ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? พร้อมทั้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ?A-? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ลักษณะคล้ายทุนที่ระดับ ?BBB+? ด้วย โดยที่แนวโน้มอันดับเครดิตยังเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่?
ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ ?A-? ด้วยเช่นกัน โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 1 ขั้นเนื่องจากมีลักษณะของการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้าง (Structural Subordination) เมื่อเทียบกับเงินกู้ของบริษัทย่อย สำหรับเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้นั้นบริษัทจะนำไปชำระคืนเงินกู้และหุ้นกู้ของบริษัท รวมทั้งนำไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่เชื่อถือได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวและผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อันดับเครดิตยังแสดงถึงการกระจายตัวที่หลากหลายของโรงไฟฟ้าของบริษัท ในทางกลับกัน อันดับเครดิตถูกฉุดรั้งไว้จากภาระหนี้สินที่จะสูงขึ้นในช่วงที่ขยายธุรกิจ อันดับเครดิตยังมีปัจจัยมาจากราคาก๊าซที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งจะกดดันกำไรของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้ที่เชื่อถือได้
ความแข็งแกร่งของบริษัทมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ดำเนินงานภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) รายได้ที่เชื่อถือได้มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่ลงนามไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ., ได้รับอันดับเครดิต ?AAA/Stable? จากทริสเรทติ้ง) และผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมที่น่าเชื่อถือในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค
รายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. โดยคิดเป็น 64% ของรายได้รวมในปี 2564 ผลประโยชน์หลักจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้แก่ ภาระผูกพันในการซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ และกลไกการส่งผ่านราคาก๊าซในสูตรราคาค่าไฟฟ้า
ในขณะเดียวกัน ไฟฟ้าและไอน้ำที่จำหน่ายให้กับผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นประมาณ 25% ของรายได้ทั้งหมด บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมเป็นเวลา 5-15 ปี ลูกค้าอุตสาหกรรมแต่ละรายมีข้อผูกพันที่ต้องซื้อไฟฟ้าและ/หรือไอน้ำในปริมาณขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
โดยรวมแล้ว โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยมีดัชนีความพร้อมอยู่ในระดับสูงและมีการหยุดซ่อมนอกแผนงานน้อย บริษัทมีบุคลากรของตนเองในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงประจำวัน นอกจากนี้ ยังมีสัญญาบำรุงรักษาระยะยาว (Long-term Service Agreement -- LTSA) กับผู้ผลิตระดับโลกสำหรับการดำเนินงานโรงไฟฟ้าด้วย
ในช่วงปี 2562-2564 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมส่วนใหญ่ของบริษัทมีดัชนีค่าความพร้อมสูงกว่า 95% ซึ่งมากกว่าที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากำหนด โดยมีอัตราค่าความร้อนเฉลี่ยที่ดีกว่าอัตราความร้อนอ้างอิง
มีโรงไฟฟ้าที่กระจายตัวหลากหลาย
บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่กระจายตัวที่หลากหลาย โดยมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการอยู่มากกว่า 50 แห่งทั้งในและต่างประเทศ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งสุทธิ 2,110 เมกะวัตต์ เมื่อวัดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 21 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor -- EEC) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมถือเป็นสินทรัพย์หลักในการผลิตไฟฟ้าซึ่งคิดเป็นเกือบ 70% ของกำลังการผลิตสุทธิหรือ 1,458 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการพลังงานหมุนเวียนที่เปิดดำเนินการอยู่ โดยมีกำลังการผลิตรวม 647 เมกะวัตต์ ทั้งประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ และที่ใช้ขยะเป็นพลังงาน ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
การขยายกำลังการผลิตต่อเนื่อง
บริษัทกำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 5 แห่งเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ซึ่งมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2565 โรงไฟฟ้าเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการทดแทน SPP (SPP Replacement) นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแห่งใหม่อีก 2 โครงการในจังหวัดอ่างทอง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566 บริษัทยังกำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าไฮบริดระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงานและพลังความร้อนร่วมในพื้นที่อู่ตะเภา โรงไฟฟ้าแห่งนี้คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเฟส 1 (พลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน) ในปี 2565 และเฟส 2 (โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม) ในช่วงปลายปี 2566
นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าทั่วไปแล้ว บริษัทยังขยายกำลังการผลิตในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหลายโครงการ รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศมาเลเซีย โรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนามและประเทศโปแลนด์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ในประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,615 เมกะวัตต์ภายในปี 2567
แรงกดดันจากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรของบริษัทในปี 2565 บริษัทขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมด้วยส่วนลดจากราคาค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียกเก็บแก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ อัตราค่าไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft อย่างไรก็ตาม การปรับค่า Ft นั้นจะล่าช้ากว่าและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าจะปรับในช่วงเวลาและที่อัตราเท่าใด ดังนั้น ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท
ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงดำเนินต่อไป ราคาก๊าซจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่เหนือระดับราคา 400 บาทต่อล้านบีทียูในไตรมาสแรกของปี 2565 ในประมาณการกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาก๊าซจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในปี 2565 และจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับปกติตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป แม้ว่าทริสเรทติ้งจะคาดว่าค่า Ft จะเพิ่มขึ้น แต่การปรับเพิ่มขึ้นจะยังไม่น่าเท่ากับกับราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทกำลังมองหาวิธีการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านต้นทุนเชื้อเพลิง นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas -- LNG) ในปี 2566 เพื่อพยายามจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในระยะยาว
ในประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจะลดลงเหลือ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จาก 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 9 เท่าในปี 2565 อย่างไรก็ตาม จากสมมติฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าราคาก๊าซจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับปกติในปี 2566 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะลดลงเป็น 6.5 เท่าในปี 2566
ภาระหนี้เพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นในปี 2565 เพื่อใช้รองรับการขยายโครงการใหม่ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมและแบบพลังงานหมุนเวียน โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลงจำนวน 7 แห่ง ในประมาณการกรณีฐาน ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะใช้เงินประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุนในช่วงปี 2565-2568 เป็นผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอาจสูงสุดที่ 9.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และจะค่อย ๆ ลดลงเป็น 8.5 หมื่นล้านบาทในปี 2568 อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 72% ในปี 2565 และลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 64% ในปี 2568
ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.4-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568 เมื่อโครงการที่กำลังพัฒนาทั้งหมดเริ่มดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA มีแนวโน้มว่าจะอยู่ที่ 5-6 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ 10%-14%
โครงสร้างหนี้สิน
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้สินตามงบการเงินรวม (รวมภาระจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าอมตะ บี. กริม เพาเวอร์ -- ABPIF) เป็นจำนวน 9.58 หมื่นล้านบาท โดยมีจำนวน 6.73 หมื่นล้านบาทที่ถูกพิจารณาว่าเป็นหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบไปด้วยหนี้ของบริษัทย่อย อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดคือ 70% ทำให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทนั้นด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญในกรณีที่ต้องเรียกร้องสิทธิในทรัพย์สินของบริษัท หุ้นกู้ของบริษัทจึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 1 ขั้น
สถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ
ในงบการเงินรวมนั้น บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ประมาณ 2.78 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 8.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 6.2 พันล้านบาทในปี 2565 ดังนั้น เงินสดในมือ รวมทั้งวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ และเงินทุนจากการดำเนินงานจึงมีเพียงพอสำหรับการชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในอีก 12 เดือนข้างหน้าที่ 4.4 พันล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงขายไฟฟ้าราว 12,600-14,000 ล้านหน่วยต่อปีในช่วง 2565-2568 และขายไอน้ำมากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
? ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในช่วงปี 2565-2568 จะเป็นดังนี้
- พลังงานแสงอาทิตย์ : 12%-18%
- พลังงานลม : 15%-25%
- พลังงานน้ำ : 53%-54%
? EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.0-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 2565-2568
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวมถึงการลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่จำนวน 4.3 หมื่นล้านบาทสำหรับช่วงปี 2565-2568
? ภาระหนี้ที่จะต้องชำระคืน (เงินกู้ยืมและหุ้นกู้) จะอยู่ที่ประมาณ 4.3-9.3 พันล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2565-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจและจะสร้างกระแสเงินสดที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้บริษัทสามารถดำเนินโครงการใหม่เสร็จสิ้นได้ตามแผน เป็นผลให้กำไรและภาระหนี้เป็นไปตามที่ ทริสเรทติ้งประมาณการ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากขึ้นในขณะที่โครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่ประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ อันดับเครดิตยังอาจถูกกดดันได้หากโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากการก่อหนี้เพื่อการลงทุนในระดับสูง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BGRIM23OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
BGRIM247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BGRIM267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
BGRIM28OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
BGRIM317A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A-
BGRIM19PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 8,000 ล้านบาท BBB+
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable