ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางการตลาดในระดับปานกลางของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง ฐานทุนที่เข้มแข็ง ความสามารถในการทำกำไรในระดับที่เพียงพอ และสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องในระดับปานกลาง ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังพิจารณาถึงสถาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจเช่าซื้ออีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดในระดับปานกลางแต่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทขยายตัวอย่างมากในปี 2564 โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 49% จากสิ้นปี 2563 อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังคงอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งจะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพทางธุรกิจของบริษัท โดยคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากการขยายเครือข่ายสาขาและการครอบคลุมพื้นที่ที่มากขึ้น
บริษัทได้ขยายไปสู่ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ผ่านการจัดตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท ไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด โดยบริษัทจะถือหุ้น 51% ในบริษัทไมโครพลัสลิสซิ่ง และอีก 19% จะถือโดยผู้ร่วมทุนรายย่อยที่มีประสบการณ์ในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าการร่วมทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการกระจายตัวทางด้านธุรกิจและช่วยเพิ่มอัตราผลตอบแทนของบริษัท แต่ความสำเร็จของการร่วมทุนก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญในการบริหารงานของผู้ร่วมทุนเป็นหลัก ในระยะยาว การขยายตัวของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญและการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยด้านบวกแก่สถานะเครดิตของบริษัท
ฐานทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการสร้างผลกำไรที่เพียงพอ
อันดับเครดิตของบริษัทยังคงได้รับการสนับสนุนจากสถานะฐานทุนและอัตราส่วนภาระหนี้ที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังคงเข้มแข็ง โดยจากสมมติฐานที่ยอดสินเชื่อจัดใหม่จะเติบโต 20% และอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 40% ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงแล้ว (RAC Ratio) อยู่ที่ 35%-45% ในปี 2565-2567 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 RAC Ratio ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 51.1% แต่ลดลงจากระดับสูงที่ 70.4% ณ สิ้นปี 2563 จากพอร์ตสินเชื่อที่ขยายตัวในปี 2564 ทริสเรทติ้งยังคาดอีกว่าบริษัทจะดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับต่ำกว่า 2 เท่าในระยะปานกลางซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดสำคัญทางการเงินที่กำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3 เท่า
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่เพียงพอด้วยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยที่คาดว่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 8% ในปี 2567 จาก 7.1% ในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไว้ได้ที่ระดับใกล้เคียง 11% อย่างเช่นที่ปรากฏให้เห็นในปี 2564 ในขณะที่ยังคงบริหารจัดการค่าใช้จ่ายดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร โดยฐานรายได้ค่าธรรมเนียมของบริษัทโดยเฉพาะรายได้ค่าแนะนำประกัน ได้ช่วยให้โครงสร้างรายได้มีการกระจายตัวและมีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของรายได้รวมในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 13% ในปี 2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมจะขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทย่อยที่เพิ่งได้รับการจัดตั้ง คือ บริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์ประกันที่เสนอขายและช่วยสนับสนุนรายได้ค่าธรรมเนียมของบริษัทได้
คุณภาพสินทรัพย์อ่อนตัวลง
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสถานะทางความเสี่ยงในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่งและเชื่อว่าบริษัทจะยังคงดำรงเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่รัดกุมและพัฒนากระบวนการจัดเก็บหนี้และการยึดหลักประกันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงในปี 2564 โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าเหตุผลหลักมาจากคุณภาพเครดิตของกลุ่มลูกค้าของบริษัทซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อยที่ซื้อรถบรรทุกมือสองที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อและมีความอ่อนไหวต่อสถาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งนำไปสู่สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนการก่อตัวใหม่ของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Formation) ต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.1% ในปี 2564 จาก 2.5% ในปี 2563 ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ย (ต้นทุนทางด้านเครดิต) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันโดยมาอยู่ที่ 4.0% ในปี 2564 จาก 1.6% ในปี 2563 ต้นทุนทางด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 123% ณ สิ้นปี 2564 จาก 101% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าเป็นแนวโน้มทางบวกที่จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงของต้นทุนทางด้านเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้น ดังที่กล่าวไปนั้น พัฒนาการของคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงมีความไม่แน่นอนหากบริษัทขยายพอร์ตสินเชื่อเชิงรุกอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นปัจจัยกดดันอันดับเครดิตของบริษัทในมุมมองของทริสเรทติ้ง
สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องในระดับปานกลาง สถานะแหล่งเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าจะยังคงมีความไม่สัมพันธ์กันระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินหลงเหลืออยู่บ้างจากการพึ่งพาแหล่งเงินทุนระยะสั้นที่ลดลงโดย ณ สิ้นปี 2564 เงินกู้ยืมระยะสั้น (ไม่รวมส่วนของเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี) คิดเป็น 11% ของเงินกู้ยืมรวมซึ่งลดลงจาก 48% ในปี 2563 จากการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ของบริษัทไปสู่แหล่งเงินทุนระยะยาวผ่านทางเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและการออกหุ้นกู้ อีกทั้ง วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินยังช่วยสนับสนุนสถานะสภาพคล่องของบริษัท อย่างไรก็ตาม วงเงินสินเชื่อดังกล่าวยังจำเป็นต้องมีการวางหลักประกัน ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าอาจเป็นการจำกัดความสามารถของบริษัทในการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อในอนาคต สำหรับในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง วงเงินสินเชื่อจะช่วยสนับสนุนในยามที่บริษัทมีความต้องการใช้สภาพคล่อง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 2.2 พันล้านบาท โดย 69% ของวงเงินสินเชื่อดังกล่าวยังไม่ถูกเบิกใช้ อีกทั้ง ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนอีกด้วย
สินเชื่อรถบรรทุกได้รับผลกระทบที่จำกัดท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19
ยอดขายรถยนต์โดยรวมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ทำให้ยอดขายรถยนต์ในครึ่งหลังของปี 2564 ชะลอตัวลงกว่าครึ่งปีแรก ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์หดตัวลง 4.2% ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ยังมีอัตราการหดตัวน้อยกว่ารถยนต์นั่ง โดยรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มียอดขายปรับลดลง 1.9% ขณะที่รถยนต์นั่งปรับลดลง 8.4% ในปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความต้องการรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ยังมีอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการขนส่งและส่งออกที่ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากมาตรการปิดเมือง ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถบรรทุกยังมีอัตราการเติบโตที่ 6% ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ผลระทบจากตลาดรถยนต์โดยรวมและการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 2564 ยอดสินเชื่อรถยนต์คงค้างสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับเดิมเทียบกับการเติบโต 1.9% ในปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 นี้ จะช่วยสนับสนุนให้ตลาดรถยนต์และสินเชื่อรถยนต์ปรับขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับผลการดำเนินงานบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 มีดังนี้
? ยอดสินเชื่อจัดใหม่จะเติบโตที่ระดับประมาณ 20% ต่อปี
? ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 11%
? อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5%-4.0%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาด ตลอดจนผลประกอบการทางการเงิน และอัตราส่วนภาระหนี้เอาไว้ได้ในขณะที่ยังรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถพัฒนาตำแหน่งทางการตลาดให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นเวลานานในระดับหนึ่งในขณะที่ยังรักษาระดับคุณภาพสินทรัพย์รวมทั้งความแข็งแกร่งของฐานทุนและกำไรเอาไว้ได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรที่ถดถอยลงอย่างมากด้วยอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยที่สูงกว่า 6% และอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยที่ต่ำกว่า 5% ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MICRO)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable