ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB+? พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? ทั้งนี้ การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการฟื้นตัวของสถานะทางการเงินของบริษัทอันเกิดจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่ผู้บริโภคต้องการจับจ่ายใช้สอยหลังจากที่ผู้บริโภคหยุดหรือลดการใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทและการอ่อนค่าของเงินบาทได้ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่าจะดำเนินอย่างต่อเนื่องต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจกุ้งแปรรูปในประเทศไทยและกลยุทธ์ของบริษัทที่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลขั้นสูงสุดทั้งในด้านความปลอดภัยของอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับตลอดวงจรของห่วงโซ่อุปทาน อย่างไร
ก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในช่วงหลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) รวมถึงความผันผวนในตลาดกุ้งและสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและการกีดกันทางการค้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวดีขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปี 2564 โดยบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13.8% ในปี 2564 จากที่ระดับประมาณ 8%-10% ในช่วงปี 2561-2563 เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับตัวดีขึ้นอีกด้วยเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 550 ล้านบาทในปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 62-75 ล้านบาทในช่วงปี 2562-2563 ส่งผลให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 335 ล้านบาทในปี 2564 เมื่อเทียบกับในระหว่างปี 2562-2563 ที่บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 205-240 ล้านบาท
รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่มาจากตลาดส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยบริษัทมียอดขายจากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 98% ของรายได้รวม นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงและเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ยังมีส่วนทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงและเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยเฉลี่ยในปี 2564 นั้นเพิ่มสูงขึ้น 9.6% และ 2.2% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทตามลำดับ
นับต่อจากนี้ไป กลยุทธ์ที่บริษัทจะมุ่งเน้นคือผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลกำไรสูงต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุน รวมทั้งเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่น่าพอใจเอาไว้ได้ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2565-2567 โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4%-5% ในระหว่างปี 2565-2567 ตามอุปสงค์และราคากุ้งในตลาดโลกที่ค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ภาระหนี้ปรับตัวลดลง
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42.1% ณ เดือนธันวาคม 2564 จาก 58.9% ณ เดือนธันวาคม 2563 โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากการที่บริษัทมีกำไรสะสมเพิ่มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจกุ้งและความสำเร็จในการเพิ่มทุนผ่านการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายตามสัดส่วนจำนวน 463.5 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งการเพิ่มทุนในครั้งนี้ทำให้บริษัทสามารถจ่ายชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวได้และลดความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนลง
บริษัทมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอยู่ที่ระดับ 100-140 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่และการซ่อมบำรุง ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36%-38% ในช่วงปี 2565-2567 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายนั้นน่าจะมีเพียงพอที่ระดับ 3-4 เท่าในระหว่างปี 2565-2567
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 150-250 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยในช่วงดังกล่าวบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 58 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมทั้งสิ้นจำนวน 37 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่จำนวน 485 ล้านบาท ในอนาคตทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 11%-15% ในช่วงปี 2565-2567
มูลค่าทรัพย์สินที่เพียงพอในกิจการร่วมค้า
บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศโดยการลงทุนในกิจการร่วมค้าในธุรกิจกุ้งครบวงจรในนาม Belize Aquaculture Ltd. (BAL) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลางในปี 2555 ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทได้มีการบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนในลูกหนี้ค้างชำระอื่น เงินให้กู้ยืมระหว่างบริษัท และดอกกเบี้ยค้างรับไว้เรียบร้อยแล้ว
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้คงค้างกับกิจการร่วมค้า BAL รวมทั้งสิ้นจำนวน 804 ล้านบาทซึ่งอยู่ในรูปแบบของลูกหนี้ค้างชำระอื่น ๆ มูลค่า 374 ล้านบาท ดอกเบี้ยค้างรับจำนวน 72 ล้านบาท เงินให้กู้ยืมระหว่างบริษัทอีกจำนวน 358 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีมูลค่าทรัพย์สินเพียงพอที่จะนำมาชำระภาระหนี้คงค้างกับกิจการร่วมค้าในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้านี้
ประสบการณ์ที่ยาวนานในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้ง
บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษครึ่งที่ผ่านมาในฐานะผู้แปรรูปและผู้ส่งออกกุ้ง รายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 6.79 พันล้านบาทในปี 2564 จาก 3.6 พันล้านบาทในปี 2554 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 6.5% บริษัทมีฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับการรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศหลายสถาบันทั้งในด้านความปลอดภัยของอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับตลอดวงจรของห่วงโซ่อุปทาน และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สินค้าของบริษัทจึงได้มาตรฐานสำหรับการจำหน่ายในห้างค้าปลีกชั้นนำทั่วโลก
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 4%-5% ในช่วงปี 2565-2567
? สมมติฐานอื่น ๆ จะใกล้เคียงกับแนวโน้มในอดีต
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและสถานะทางการตลาดในธุรกิจกุ้งได้ต่อไป ทั้งนี้ ฐานะทางการเงินของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับปานกลางและความสามารถในการชำระหนี้ที่เพียงพอ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฟื้นตัวเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วให้อยู่ต่ำกว่าระดับ 5 เท่าในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้าได้ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (CFRESH)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable