ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาทไถ่ถอนภายใน 10 ปีของบริษัทที่ระดับ ?A-? เช่นเดียวกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ชุดเดิมบางส่วนและใช้เป็นเงินทุนในการขยายกิจการ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทยซึ่งมีความสามารถในการรับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงการที่มีความซับซ้อน และความยืดหยุ่นทางการเงินที่เกิดจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม สถานะเครดิตของบริษัทก็ลดทอนลงบางส่วนจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและภาวะราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความแข็งแกร่งจากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำของประเทศ
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุด 3 รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อพิจารณาในแง่ของรายได้และสินทรัพย์ อีกทั้งการที่บริษัทมีฐานทุนขนาดใหญ่ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าร่วมประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐได้อีกด้วย บริษัทมีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างที่หลากหลายครอบคลุมงานก่อสร้างทั่วไป ไปจนถึงงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง เช่น งานโครงการระบบขนส่งใต้ดินและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
จากผลงานในการก่อสร้างโครงการที่มีความสลับซับซ้อนที่หลากหลายจำนวนมากของบริษัทช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันประมูลงานได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังมีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยทั้งการสร้างงานก่อสร้างและรายได้ประจำให้บริษัทได้อีกด้วย
การลงทุนเชิงกลยุทธ์ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจและเสริมความยืดหยุ่นทางการเงิน
ณ สิ้นปี 2564 บริษัทถือหุ้นใน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ที่สัดส่วน 32% บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) สัดส่วน 19% และบริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) สัดส่วน 30% โดย BEM ประกอบกิจการทางด่วนและรถไฟฟ้าภายใต้สัญญาสัมปทานระยะยาว ในขณะที่ TTW และ CKP มีรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอจากการดำเนินงานโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว รายได้จากงานรับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่ของบริษัทก็มาจากโครงการจากบริษัทเหล่านี้ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างได้
การลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทดังกล่าวช่วยในการสร้างรายได้ประจำและช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทอีกเช่นกัน โดยบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนเหล่านี้ประมาณ 1.1-1.3 พันล้านบาทต่อปี และบริษัทยังได้กำไรจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ลงทุนในบางโอกาสอีกด้วย
มูลค่างานรับเหมาก่อสร้างในมือกำลังปรับเพิ่มขึ้น
จากความล่าช้าในการประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและบริษัทยังคงเน้นประมูลงานในโครงการระดับปานกลางไปจนถึงขนาดใหญ่นั้น ส่งผลให้มูลค่างานในมือของบริษัทลดลงมาอยู่ที่เพียง 2.9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 มูลค่างานในมือของบริษัทเริ่มมีมากขึ้นหลังจากบริษัทได้งานโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 2 และ 3 รวมถึงงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากสถานีสูบจ่ายน้ำบางมดถึงสถานีสูบจ่ายน้ำสำโรงรวมมูลค่าประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2564 รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ส่วนต่อขยายฝั่งใต้) สัญญาที่ 1 และ 2 รวมมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งช่วยให้มูลค่างานในมือของบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 กลับมาอยู่ที่ประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท
ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ามูลค่างานในมือของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากบริษัทจะเข้าร่วมประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนต่อขยายฝั่งตะวันตก) โครงการรถไฟรางคู่ โครงการทางด่วนและทางยกระดับ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ซึ่งหากบริษัทชนะการประมูลดังกล่าว โครงการเหล่านี้จะเพิ่มมูลค่างานรับเหมาก่อสร้างในมือที่ประมาณ 3 แสนล้านบาทให้แก่บริษัท
ผลการดำเนินงานคาดว่าจะปรับดีขึ้น
จากมูลค่างานในมือที่เพิ่มขึ้นและโอกาสได้งานใหม่จากโครงการเป้าหมาย ทริสเรทติ้งประมาณการรายได้ของบริษัทว่าจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.0-3.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566 และปี 2567 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้งานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางซึ่งมี CKP เป็นเจ้าของโครงการ ด้วยมูลค่างานก่อสร้างประมาณ 8 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 อีกทั้งคาดว่าบริษัทจะได้งานรับเหมาก่อสร้างใหม่มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
ถึงแม้ว่าราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนแรงงานจะเพิ่มขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทคาดว่าจะรักษาระดับอยู่ที่ 8.5% ตลอดช่วงประมาณการ เงินปันผลรับจาก BEM CKP และ TTW จะอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 พันล้านบาทในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5-3.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
ภาระหนี้อยู่ในระดับสูง
ณ สิ้นปี 2564 ภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ 4.34 หมื่นล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปในการลงทุนเชิงกลยุทธ์และให้การสนันสนุนเงินกู้ยืมระยะยาวในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 17 เท่าในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งสูงกว่าในอดีตของบริษัทที่ 8-10 เท่าเป็นอย่างมาก ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 14 เท่าในปี 2565 และลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 11-12 เท่าในช่วงปี 2566-2567 ขณะที่ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 59% ณ สิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้นจาก 57.7% ในปี 2563 ทั้งนี้
หากบริษัทไม่จำเป็นต้องให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทในกลุ่มอีกต่อไป อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทก็จะทรงตัวอยู่ในระดับ 55%-60% ในช่วงประมาณการ
บริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้สอดคล้องตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้โดยบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้เกินกว่า 3 เท่า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าว ณ เดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 1.4 เท่า ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ขณะที่ภาระหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งทำให้หนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทอยู่ในระดับต่ำ
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ณ เดือนธันธาคม 2564 บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนชั่วคราวจำนวน 7 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.4 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 6.7 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 5.5 พันล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงินจำนวน 1.2 พันล้านบาท อีกทั้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.8 พันล้านบาทเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายการลงทุน เงินปันผลจ่ายและเงินลงทุนบริษัทในเครือ
นอกจากนี้ สภาพคล่องของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความยืดหยุ่นทางการเงินที่มาจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 3 แห่งอีกด้วย โดย ณ สิ้นปี 2564 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมีมูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 6.28 หมื่นล้านบาทหรือประมาณ 1.4 เท่าของภาระหนี้รวมของบริษัท หากจำเป็นบริษัทก็สามารถขายหุ้นบางส่วนในบริษัทเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ บริษัทจะยังคงการถือหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญในบริษัททั้ง 3 แห่งนี้ต่อไป
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ประมาณ 3.0 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทในปี 2567
? อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะคงอยู่ที่ประมาณ 8.5%
? บริษัทจะได้งานรับเหมาก่อสร้างใหม่ ๆ โดยมีมูลค่าเฉลี่ยรวมที่ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และได้งานโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางมูลค่า 8 หมื่นล้านบาทในปี 2565
? เงินสนับสนุนให้กู้ยืมในโครงการไซยะบุรีจะยังคงมีอยู่ในช่วงหลายปีข้างหน้า
? จะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่หรือการสนับสนุนทางการเงินจำนวนมากแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูงในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเอาไว้ได้ต่อไปโดยจะสามารถประมูลได้งานใหม่ ๆ จากโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้นและบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินได้ตามที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตรากำไรจาก EBITDA ให้อยู่ในช่วง 10%-12% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ให้อยู่ที่ประมาณ 10 เท่าเอาไว้ได้ในระยะยาวอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่งมากกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการและลดระดับภาระหนี้ของบริษัทลงจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
ในขณะที่ ปัจจัยที่จะส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตอาจเกิดจากการมีต้นทุนก่อสร้างที่สูงกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญในโครงการหลัก ๆ หรือที่ไม่คาดคิด รวมถึงบริษัทให้การสนับสนุนทางการเงินที่มีมูลค่าสูงแก่บริษัทในกลุ่มซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นเกินกว่า 13 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CK225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
CK226A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
CK227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 910 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
CK235B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
CK238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
CK245B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
CK246B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
CK247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
CK258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
CK25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
CK265A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
CK267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
CK283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
CK285A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
CK287A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,020 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
CK296A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A-
CK308A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A-
CK315A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขาย เพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable