ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตสะท้อนถึงรายได้ที่แน่นอนจากสินทรัพย์โรงไฟฟ้าของบริษัทและสัดส่วนการลงทุนที่มีการกระจายตัวเป็นอย่างดี ในทางกลับกัน อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงในการบริหารงานโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย (Execution Risk) และระดับภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงในช่วงที่มีการขยายธุรกิจ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยหลักของ BCP
ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) จากการที่บริษัทมีบทบาทที่สำคัญเชิงกลยุทธ์และสร้างผลกำไรที่มีความหมายต่อกลุ่มบางจาก อันดับเครดิตของบริษัทนั้นมีการปรับเพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Standalone Credit Profile ? SACP) ที่ระดับ ?bbb+? เพื่อให้เท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของ BCP
ปัจจุบัน BCP ถือหุ้นในบริษัท 57.5% และควบคุมกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทโดยผ่านทางคณะกรรมการบริษัท รวมถึงคณะกรรมการการลงทุน และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท
บริษัทดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มบางจาก ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์ของกลุ่มบางจากในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน โดยคาดว่าบริษัทจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็นประมาณ 25%-30% ของทั้งกลุ่ม ซึ่งกระแสเงินสดที่มั่นคงจะช่วยลดความผันผวนในธุรกิจโรงกลั่นของกลุ่มบางจาก นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทจะเป็นเครื่องมือในการไปให้ถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของกลุ่มบางจากอีกด้วย
การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวดี
ปัจจุบัน บริษัทเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ดำเนินงานแล้วมากกว่า 30 โครงการด้วยกำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทที่ประมาณ 390 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบไปด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 65% พลังน้ำ 29% และพลังงานลม 6%
โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ใน 4 ประเทศ คือ ประเทศไทย 47% ประเทศญี่ปุ่น 20% สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 29% และประเทศฟิลลิปปินส์ 4% ทริสเรทติ้งมองว่ากลยุทธ์การลงทุนของบริษัทที่มีการกระจายตัวที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บริษัททั้งในส่วนของประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุนและแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือและพึ่งพาได้
มีรายได้ที่มั่นคง
รายได้ที่มั่นคงของบริษัทมาจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีชื่อเสียงและมีผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่น่าพอใจ โดยโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัท (228 เมกะวัตต์) นั้นมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานการไฟฟ้าภาครัฐหรือหน่วยงานสาธารณูปโภคภูมิภาคของประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุน
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นส่วนหลักในการสร้างรายได้ของบริษัท (ประมาณ 70% ของ EBITDA) โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์นั้นได้พิสูจน์แล้วว่ามีการผลิตไฟฟ้าที่สามารถคาดการณ์ได้เนื่องจากมีความผันผวนของแหล่งพลังงานและมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงาน
แรงกดดันจากการหมดอายุของค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มลดลง
โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัทในประเทศไทย (รวม 133 เมกะวัตต์) นั้นเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยโครงการดังกล่าวได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) ที่ 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (หน่วย) ในช่วง 10 ปีแรกหลังจากเปิดดำเนินงานซึ่งคิดเป็นรายได้จากค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ส่วนนี้จะค่อย ๆ ทยอยลดลงตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปเมื่อค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มของโรงไฟฟ้าบางส่วนของบริษัทจะทยอยหมดอายุลง โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ของบริษัทในส่วนนี้จะลดลงอย่างมากในปี 2567 และจะหมดไปในปี 2568 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมความพร้อมจากผลกระทบดังกล่าวโดยได้ซื้อกิจการโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ไว้แล้วจำนวน 2 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 114 เมกะวัตต์และเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 3 แห่ง (รวม 65 เมกะวัตต์) ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้าง EBITDA ให้แก่บริษัทประมาณ 1.6-1.8 พันล้านบาทต่อปีเมื่อดำเนินงานเต็มปี
ยังคงเติบโตต่อตามกลยุทธ์
บริษัทอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตอีก 719 เมกะวัตต์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน ปัจจุบัน บริษัทมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ ?Monsoon? ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกใน สปป.ลาว โดยโครงการมีขนาด 600 เมกะวัตต์และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าประเทศเวียดนาม (Vietnam Electricity -- EVN) โครงการ Monsoon จะเริ่มการก่อสร้างในปี 2565 และเริ่มเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในปี 2568 โดยโครงการดังกล่าวจะเพิ่มกำลังการผลิตให้บริษัท 230 เมกะวัตต์เมื่อคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 38% โดยบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายแห่งในไต้หวันซึ่งจะค่อย ๆ เพิ่มกำลังการผลิตในช่วงปี 2565-2568 รวมจำนวน 469 เมกะวัตต์
การเติบโตของการลงทุนในต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งมองว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศมีความท้าทายมากขึ้นจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเพียงเล็กน้อยจากผลของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ นอกจากนี้ประเทศยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับสูง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมองหาการเติบโตในต่างประเทศ ทั้งนี้ โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ จะค่อย ๆ เพิ่มกำลังการผลิตของบริษัทเป็น 1,108 เมกะวัตต์ในไม่กี่ปีข้างหน้า โดยโรงไฟฟ้าที่อยู่ในประเทศไทยจะมีสัดส่วนไม่ถึง 20%
มีการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต
นอกเหนือจากโครงการที่กล่าวไปแล้ว บริษัทยังเตรียมงบลงทุนอีก 1.7 หมื่นล้านบาทสำหรับการซื้อกิจการโครงการพลังงานหมุนเวียนที่เปิดดำเนินงานอยู่แล้วในปี 2565 ซึ่งจะช่วยเร่งกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท เนื่องจากสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที
บริษัทยังขยายไปสู่ธุรกิจสายส่งและสถานีไฟฟ้าย่อยอีกด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทได้ลงทุนในสายส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดนด้วยการซื้อหุ้น 25% ใน Nam Tai Hydropower Sole Co., Ltd. (Nam Tai) โดยบริษัทจะชำระเงินด้วยการโอนรายการลูกหนี้การค้าที่มีกับ การไฟฟ้า สปป. ลาว (Electricite du Laos -- EDL) ให้กับผู้ขาย รวมเป็นเงิน 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางกลับกัน บริษัทจะได้รับสิทธิ์ 50% ในระบบสายส่ง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการจำหน่ายไฟฟ้าจาก สปป. ลาว ไปยังประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ธุรกรรมดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในแผนธุรกิจของบริษัทที่จะเปลี่ยนผู้รับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง (?Nam San 3A? และ ?Nam San 3B?) จาก EDL เป็น EVN อีกด้วย
โดยรวมแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาทสำหรับลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ในช่วงปี 2565-2568 อย่างไรก็ดีเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ในระดับสูง บริษัทได้ขายเงินลงทุนทั้งหมดในโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย โดยบริษัทได้รับเงินสด 1.45 หมื่นล้านบาท และจะรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุน 1.6 พันล้านบาท การขายกิจการครั้งนี้ช่วยเพิ่มความสามารถในการลงทุนโครงการใหม่ ๆ ของบริษัท
ความเสี่ยงในการดำเนินโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
กำไรในอนาคตของบริษัทขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการพัฒนาโครงการเป็นสำคัญ บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่าช้าในการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าพลังงานลม การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมมักมีความเสี่ยงในการก่อสร้างค่อนข้างสูงจากการออกแบบและก่อสร้าง ความล่าช้าในการก่อสร้างและค่าใช้จ่ายที่มากกว่างบประมาณเกินไปอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความเป็นไปได้ของโครงการ
นอกจากนี้ การลงทุนของบริษัทในโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่จะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านทรัพยากรที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากน้ำขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำเป็นหลักซึ่งอาจผันผวนกันอย่างมากในแต่ละปี ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมมีความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานที่สูงกว่า โดยเฉพาะความเสียหายของกลไกการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ ความสำเร็จของโครงการพลังงานลมขึ้นอยู่กับปริมาณและความเร็วของลม
รายได้และภาระหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น
ในประมาณการกรณีฐาน ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานว่าบริษัทจะสามารถพัฒนาโครงการและซื้อกิจการได้ตามแผนที่วางไว้ และโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงมีผลประกอบการที่น่าพอใจต่อไป ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.9-9.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2568 โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.7 พันล้านบาทในปี 2564 และ EBITDA มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 4.6-7.1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 8 เท่าในปี 2566-2567 และลดลงเป็น 7.5 เท่าในปี 2568 และคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจะอยู่ที่ระดับ 51%-62% ในปี 2565-2568 เพิ่มขึ้นจาก 41% ณ ปี 2564
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีเงินสดในมือประมาณ 1.12 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (วงเงินที่ไม่สามารถยกเลิกได้และวงเงินที่ไม่มีภาระผูกพัน) ประมาณ 1.2 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะสร้างเงินทุนจากการดำเนินงานได้ประมาณ 3 พันล้านบาทในปี 2565 ดังนั้น เงินสดและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ไว้จะเพียงพอสำหรับการชำระเงินกู้ระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระในปี 2565 ประมาณ 4.4 พันล้านบาท
โครงสร้างหนี้สิน
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้ตามงบการเงินรวมของบริษัททั้งหมดจำนวน 2.96 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) จำนวน 7.7 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมของบริษัทย่อย อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดอยู่ที่ 26%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของบริษัทจะเป็นดังนี้
o โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศไทย : 16%-17%
o โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น : 12%-13%
o โรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว : 48%-50%
? เงินปันผลรับจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์จะอยู่ที่ประมาณ 38-116 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2568
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวมถึงการลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่จำนวน 2.75 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 3.27 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2566-2568
? ประมาณการมูลค่าสุทธิของกิจการต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของโรงไฟฟ้าที่บริษัทอาจจะเข้าไปลงทุนในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 9-11 เท่า
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 76%-78% ในช่วงปี 2565-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งที่บริษัทจะสามารถดำรงผลการดำเนินงานให้เป็นที่น่าพอใจ โดยที่การก่อสร้างและการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ นั้นคาดว่าจะสำเร็จได้ตามแผน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทและกระแสเงินสดต่อภาระหนี้ที่มีอยู่นั้นจะไม่แตกต่างไปจากประมาณการของทริสเรทติ้งอย่างมีนัยสำคัญตลอดระยะเวลาในการขยายธุรกิจของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ของบริษัทลงได้อย่างมีสาระสำคัญ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงไปจากที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากซึ่งอาจเกิดจากการก่อหนี้เพื่อการลงทุนในระดับสูง
ทั้งนี้ ภายใต้ ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของ BCP ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับอันดับเครดิตของ BCP ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงได้หากมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะของบริษัทที่มีกับกลุ่มบางจากอ่อนแอลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BCPG249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BCPG269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
BCPG289A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
BCPG319A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A-
BCPG339A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 A-
BCPG249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable