ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวเป็นผลมาจากอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ (Group Credit Profile ? GCP) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ ?a? อันดับเครดิตของบริษัทซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการของกลุ่ม อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจอยู่ 1 ขั้น สะท้อนการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างของสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของบริษัทต่อสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของบริษัทย่อย
อันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป สะท้อนถึงอันดับเครดิตของ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?A/Stable? จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทที่มีสินทรัพย์คิดเป็นมากกว่า 90% ของสินทรัพย์รวมของกลุ่ม ในขณะที่อันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile ? SACP) ของธนาคารนั้นสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในการให้บริการสินเชื่อรถยนต์ สถานะเงินกองทุนที่มั่นคง ความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบของธนาคาร
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการของกลุ่มการเงิน
บริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการ (Non-operating Financial Holding Company ? NOHC) โดยมีธนาคารทิสโก้เป็นบริษัทย่อยหลักที่ดำเนินธุรกิจธนาคารซึ่งมีสินทรัพย์คิดเป็น 93.8% ของสินทรัพย์รวมของกลุ่ม ณ สิ้นปี 2564 บริษัทย่อยที่ดำเนินกิจการอื่น ๆ ภายใต้กลุ่มบริษัทยังประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด (บลจ. ทิสโก้) และ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (บล. ทิสโก้)
เนื่องจากบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการของกลุ่ม บริษัทจึงต้องพึ่งพารายได้เงินปันผลจากธนาคารทิสโก้ เพื่อนำมาใช้ชำระหนี้ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงจากการแทรกแซงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินปันผลจากธนาคารทิสโก้มายังบริษัทได้ในภาวะวิกฤต ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำกัดการจ่ายเงินปันผลของธนาคารในปี 2563-2564 เพื่อให้รักษาระดับเงินกองทุนของธนาคารเนื่องจากต้นทุนทางเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น
ธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารที่มีความแข็งแกร่งสนับสนุนความมั่นคงของธุรกิจ
สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังคงถูกประเมินอยู่ที่ระดับ ?ปานกลาง? โดยสะท้อนถึงทั้งความมั่นคงและการกระจายตัวของธุรกิจ ในด้านความมั่นคงของธุรกิจ สะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดในภาพรวมและความแข็งแกร่งของธุรกิจของบริษัทย่อยที่สำคัญภายในกลุ่ม ความแข็งแกร่งของธุรกิจของ บลจ. ทิสโก้ช่วยถ่วงดุลตำแหน่งทางการตลาดที่อ่อนแอลงของธนาคารทิสโก้ ซึ่งสะท้อนจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องของพอร์ตสินเชื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
การกระจายตัวของรายได้ที่แข็งแกร่งสนับสนุนการกระจายตัวของธุรกิจ
บริษัทยังคงเหนือกว่าคู่แข่งในด้านของการกระจายตัวของรายได้ ถึงแม้ว่าจะมีการหดตัวลงของสินเชื่อของธนาคารทิสโก้ แต่กลุ่มบริษัทยังสามารถรักษารายได้ค่าธรรมเนียมได้ค่อนข้างคงที่ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิต่อรายได้รวมคิดเป็น 29.8% ในปี 2564 และ 27.2% ในปี 2563 ของรายได้รวม สูงที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นค่าธรรมเนียมจากการขายประกันผ่านสาขาของธนาคาร การบริหารกองทุน และค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ของรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 34% ของรายได้รวมในปี 2564 การขายประกันผ่านสาขาของธนาคารมีความแข็งแกร่งขึ้นจากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรถยนต์ในการให้บริการประกันภัยสำหรับการซ่อมแซมรถยนต์ โดยพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทในปัจจุบันประกอบด้วย กลุ่ม GWM, กลุ่ม Nissan Motor, กลุ่ม Ford, และ กลุ่ม Mazda
อยู่ในตำแหน่งที่ดีในการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
บลจ. ทิสโก้ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกองทุนเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดที่ระดับ 16.9% ในธุรกิจนี้ ด้วยมูลค่าของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการอยู่ที่ 2.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับในส่วนของกองทุนรวม มูลค่าของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 25.7% มาอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 การเติบโตดังกล่าวส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานของบริษัทจากธุรกิจบริหารจัดการกองทุนเพิ่มขึ้นในอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นที่ 12.3% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
สถานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งประเมินสถานะเงินกองทุนของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป โดยสะท้อนจากสถานะเงินกองทุนของธนาคารทิสโก้ ซึ่งอยู่ในระดับแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ในระยะ 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 20.16% ณ สิ้นปี 2564 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการหดตัวลงของฐานสินทรัพย์เนื่องจากการหดตัวลงของสินเชื่อ และการสะสมของกำไรสะสมซึ่งได้แรงหนุนจากการความสามารถในการทำกำไรที่ดี ทั้งนี้ คุณภาพของเงินกองทุนอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ย โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 คิดเป็น 80% ของเงินกองทุนทั้งหมด ณ สิ้นปี 2564 อ้างอิงจากสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อแบบระมัดระวังและอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ระดับ 50%-90% อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารจะอยู่ระหว่าง 19%-20% ในปี 2565-2567
ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับแข็งแกร่ง
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับแข็งแกร่งกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก โดยเห็นได้จากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทที่ระดับ 2.11% และ 2.61% ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.69% และ 0.81% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการมุ่งเน้นไปที่การให้บริการสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูง ต้นทุนทางการเงินที่มีการจัดการที่ดี รายได้ค่าธรรมเนียมที่แข็งแกร่ง และคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดี อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิที่ปรับด้วยความเสี่ยงของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 4.01% ในปี 2564 จากระดับ 3.41% ในปี 2563 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.7% ในทั้งสองปี
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งในระยะ 3 ปีข้างหน้า จากประมาณการในกรณีฐานของทริสเรทติ้งที่คาดการณ์ว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 2.8%-2.9% ในปี 2565-2567 การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนนี้จะได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่จากการขยายตัวของอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิที่ปรับด้วยความเสี่ยงและการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ
การก่อหนี้อยู่ในระดับต่ำ
เมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวมแล้ว สถานะเงินทุนของบริษัทส่วนใหญ่สะท้อนมาจากสถานะเงินทุนของธนาคารทิสโก้ ซึ่งประกอบด้วยเงินฝากจำนวน 1.68 แสนล้านบาท เงินกู้ยืมระหว่างธนาคารและตลาดเงินจำนวน 7.9 พันล้านบาทตลอดจนหุ้นกู้และเงินกู้ยืมอีกจำนวน 8.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ในขณะที่เมื่อพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะของบริษัทแล้ว ระดับการก่อหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดย ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 6.6 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2563
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ต่อไปนี้คือสมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ในระหว่างปี 2565-2567
? อัตราการเติบโตของสินเชื่อ: คงที่ในปี 2565 และ 2% ต่อปีหลังจากนั้น
? อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ: 4.70%-4.96%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวม: 43.5%
? ต้นทุนทางเครดิต: 0.8%-0.9%
? อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร): 2.35%-2.43%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้ ในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้จากการยกระดับสถานะทางการตลาดของธนาคารทิสโก้แบบมีนัยสำคัญและยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็รักษาสถานะเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีไว้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable