ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้ค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของประเทศไทยและการมีเครือข่ายสถานีบริการที่กว้างขวาง โดยอันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อไป ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีค่าการตลาดที่อ่อนตัวลงอันเนื่องมาจากนโยบายจำกัดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของรัฐบาล นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงตลาดค้าปลีกน้ำมันที่มีการแข่งขันรุนแรงตลอดจนการก่อหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทเพื่อรองรับการเติบโตอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่อันดับสอง
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทยังคงสามารถรักษาสถานะผู้ค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของประเทศไทยเอาไว้ได้เมื่อพิจารณาจากยอดขายโดยเป็นรองจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งเป็นผู้นำตลาดเท่านั้น ข้อมูลของทริสเรทติ้งระบุว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 16.7% ในปี 2564 จาก 15.5% ในปี 2563 ซึ่งในช่วงที่ตลาดค้าปลีกน้ำมันโดยรวมได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่หดตัว แต่บริษัทกลับมียอดขายน้ำมันถึง 4.8 พันล้านลิตรผ่านช่องทางการขายปลีกในปี 2564 โดยเพิ่มขึ้น 1.2% จากปี 2563
บริษัทได้มีการกำหนดกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวน นอกจากนี้ ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันที่เชื่อมโยงกับการค้าปลีกมักสร้างอัตรากำไรที่สูงกว่าอีกด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันของบริษัทจะมีการเติบโตตามจำนวนของสถานีบริการ ?PT? ที่เพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างไรก็ตาม การค้าน้ำมันน่าจะยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัทในอนาคตอันใกล้ต่อไป
มีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันที่กว้างขวาง
ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นผลจากการขยายตัวที่รวดเร็วของเครือข่ายสถานีบริการ PT นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในตลาดค้าปลีกน้ำมันรองจาก ปตท. อีกด้วย โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 เครือข่ายสถานีบริการน้ำมันของบริษัทประกอบด้วยสถานีบริการทั้งหมดจำนวน 2,167 แห่งซึ่งจำแนกออกเป็นสถานีบริการน้ำมันจำนวน 1,945 แห่ง สถานีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จำนวน 80 แห่ง และสถานีบริการแบบผสมอีกจำนวน 142 แห่ง ทั้งนี้ จากข้อมูลที่รวบรวมโดยทริสเรทติ้ง ระบุว่าสถานีบริการน้ำมันของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็น 27.8% ของจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งหมดในประเทศในปี 2564 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการตลาดของบริษัทจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
แบรนด์เป็นที่รับรู้มากยิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งมองว่าผู้บริโภคมีการรับรู้แบรนด์ของบริษัทที่ดีขึ้นจากการที่บริษัทมีจำนวนสถานีบริการเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการเปิดสถานีบริการแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ อีกทั้งยังได้จัดสรรงบประมาณประจำปีเพื่อใช้ปรับปรุงสถานีบริการที่มีอยู่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น กลยุทธ์เหล่านี้ส่งผลให้บริษัทมียอดขายเพิ่มมากขึ้นและสามารถให้บริการผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากน้ำมันที่มีความน่าสนใจกว่าแก่ลูกค้า เช่น ร้านขายของชำ ร้านกาแฟ และการให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์
ในส่วนของบัตร ?PT Max Card? ซึ่งให้ส่วนลดและรางวัลตามการสะสมคะแนนสำหรับสมาชิกนั้นก็เป็นหนึ่งในการรณรงค์ส่งเสริมการตลาดที่สำคัญของบริษัท บริษัทมีสมาชิกบัตร PT Max Card เพิ่มขึ้นเป็น 16.9 ล้านคนในปี 2564 จาก 14.8 ล้านคนในปี 2563 และเพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่สมาชิก บริษัทจึงตั้งใจที่จะพัฒนาบริการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์แก่สมาชิก เช่น บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์และบริการโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สมาชิกอีกด้วย
ตลาดค้าปลีกน้ำมันได้รับผลกระทบจากโรคระบาด
ประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายนานัปการจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ระลอกใหม่ในปี 2564 โดยการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในปี 2564 นั้นมีความรุนแรงยิ่งกว่าการระบาดในปี 2563 ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องกลับมาบังคับใช้มาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงหลาย ๆ จังหวัด การระบาดเริ่มควบคุมได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และนำไปสู่การยกเลิกมาตรการปิดเมืองของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้ปิโตรเลียมในประเทศในปี 2564 ก็ลดลง 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดขายปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการลดลง 5.3% แต่ในทางตรงกันข้ามกับการหดตัวของตลาดค้าปลีกน้ำมัน บริษัทกลับมียอดขายน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ค่าการตลาดที่ลดลง
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทยังคงมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาน้ำมันอยู่ โดยราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นอย่างมากอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อค่าการตลาดของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะมีเพียงในระยะสั้นเท่านั้นเนื่องจากบริษัทมีการจัดการน้ำมันสำรองคงคลังที่มีประสิทธิภาพซึ่งช่วยลดความรุนแรงจากการขาดทุนจากการสำรองน้ำมันลงได้ในยามที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน
บริษัทยังคงมีความเสี่ยงจากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของราคาน้ำมันดีเซลเนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นสินค้าหลักของบริษัท ราคาน้ำมันในตลาดค้าปลีกได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของอุปสงค์ ตลอดจนอุปทานที่ตึงตัว และความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครน ทั้งนี้ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ รัฐบาลไทยได้คงนโยบายจำกัดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรโดยดำเนินการผ่านมาตรการหลาย ๆ ด้านเช่น การอุดหนุนโดยตรง การลดปริมาณส่วนผสมของน้ำมันไบโอดีเซล และการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว เป็นต้น ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ราคาน้ำมันดีเซลที่มีการควบคุมได้ส่งผลทำให้ส่วนต่างทางการตลาดของผู้ค้าปลีกน้ำมันลดลงอย่างมาก ในส่วนของบริษัทนั้น ค่าการตลาดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจากยอดขายน้ำมันดีเซลคิดเป็น 74% ของยอดขายน้ำมันทั้งหมดของบริษัทในปี 2564
รัฐบาลไทยได้ประกาศเจตจำนงที่จะคงราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตรเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ต่อไป โอกาสที่รัฐบาลจะผ่อนปรนนโยบายจำกัดราคาและยอมให้น้ำมันดีเซลปรับราคาเพิ่มขึ้นก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันให้แก่ผู้ค้าปลีกน้ำมัน ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าค่าการตลาดของบริษัทจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น
เป็นตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรง
ทริสเรทติ้งมองว่าการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดค้าปลีกน้ำมันจะยังคงดำเนินต่อไป ผู้ค้าปลีกน้ำมันต่างแข่งขันกันเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายในสถานีบริการที่ทันสมัย ทริสเรทติ้งเห็นว่าผู้ค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่ต่างก็มีการขยายสถานีบริการกันอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันใหม่ ๆ อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากเนื่องจากผู้ค้าปลีกน้ำมันพยายามสร้างความแตกต่างให้แก่สถานีบริการของตนเพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมากของผู้ค้าปลีกน้ำมันที่ต้องพยายามลดต้นทุนการดำเนินงานในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องรักษาระดับการบริการและความสามารถในการแข่งขันเอาไว้
ความคาดหวังต่อผลการดำเนินงานที่ดี
ผลกระทบที่ยืดเยื้อของโรคโควิด 19 และอัตรากำไรที่ตึงตัวส่งผลทำให้บริษัทมีรายได้ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ระดับ 5.2 พันล้านบาทในปี 2564 ซึ่งต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่ายอดขายน้ำมันของบริษัทจะยังคงเติบโตต่อไปโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายสถานีบริการอย่างต่อเนื่องและการฟื้นตัวของอุปสงค์หลังโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้งมองว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า โอกาสที่รัฐบาลจะกลับมาบังคับใช้มาตรการปิดเมืองอีกมีไม่สูงมาก ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าการใช้น้ำมันภายในประเทศจะฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
จากสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายน้ำมันของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยประมาณการว่าค่าการตลาดในภาพรวมของบริษัท (ทั้งการขายปลีกและขายส่ง) จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.77 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลทำให้ EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.4-6.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อหรือเลวร้ายลงก็ถือเป็นความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญต่อประมาณการรายได้ดังกล่าว
หนี้สินจะยังคงอยู่ในระดับสูง
บริษัทได้มีการตัดงบลงทุนลงเพื่อรักษาสภาพคล่องในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 โดยในปี 2564 บริษัทใช้เงินลงทุนไปเพียง 2.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 4.0-4.5 พันล้านบาท เป็นผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว (รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ของบริษัทลดลงเหลือ 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2564 จาก 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 77.4% อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 5.4 เท่าในปี 2564 เนื่องจาก EBITDA ที่ลดลง
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะกลับมาขยายธุรกิจอีกครั้ง โดยภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเพิ่มสถานีบริการใหม่และจะปรับปรุงสถานีที่มีอยู่ต่อไป ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 3.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 77% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ระดับ 5.2-5.6 เท่าในช่วงปี 2565-2567
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับประมาณ 3.9-4.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567 และจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับ 13%-14% ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2564 ระบุว่าบริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 2.4 พันล้านบาทและมีภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในเวลา 12 เดือนข้างหน้าทั้งสิ้นจำนวน 3.9 พันล้านบาท สำหรับสภาพคล่องนั้นบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 และจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในอีก 12 เดือนข้างหน้าซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 3.9 พันล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดหาเงินกู้เพื่อทดแทนหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระเกือบทั้งหมดเพื่อใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจตามแผน และเมื่อพิจารณาถึงธุรกิจของบริษัทที่แข็งแกร่งแล้ว ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงในการหาเงินกู้ทดแทนของบริษัทนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีเงินกู้จากธนาคารและหุ้นกู้จำนวน 9.6 พันล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนเงินก่อนจำนวนประมาณ 3.4 พันล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อย ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 35% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 50% ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้งนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่ได้มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของลำดับในการเรียกชำระหนี้คืนจากสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ยอดขายน้ำมันจะเติบโตประมาณ 7% ต่อปีโดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการขยายสถานีบริการใหม่ ๆ
? ราคาจำหน่ายน้ำมันจะเพิ่มขึ้น 11.2% ในปี 2565 และจะปรับตัวลดลง 5.9% และ 3.4% ในปี 2566-2567 ตามลำดับ
? รายได้จะปรับเพิ่มขึ้น 18% ในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้น 1%-4% ในปี 2566-2567
? ค่าการตลาดของธุรกิจน้ำมันโดยรวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.76-1.77 บาทต่อลิตร
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 3.2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเอาไว้ได้ด้วยการมีแผนกลยุทธ์ขยายธุรกิจที่มีความรอบคอบ ทริสเรทติ้งยังคาดอีกด้วยว่าระดับหนี้สินทางการเงินและระดับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัทนั้นจะยังคงอยู่ในระดับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีโอกาสเกิดขึ้นได้หากบริษัทยังสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่มีความแข็งแกร่งต่อไปได้ด้วยการสร้างการเติบโตของยอดขายในสาขาเดิมและมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้ในกรณีที่สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเป็นอย่างมากจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญหรือบริษัทมีการลงทุนที่ใช้การก่อหนี้ในระดับสูง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
PTG233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
PTG242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
PTG252A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable