ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่?อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท
เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต ?A+/Stable? จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการดำเนินงานของบริษัทที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับการดำเนินงานของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารและการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่ด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารโดยพิจารณาจากการดำเนินงานของบริษัทที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับของบริษัทแม่ทั้งในแง่ของกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเงิน
บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยให้แก่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนถึงการดำเนินงานที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับของบริษัทแม่ ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากบริษัทแม่ ทั้งนี้ จากการที่บริษัทแม่ถือหุ้นเกือบทั้งหมดในบริษัท บริษัทแม่จึงมีส่วนในการกำหนดทิศทางและการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของบริษัท ในขณะเดียวกัน บริษัทแม่ยังช่วยในเรื่องการจัดจำหน่ายสินค้าในช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ ให้แก่บริษัทอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากบริษัทแม่ในรูปของการเพิ่มทุนหรือเงินกู้ในเวลาที่จำเป็นอีกด้วยเช่นกัน
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 25%-27% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทแม่ ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วน 10%-17% ของบริษัทแม่
ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างกลุ่มซีพีเอฟ
ในเดือนธันวาคม 2563 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารได้ดำเนินการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจเพื่อลดการถือหุ้นไขว้กันระหว่างบริษัทในเครือและรวมกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอาหารและการจัดจำหน่ายมาอยู่ภายใต้ บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด การดำเนินการดังกล่าวทำให้บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ต้องขายกิจการของบริษัทลูกจำนวน 3 แห่งออกไปเพื่อแลกกับเงินลงทุนในสัดส่วน 12.5% ในบริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ทั้งนี้ บริษัทลูกทั้ง 3 แห่งดังกล่าวประกอบด้วย บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด
การปรับโครงสร้างดังกล่าวได้ส่งผลให้รายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงจากการนำผลการดำเนินงานของบริษัทลูกทั้ง 3 แห่งดังกล่าวออกไปจากงบการเงินรวม ในการนี้ รายได้รวมของบริษัทลดลงประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปีและกำไรจากการดำเนินงานลดลงประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม การลดลงของรายได้และกำไรจะถูกทดแทนด้วยกำไรและเงินปันผลจากการถือหุ้น 12.5% ในบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง โดยในปี 2564 บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำนวน 1.6 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้งเห็นว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะมีความผันผวนมากขึ้นหลังจากการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจเนื่องจากบริษัทจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจฟาร์มที่สูงขึ้นในขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากศักยภาพในการเติบโตที่สูงขึ้นของบริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้งด้านอาหาร ช่องทางการจัดจำหน่าย และการค้าปลีก
ผลการดำเนินงานอ่อนกว่าคาด
บริษัทมีผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้อันเนื่องมาจากผลการดำเนินงานที่ตกต่ำลงอย่างมากของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตลอดจนมาตรการปิดเมือง (Lockdown) รวมถึงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวขึ้นสูงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ที่ระบาดในโรงงานแปรรูปอาหารหลาย ๆ แห่งและอุปสงค์ที่ลดลงของผู้บริโภคก็เป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ราคาสัตว์บกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษอีกประมาณ 1 พันล้านบาทที่เกิดจากมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ในปี 2564 อีกด้วย จากสาเหตุดังกล่าวจึงส่งผลทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทลดลง 65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 5.1 พันล้านบาทในปี 2564 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.9% ในปึ 2564 เทียบกับระดับ 9.6% ในปี 2563
ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่อ่อนตัวลง
การลงทุนจำนวนมากกอปรกับความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.1% ในปี 2564 จากระดับ 57.5% ในปี 2563 กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทก็อ่อนแอลงตามอัตรากำไรที่ลดลง อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.6 เท่าในปี 2564 จากระดับ 4.6 เท่าในปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากโดยมาอยู่ที่ระดับ 18.4 เท่าในปี 2564 จากระดับ 6.3 เท่าในปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.9% ในปี 2564 จากระดับ 12% ในปี 2563
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่จำนวน 9.3 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนเกือบ 90% เป็นหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาว ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2565 ประมาณ 2 พันล้านบาทซึ่งคาดว่าแหล่งที่มาของเงินสดเพื่อการชำระหนี้จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นหลัก นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องจำนวนมากจากเงินสดในมือจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกหลายแห่งด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิตและปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะบริษัทย่อยหลักที่รับผิดชอบดำเนินธุรกิจสัตว์บกแบบครบวงจรในประเทศไทยของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารต่อไป โดยที่อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทขึ้นอยู่กับสถานะเครดิตของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารเป็นสำคัญ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอันดับเครดิตของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (CPFTH)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CPFTH231A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPFTH235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPFTH237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPFTH245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPFTH252A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 13,445 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPFTH255A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPFTH261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,350 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
CPFTH267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
CPFTH275A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPFTH278A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,359.1 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPFTH279A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,470 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPFTH281A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPFTH287A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPFTH295A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+
CPFTH299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,010 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+
CPFTH305A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
CPFTH308A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 806.1 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
CPFTH315A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPFTH317A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPFTH328A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 872.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+
CPFTH335A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 A+
CPFTH339A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,520 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 A+
CPFTH358A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,517.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2578 A+
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 35,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 15 ปี A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable