ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า
การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัทนั้นยังคงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเครดิตของบริษัท โดยบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ระดับ 664 เมกะวัตต์ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จำนวน 4 แห่งด้วยกำลังการผลิตรวม 278 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังลม 2 แห่งด้วยกำลังการผลิตรวม 386 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทได้เริ่มดำเนินการผลิตเต็มปี ตั้งแต่ปี 2562 และสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในสัดส่วนที่มากกว่า 90% ให้แก่กลุ่ม โดยมี EBITDA อยู่ที่ระดับ 9.3 พันล้านบาทถึง 1.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564
กระแสเงินสดที่บริษัทได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้านั้นมีจำนวนมากและสามารถคาดการณ์ได้โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้รับซื้อไฟฟ้าที่แข็งแกร่งซึ่งประกอบด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์และช่วยป้องกันบริษัทจากผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ ในขณะที่ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่อยู่ในระดับต่ำของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลมยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความมั่นคงในการสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากส่วนเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้า (Adder) เป็นเวลา 10 ปีซึ่งสร้างกระแสเงินสดและอัตรากำไรที่ดีให้แก่บริษัทจนกว่าส่วนเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะหมดอายุลง
การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทยังคงมีความสม่ำเสมอมาโดยตลอด โดยผลผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 1,423 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.1% จากปี 2563 โดยมีปัจจัยหลักมาจากความเร็วลมที่ดีขึ้น
เป็นผู้ผลิตรายแรกในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไออนในประเทศไทย
โรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของบริษัทเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาโดยมีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) บริษัทได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีในการผลิตแบตเตอรี่จาก Amita Technologies Inc. ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่จากไต้หวันที่บริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนประมาณ 71% ในปัจจุบัน
การเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรายแรก ๆ นั้นช่วยทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ทั้งนี้ ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทได้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของธุรกิจซึ่งอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งประกอบไปด้วยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการขนส่งด้วยเรือไฟฟ้าและรถเมล์ไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้ามากกว่า 400 แห่ง โดยในช่วงแรก สินค้าแบตเตอรี่ส่วนใหญ่จะใช้ในโรงงานประกอบรถยนต์ของบริษัทเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งบริษัทได้ประโยชน์จากการได้รับยกเว้นภาษีเนื่องจากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของบริษัทนั้นตั้งอยู่ในเขตปลอดภาษี (Tax-free Zone)
เน้นการเติบโตด้วยรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
บริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วยิ่งขึ้นในขณะเดียวกันก็พยายามทำให้สินค้าแบตเตอรี่ของบริษัทให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดยบริษัทคาดหวังว่าความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถเมล์ไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้ในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทจึงนำจุดแข็งที่มีมาใช้ไม่ว่าจะเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนจากการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายเดียวในประเทศ เทคโนโลยีในการชาร์จไฟฟ้าที่รวดเร็ว หรือการให้บริการที่ครบวงจร เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้เข้าสู่ธุรกิจปลายน้ำโดยการซื้อกิจการบริษัทเดินรถเมล์โดยสารภายใต้ชื่อ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด เมื่อเดือนมีนาคม 2565 โดยหลังจากธุรกรรมการซื้อกิจการเสร็จสิ้นแล้ว บริษัทวางแผนจะเปลี่ยนรถเมล์โดยสารที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า เพื่อแสดงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และรถเมล์ไฟฟ้าของบริษัท
โอกาสในการเติบโตของตลาดรถเมล์ไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้านั้นมีสูงโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายด้านรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีรถเมล์ไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ที่จำนวน 18,000 คันภายในปี 2568 จากจำนวน 121 คันที่จดทะเบียนใหม่ในปี 2564 เมื่อพิจารณาจากอุปสงค์ในอนาคตดังกล่าวแล้ว บริษัทจึงจะขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่เป็น 4 GWh และเพิ่มกำลังการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นสองเท่าภายในปีนี้
ความเสี่ยงในการดำเนินงานในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ทริสเรทติ้งประเมินว่าธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท มีสภาพแวดล้อมที่ท้าทายและมีความเสี่ยงที่หลากหลาย ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่สำคัญเกิดจากการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงจากการเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกหรือผู้จำหน่ายแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาในประเทศไทยหรือตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่นั้นยังมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีก็เป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทต้องมีการลงทุนล่วงหน้าในด้านงานวิจัยและพัฒนาเพื่อที่จะสามารถตามทันการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วได้ ในขณะที่แนวโน้มราคาแบตเตอรี่ที่ลดลงก็อาจสร้างแรงกดดันต่อประสิทธิภาพในการผลิตของบริษัทเพื่อที่จะรักษาราคาให้ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้อีกด้วย
ผลการดำเนินงานที่สั้นของบริษัทในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้านั้นยังคงเป็นข้อจำกัดสำหรับสถานะเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้งมองว่าความสำเร็จของบริษัทในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่จะขึ้นอยู่กับการสร้างความไว้วางใจในคุณภาพของแบตเตอรี่และการได้รับคำสั่งซื้อที่เพียงพอเพื่อใช้กำลังการผลิตของโรงงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่การเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์หรือลูกค้ารายใหญ่เพื่อให้ได้สัญญาซื้อขายระยะยาวนั้นจะมีความสำคัญต่อธุรกิจของบริษัทในระยะยาว
ผลกำไรจากธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะชดเชยผลกำไรที่ลดลงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตเป็น 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 3.7 หมื่นล้านในปี 2567 จากระดับ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 การเติบโตของรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากรายได้ในธุรกิจใหม่คือการจำหน่ายรถเมล์ไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐที่จะออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทจำหน่ายรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 112 คันให้แก่คู่ค้าทางธุรกิจและมีเป้าหมายที่จะจำหน่ายรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 1,500 คันในปี 2565 โดยปัจจุบันบริษัทได้รับคำสั่งซื้อแล้วประมาณ 800 คัน
ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเติบโตจากระดับ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เป็น 1.25 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ทั้งนี้ EBITDA จากธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเพียงพอที่จะชดเชย EBITDA จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่คาดว่าจะลดลงจำนวน 1.5 พันล้านบาทหลังจากที่ส่วนเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าจะเริ่มหมดอายุลงในช่วงระหว่างปี 2566-2567 อัตรากำไรของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มว่าจะเบาบางในช่วงเริ่มต้นแต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในภายหลังเมื่อมีการใช้กำลังการผลิตในโรงงานสูงขึ้น อัตราส่วน EBITDA Margin โดยเฉลี่ยของบริษัทน่าจะลดลงเหลือ 30%-40% อันเป็นผลจากสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้า
สถานะทางการเงินที่ปานกลาง
ในระหว่างปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการเงินที่ดีไว้ได้ แม้ว่าบริษัทจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากแผนการลงทุน โดยในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าการลงทุนของบริษัทคาดว่าจะมีมูลค่ารวม 1.79 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบไปด้วยการขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ให้เป็น 4 GWh ซึ่งใช้เงินลงทุน 6.75 พันล้านบาท การขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าแห่งใหม่จำนวน 1.7 พันล้านบาท การขยายกำลังการผลิตของโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2.5 พันล้านบาท และการซื้อกิจการของบริษัทสมาร์ทบัสและรถเมล์ไฟฟ้าใหม่อีกจำนวน 6.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนจะใช้แหล่งเงินทุนจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่า 900 ล้านยูโร (หรือเทียบเท่า 3.3 หมื่นล้านบาท) โดยจะสำรองส่วนเกินเอาไว้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการผลิตและจำหน่ายรถเมล์ไฟฟ้า
ในช่วงปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าหนี้ใหม่ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจะได้รับการชดเชยบางส่วนด้วย EBITDA ที่เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA จะอยู่ที่ระดับ 4-5 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินสุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20%
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทจะมีเพียงพอสำหรับการลงทุน โดยแหล่งที่มาของเงินทุนจะรวมถึงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3.3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะมีประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่การใช้เงินทุนของบริษัทจะประกอบด้วยการชำระคืนเงินกู้ธนาคารและหุ้นกู้จำนวนรวม 9 พันล้านบาทและการจ่ายเงินปันผลจำนวน 1.1 พันล้านบาท ส่วนเงินลงทุนจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาทในอีก 12 เดือนข้างหน้านั้นบริษัทจะระดมทุนโดยใช้วิธีออกหุ้นกู้แปลงสภาพในช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม 2565 นี้
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 หนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 4.49 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประมาณ 2.45 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อยต่าง ๆ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 57% ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ 50% ที่ใช้ในการพิจารณาความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัทจึงต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 1 ขั้นเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิที่มีนัยสำคัญดังกล่าว
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.9-3.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
? EBITDA คาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 1.1-1.25 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 7.5-7.8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
? อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 20% ของกำไรสุทธิ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่ากระแสเงินสดที่มั่นคงจำนวนมากของบริษัทจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นแหล่งกระแสเงินสดหลักให้แก่กลุ่ม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานะทางการเงินของบริษัทจะสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ในขณะที่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเริ่มสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้แก่บริษัทได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีค่อนข้างจำกัดในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถขยายฐานกระแสเงินสดได้อย่างมีสาระสำคัญในขณะที่ยังคงสามารถรักษาสถานะทางการเงินที่ดีเอาไว้ได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดจากการลงทุนที่ใช้เงินกู้อย่างเกินตัวหรือมีการขาดทุนจำนวนมากจากการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ของบริษัท
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
EA227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
EA227B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
EA228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
EA237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
EA248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
EA257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
EA26OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
EA297A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A-
EA298A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable