ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? อันดับเครดิตสะท้อนถึงทำเลที่ตั้งและคุณภาพที่ดีของโรงแรมของบริษัทซึ่งมีการบริหารงานอย่างมืออาชีพโดยเครือข่ายโรงแรมระดับโลก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากสินทรัพย์เพียงแห่งเดียว และภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ โรคโควิด 19 ภาระผูกพันที่เพิ่มขึ้นจากการขายทรัพย์สินเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (ทรัสต์ฯ) ที่มีเงื่อนไขในการซื้อคืน
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์โรคโควิด 19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานรวมถึงอาจกดดันสถานะเครดิตของบริษัทมากยิ่งขึ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่าผลการดำเนินงานจะทยอยฟื้นตัวขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2564 และต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อและการปิดดำเนินงานโรงแรมชั่วคราวเพื่อปรับปรุงระบบท่อในเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2564 โดยในปี 2564 โรงแรมของบริษัทมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำมากที่ 6% และมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) น้อยกว่าปี 2562 อยู่ที่ 94% ทั้งนี้ ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น โรงแรมของบริษัทให้บริการแก่ลูกค้าชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่โดยเน้นที่กลุ่มการจัดประชุมและงานแสดงสินค้า (MICE) รวมถึงลูกค้าจากบริษัทต่าง ๆ การกลายพันธุ์ของโรคโควิด 19 และการแพร่ระบาดหลายระลอกส่งผลให้รัฐบาลบังคับใช้มาตรการการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศที่เข้มงวด เช่น มาตรการกักตัวและการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เมื่อเดินทางเข้าประเทศ เป็นผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และมีการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าที่น้อยในปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายปี 2565 ก่อนที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้นจนถึงระดับใกล้เคียงกับในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2567 โดยรัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เมื่อความกังวลต่อโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนลดลง ทริสเรทติ้งคาดว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่มีเงื่อนไขซึ่งจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของโรงแรมของบริษัทในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 32% ของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2562 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2566 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 77% ของปี 2562 และปรับตัวดีขึ้นอีกในปี 2567 จนอยู่ที่ระดับ 95% ของปี 2562 อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ผลการดำเนินงานจะด้อยกว่าการประมาณกรณีพื้นฐานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน การฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมของบริษัทอาจถูกกระทบหากมีการกลายพันธุ์ของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่หรือมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ นอกจากนี้ หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อออกไปอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของการเดินทางระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาพรวมได้
รายได้ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์เพียงแห่งเดียว
โรงแรมของบริษัทได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและตั้งอยู่ในทำเลที่ดี โดยบริษัทได้ว่าจ้าง Marriott International Inc. ให้เป็นผู้บริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ ?เชอราตัน? ทั้งนี้ เครือข่ายโรงแรมระดับสากลนั้นมีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีระบบการบริหารจัดการโรงแรมที่ดีและมีช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็เผชิญกับความเสี่ยงจากการดำเนินงานสินทรัพย์เพียงแห่งเดียว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการมีโรงแรมหลายแห่งที่มีความหลากหลายกระจายตัวในทำเลที่ตั้งแตกต่างกันไปโดยให้บริการลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มนั้นมักจะมีความผันผวนต่อความเสี่ยงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในระดับที่ต่ำกว่า
ภาระหนี้คาดว่าจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังเสร็จสิ้นธุรกรรมขายและเช่ากลับ
บริษัทมีหนี้สินสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 พันล้านบาทในปี 2564 เมื่อเทียบกับสถานะปลอดหนี้ของบริษัทในปี 2563 โดยเป็นผลจากการที่บริษัทขาย ?โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ ทาวเวอร์ส? ให้แก่ทรัสต์ฯ ที่มีเงื่อนไขในการซื้อคืนที่เพิ่งตั้งใหม่ ภายใต้สมมติฐานกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 280 ล้านบาทในปี 2565 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 490-590 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 โดยอัตราส่วนหนี้ทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 16 เท่าในปี 2565 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 9 เท่าในปี 2566 และ 7 เท่าในปี 2567
บริษัทได้ขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสต์ฯ โดยมีมูลค่าประมาณ 4.5 พันล้านบาทและได้รับเงินจากการขายสุทธิจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนประมาณ 4.3 พันล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัทได้เช่าโรงแรมกลับมาด้วยสัญญาอายุ 3 ปีในเบื้องต้นโดยสามารถต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 1 ปีอีก 2 ครั้งซึ่งจะทำให้สัญญาเช่าอาจมีอายุสูงสุดได้ถึง 5 ปี โดยจ่ายค่าเช่า 272 ล้านบาทต่อปี บริษัทมีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อสินทรัพย์คืนกลับมาจากทรัสต์ฯ ณ สิ้นปีที่ 5 ที่ราคาขายครั้งแรกรวมกับส่วนเพิ่มบางส่วนรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 4.9 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีสิทธิในการซื้อสินทรัพย์คืน ณ สิ้นปีที่ 3 และสิ้นปีที่ 4 ตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้อีกด้วย บริษัทได้นำเงินจากการขายเกือบทั้งหมดจำนวน 3.9 พันล้านบาทปล่อยกู้ให้แก่บริษัทแม่คือ บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) โดยมีระยะเวลาให้กู้ 5 ปีเริ่มต้นเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัทจะได้รับดอกเบี้ยประมาณ 347 ล้านบาทต่อปีหรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 8.9% โดยจะใช้ดอกเบี้ยรับและเงินที่จะได้รับจากการรับชำระคืนเงินกู้เพื่อจ่ายค่าเช่าและซื้อคืนทรัพย์สินจากทรัสต์ฯ
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่บริหารจัดการได้ โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 140 ล้านบาท และมีเงินจากดอกเบี้ยรับจากบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำนวน 347 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีแหล่งใช้ไปของเงินทุนประกอบด้วยค่าเช่าจ่ายให้ทรัสต์ฯ จำนวน 272 ล้านบาท คาดการณ์กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ใช้จ่ายออกไปสุทธิที่ประมาณ 70 ล้านบาท และมีแผนในการลงทุนอีกประมาณ 20 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทไม่มีภาระหนี้ที่จะต้องชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จะอยู่ที่จำนวน 320 ล้านบาทในปี 2565 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 760 ล้านบาทในปี 2566 และ 940 ล้านบาทในปี 2567
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (ไม่รวมดอกเบี้ยรับจากบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้) จะอยู่ที่ -21% ในปี 2565 อยู่ที่ 18% ในปี 2566 และ 26% ในปี 2567
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์โรคโควิด 19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานรวมถึงอาจกดดันสถานะเครดิตของบริษัทมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยของบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้และความสามารถในการชำระค่าเช่าและการซื้อคืนทรัพย์สินจากทรัสต์ฯ ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยรับและการรับชำระคืนเงินต้นจากบริษัทแม่เป็นหลัก อันดับเครดิตของบริษัทจึงถูกจำกัดจากอันดับเครดิตของบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ เป็นผลให้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? หากผลการดำเนินงานของบริษัทปรับดัวดีกว่าหรือสอดกับที่ทริสเรทติ้งคาดและสถานะทางเครดิตของบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน ในขณะที่อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทถดถอยลงไปมากกว่าที่ทริสเรทติ้งได้ประมาณการไว้ หรือหากสถานะทางเครดิตของบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ถดถอยลงไปกว่าที่คาด
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ROH)
อันดับเครดิตองค์กร: BB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative