ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ภายใต้โครงการ Medium-Term Notes Program (MTN) ปี พ.ศ. 2565 ของธนาคารที่ระดับ ?A? ด้วยเช่นกัน
อันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้มีระดับเทียบเท่ากับอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ (Group Credit Profile ? GCP) ของ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO) ซึ่งอยู่ที่ระดับ ?a? เนื่องจากธนาคารมีสถานะเป็นบริษัทหลักของกลุ่ม
ในขณะที่อันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile ? SACP) ของธนาคารทิสโก้ที่ระดับ ?a? นั้นสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการให้บริการสินเชื่อรถยนต์ สถานะเงินกองทุนที่มั่นคง ความสามารถในการทำกำไร ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งเหล่านี้ถูกจำกัดโดยขนาดของธุรกิจที่เล็กและสถานะเงินทุนที่อ่อนแอเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
สถานะทางธุรกิจของธนาคารทิสโก้ถูกยึดโยงไว้กับธุรกิจของธนาคารที่มีความแข็งแกร่ง โดยจัดเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 (รวมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์) ถึงแม้ว่าอัตราการเข้าถึงลูกค้าของธนาคารจะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์การเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปของธนาคาร อัตราการเข้าถึงลูกค้าของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.5% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ระดับ 7.2% ในปี 2560
สถานะเงินกองทุนของธนาคารทิสโก้ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 20.16% ณ สิ้นปี 2564 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการหดตัวลงของฐานสินทรัพย์เนื่องจากการหดตัวลงของสินเชื่อ และการสะสมของกำไรสะสมซึ่งได้แรงหนุนจากการความสามารถในการทำกำไรที่ดี
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 1.62% เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.38% ในปี 2563 โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิที่ขยายตัวขึ้น และการตั้งสำรองเพื่อรองรับการสูญเสียทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ต้นทุนทางเครดิต) ที่ลดลง ตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 0.81% ในช่วงเวลาเดียวกัน ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.7% โดยได้แรงหนุนจากความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและคุณภาพสินทรัพย์ที่มีการจัดการที่ดี
ธนาคารทิสโก้รักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ด้วยการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบและกลยุทธ์การเติบโตอย่างระมัดระวัง ซึ่งสะท้อนจากเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินเชื่อที่อยู่ภายใต้มาตรการบรรเทาหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง พร้อมกับเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่สูง อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร (ไม่รวมสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร) ลดลงสู่ระดับ 2.18% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับ 2.22% ณ สิ้นปี 2563 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 3.7% ณ ช่วงเวลาเดียวกัน อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 247.8% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทย คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารน่าจะค่อนข้างคงที่ในปี 2565 เนื่องจากกลยุทธ์การขยายสินเชื่อเฉพาะกลุ่มและความเสี่ยงที่น้อยในกลุ่มที่เปราะบาง เช่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (4.2% ของสินเชื่อทั้งหมด)
สถานะเงินทุนของธนาคารทิสโก้ยังคงถูกประเมินว่าอยู่ที่ระดับ "ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย" เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์หลักของประเทศไทยถึงแม้ว่าสัดส่วนเงินฝากของธนาคารจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นปี 2564 สัดส่วนเงินฝากรายย่อยอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 71% ของเงินฝากทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 59% ณ สิ้นปี 2563 สถานะเงินทุนของธนาคารยังคงมีข้อจำกัดจากการพึ่งพาเงินฝากประจำที่มีต้นทุนสูงจากลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง เช่นเดียวกับธนาคารขนาดเล็กรายอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในต้นทุนเงินฝากที่ระดับ 1.05% ในปี 2564 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.67% อย่างมีนัยยะสำคัญ
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงรักษาสถานะสภาพคล่องให้อยู่ในระดับเพียงพอต่อไปได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารคิดเป็น 22.5% ของเงินฝากทั้งหมด ซึ่งเพียงพอและสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของทริสเรทติ้งที่ระดับ 20% ในขณะที่ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารอยู่ที่ระดับเฉลี่ยที่ 168.4% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 189.2% ตามตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานก็ตาม
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าธนาคารทิสโก้จะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรและความแข็งแกร่งในธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถยนต์ คุณภาพสินทรัพย์มีการจัดการที่ดีและมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารทิสโก้ในการรักษาสถานะทางการตลาดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมโดยรวมและเพิ่มการ กระจายตัวของโครงสร้างรายให้มากยิ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ คุณภาพสินทรัพย์และสถานะเงินกองทุนน่าจะอยู่ในระดับแข็งแกร่งดังเดิม ในขณะที่สถานะเงินทุนค่อย ๆ เพิ่มขึ้น การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนเงินกองทุน และความสามารถในการทำกำไรของ ธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563
ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCOB)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TISCO243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการ Medium-Term Notes Program ปี พ.ศ. 2565 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable