตัวของฐานการผลิตและตลาดในเชิงพื้นที่ช่วยลดความเสี่ยงในด้านการดำเนินงานให้แก่บริษัทลงได้บางส่วน ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทมีฐานการผลิตอยู่ใน 17 ประเทศซึ่งตั้งอยู่ใน 4 ทวีป และในปี 2564 รายได้รวมของบริษัทประมาณ 37% มาจากฐานการผลิตภายในประเทศและอีก 63% มาจากฐานการผลิตในต่างประเทศ
แหล่งรายได้หรือตลาดของบริษัทนั้นมีการกระจายตัวในหลากหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ยอดขายในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 31% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2564 ในขณะที่ยอดขายในทวีปเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตในปัจจุบันนั้นมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 51% ของรายได้รวม ส่วนประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 12% และ 6% ของรายได้รวมตามลำดับเท่านั้น ทั้งนี้ ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายฐานธุรกิจให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางยิ่งขึ้นนั้นยังช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดจากโรคระบาดและการกีดกันทางการค้าอีกด้วย
ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ก็ช่วยลดความผันผวนของกำไรของบริษัทได้อีกส่วนหนึ่งด้วย บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าสัตว์บกและกุ้งที่ครบวงจรโดยมีผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารสัตว์ เนื้อไก่ เนื้อสุกร และกุ้ง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทมากที่สุดในปี 2564 คือธุรกิจฟาร์มซึ่งประกอบด้วย ไก่ สุกร และกุ้งซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 54% ของรายได้รวม ตามมาด้วยรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์ 25% และธุรกิจอาหาร 21%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 4%-5% ต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในระดับประมาณ 10%-11.5% ในช่วงปี 2565-2567
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 โดยไม่รวมการซื้อกิจการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเอาไว้ได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าความหลากหลายของการดำเนินงาน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ และตลาดของบริษัทจะช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของสินค้าการเกษตรซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสินค้าโภคภัณฑ์และจากโรคระบาดลงได้บางส่วน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและบริษัทแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาด หรือบริษัทมีการก่อหนี้เพื่อซื้อกิจการจนส่งผลให้งบดุลและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 8 เท่าอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CPF225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
CPF228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
CPF231A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,940 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF246A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,407.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF246B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,725 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,460 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPF257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPF261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 13,064.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
CPF276A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,164.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF276B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,643 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF277A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF281A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,540 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF281B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,028.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF28NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF30NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
CPF311A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,034.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPF314A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPF326A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 940 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+
CPF328A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+
CPF331A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,372.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 A+
CPF356A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,120 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2578 A+
CPF418A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+
CPF41DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+
CPF22PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 15,000 ล้านบาท A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 15 ปี A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable