ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ Hattha Bank PLC (Hattha Bank หรือ ?ธนาคาร?) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตประเทศของประเทศกัมพูชา (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?BBB+/Stable? จากทริสเรทติ้ง ) ในขณะที่อันดับเครดิตของธนาคาร (ที่ไม่รวมความเสี่ยงจากอันดับเครดิตประเทศของประเทศกัมพูชา) รวมการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจากการสนับสนุนของกลุ่มแล้ว อยู่ที่ระดับ ?a-? การปรับเพิ่มอันดับเครดิตเนื่องจากการมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ (Strategically Important) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?AAA/Stable? จากทริสเรทติ้ง)
อันดับเครดิตสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของ Hattha Bank ในกลุ่มสินเชื่อลูกค้ารายย่อยในประเทศกัมพูชา ตลอดจนการมีเงินกองทุนที่อยู่ในระดับเพียงพอ และการบริหารความเสี่ยงที่มีความระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของธนาคารก็มีข้อจำกัดจากขนาดธุรกิจที่อยู่ในระดับปานกลาง และความเสี่ยงของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ในประเทศกัมพูชาที่อยู่ในระดับสูง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาถือหุ้นทั้งหมดใน Hattha Bank ตั้งแต่ปี 2559 ธนาคารมีส่วนในการดำเนินกลยุทธ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาและ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ในการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคและแสวงหาโอกาสในการเติบโตในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยามีข้อผูกพันในระยะยาวที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับธนาคารเมื่อมีความจำเป็น ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินผ่านวงเงินกู้ และการเพิ่มทุนให้กับธนาคารเพื่อรองรับการเติบโต ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้รับเงินเพิ่มทุนไปทั้งหมด 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารยังคงคาดว่าจะมีการเพิ่มทุนอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ Hattha Bank ยังได้รับการช่วยเหลือด้านธุรกิจจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาด้วยเช่นกัน นอกจากความรู้ในด้านผลิตภัณฑ์และความรู้เฉพาะด้านจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาแล้ว ธนาคารทั้งสองยังร่วมมือกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เสนอสินค้าเงินฝาก และแนะนำลูกค้าระหว่างกันอีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าการสนับสนุนและความร่วมมือกันดังกล่าวจะดำเนินต่อไปในระยะยาว นอกจากนี้ กลยุทธ์และการดำเนินงานของ Hattha Bank ยังอยู่ภายใต้การให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิดจากคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจำนวน 5 คนจากทั้งหมด 8 คนซึ่งรวมถึงประธานกรรมการนั้นเป็นตัวแทนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ กรอบการบริหารความเสี่ยงของธนาคารส่วนใหญ่สอดคล้องกับของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่มีความระมัดระวัง ซึ่งเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการควบคุมความเสี่ยงให้สูงกว่าข้อกำหนดของประเทศกัมพูชา
เป็นธนาคารพาณิชย์ระดับกลางที่เน้นการปล่อยสินเชื่อรายย่อย
ตำแหน่งทางธุรกิจของ Hattha Bank สะท้อนจากสถานะทางการตลาดจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในประเทศกัมพูชา โดยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 2,056 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2564 ในด้านสินเชื่อ ธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่ออยู่ในลำดับที่ 5 จากฐานข้อมูลอุตสาหกรรมล่าสุดที่มี ณ สิ้นปี 2563 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินเชื่ออยู่ที่ 4.4% ของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศกัมพูชา ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2562
การปล่อยสินเชื่อรายย่อยยังคงเป็นจุดแข็งหลักของทางธนาคาร โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินเชื่อรายย่อยอยู่ลำดับที่ 3 ในบรรดาธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ที่รับเงินฝากได้ (Microfinance Deposit Taking Institution ? MDI) ในประเทศกัมพูชา และมีส่วนแบ่งที่ 8.1% ณ สิ้นปี 2563 สินเชื่อที่ปล่อยให้กลุ่มลูกค้ารายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 54.9% ของสินเชื่อทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งดังกล่าวมาจากการที่ธนาคารมีเครือข่ายสาขาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศกัมพูชาในบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดและยังมีการเพิ่มจำนวนพนักงานขายอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาว ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในสามธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกัมพูชา ด้วยกลยุทธ์การขยายสินเชื่อเชิงรุกในด้านสินเชื่อ SME และสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์
มีแผนกระจายตัวของรายได้และสินเชื่อ
สัดส่วนรายได้ของ Hattha Bank ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ที่รายได้จากการปล่อยสินเชื่อ โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income -- NII) ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักซึ่งคิดเป็น 95.2% ของรายได้ทั้งหมดของธนาคารในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากกลยุทธ์ในการขยายรายได้ค่าธรรมเนียมจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หนังสือค้ำประกัน สินเชื่อการค้า การโอนเงินระหว่างประเทศ ธุรกรรมการโอนเงิน และธุรกิจประกันภัย
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนขยายธุรกิจไปยังสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ในปีที่ผ่านมา พัฒนาการที่สำคัญคือการขยายสินเชื่อไปในกลุ่มเกษตรอย่างรวดเร็ว โดยเติบโตขึ้นเป็นสัดส่วน 15.3% ของสินเชื่อรวมทั้งหมดในปี 2564 จาก 0.24% ในปี 2563 การปรับตัวที่ดีขึ้นมาจากความแข็งแกร่งในการส่งออกสินค้าด้านการเกษตรของประเทศกัมพูชาในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ถึงแม้ว่าทริสเรทติ้งจะมองว่าการเติบโตดังกล่าวจะเป็นพัฒนาการที่ดี แต่การขยายสินเชื่อไปยังผู้ประกอบการ SME และสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ไปจนถึงระดับที่จะทำให้มีผลบวกต่ออันดับเครดิตของธนาคารน่าจะใช้เวลา เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่
สถานะเงินกองทุนอยู่ในระดับเพียงพอและความสามารถในการสร้างผลกำไรอยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งยังคงประเมินสถานะเงินกองทุนของ Hattha Bank อยู่ในระดับที่เพียงพอ และยังมองว่าธนาคารจะยังคงได้รับการเพิ่มทุนจากทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาต่อไป เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของระดับเงินกองทุนในช่วงที่ธนาคารกำลังขยายธุรกิจ ในปี 2564 ธนาคารได้รับเงินเพิ่มทุนจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารปรับเพิ่มเป็น 18.7% จาก 17.8% ณ สิ้นปี 2563 สูงกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำของทางการที่ 15% นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังวัดความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารจากอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวม โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15.0%-16.5% ในช่วงปี
2565-2567 รวมสมมติฐานเงินเพิ่มทุน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 และ 2567 และการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 20%-25% ต่อปี ในปี 2565-2567
ในด้านผลประกอบการ กำไรของ Hattha Bank วัดจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคาร (Return on Average Assets -- ROAA) น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและสูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น โดยคาดการณ์อยู่ที่ 2.2%-2.6% ในปี 2565-2567 ROAA ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.48% ในปี 2564 จาก 1.83% ในปี 2563 เนื่องจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการกันเงินสำรอง จากที่เคยปรับตัวขึ้นมากในปี 2563 จากผลกระทบของโรคโควิด 19 อีกเหตุผลหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแบบจำลองเพื่อใช้ในการคำนวณการกันเงินสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิต (Expected credit loss model ? ECL model) ในปี 2564 จากที่ใช้แบบจำลองของธนาคารกรุงศรีอยุธยามาเป็นของธนาคารเอง ซึ่งธนาคารมองว่าเหมาะกับพอร์ตสินเชื่อธนาคารมากกว่า ทำให้มีการกลับเงินสำรองในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ขณะเดียวกันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin -- NIM) น่าจะคงอยู่ในระดับ 7.5%-8.0% ในปี 2565-2567 จากการคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยของสินเชื่อจะลดลงจากการแข่งขันและจากการที่การปล่อยสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์มากขึ้น รวมไปถึงต้นทุนทางการเงินที่จะลดลงจากฐานเงินฝากที่ปรับตัวดีขึ้น
การกันเงินสำรองอย่างระมัดระวังเพื่อรองความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น
ทริสเรทติ้งยังคงประเมินสถานะความเสี่ยง (Risk Position) ของ Hattha Bank ในระดับที่พอเพียง จากนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่มีความระมัดระวังภายใต้การควบคุมของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระดับของอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans -- NPL) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมของธนาคารก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 อยู่ในระดับต่ำกว่า MDI อื่น ๆ โดยหลังจากการเปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์แล้ว อัตราส่วน NPL ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารส่วนใหญ่ในช่วงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563
ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณของการอ่อนแอลงของคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 แต่ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ของธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ และน่าจะค่อย ๆ แก้ไขได้เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป อัตราส่วน NPL ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.5% จาก 0.3% ณ สิ้นปี 2562 และสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้างหนี้จากที่ระดับ 10.6% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ณ สิ้นปี 2563 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 23.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ก่อนจะลดลงเป็น 17.7% ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วน NPL ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังจากสิ้นสุดโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อย่างไรก็ตาม การกันเงินสำรองอย่างระมัดระวังของธนาคารน่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องมีการกันเงินสำรองเพิ่มในอนาคตได้ ทั้งนี้ เงินสำรองต่อ NPL (NPL Coverage) ของธนาคารที่ระดับ 96.7% ณ สิ้นปี 2564 นั้นยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งภายในประเทศซึ่งอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 60% ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารได้กันเงินสำรองไว้อย่างเพียงพอสำหรับรองรับหลักเกณฑ์การกันเงินสำรองใหม่ตามประกาศของ ธนาคารแห่งชาติประเทศกัมพูชา (NBC) ที่เกี่ยวกับการจัดชั้นและการกันเงินสำรองสำหรับสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งประกาศออกมา ณ สิ้นปี 2564
สถานะเงินทุนปรับตัวดีขึ้นและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินสถานะเงินทุนของ Hattha Bank อยู่ในระดับปานกลาง เงินฝากจากลูกค้าของธนาคารมีสัดส่วนคิดเป็น 62.2% ของเงินทุนทั้งหมด ณ สิ้นปี 2564 ในขณะที่ บัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ (Current Accounts and Saving Accounts -- CASA) คิดเป็นสัดส่วน 22.9% ของเงินฝากทั้งหมด อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่ระดับ 161.6% นั้นอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 102.2% ณ สิ้นปี 2563 สถานะเงินทุนของธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากกลยุทธ์การขยายฐานเงินฝากของธนาคาร โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะขยายฐานบัญชี CASA ผ่านบัญชีเงินเดือนและบัญชีเงินฝากขององค์กร รวมไปถึงการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศ และลูกค้าที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและ MUFG แนะนำมา
ทริสเรทติ้งประเมินว่า Hattha Bank จะมีสถานะสภาพคล่องที่อยู่ในระดับเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ถึงแม้ว่าสินทรัพย์สภาพคล่องซึ่งประกอบด้วยเงินสด ทรัพย์สินระหว่างธนาคาร และหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 15.2% ของสินทรัพย์รวมและคิดเป็น 30.0% ของเงินฝาก ณ สิ้นปี 2564 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าวงเงินสินเชื่อที่ได้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะช่วยให้ Hattha Bank มีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ
ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับสูง
อันดับเครดิตเฉพาะของ Hattha Bank ได้รวมการประเมินความเสี่ยงของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ในประเทศกัมพูชาและความเสี่ยงของประเทศกัมพูชาของทริสเรทติ้งเข้าไว้ด้วย ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ากรอบการกำกับดูแลธนาคารในประเทศกัมพูชาอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์โดยรวมในประเทศกัมพูชามีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แม้ว่า ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วน NPL ของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 2.4% มาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้อาจปิดบังปริมาณที่แท้จริงของสินเชื่อที่อ่อนแอ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการกันสำรอง การเติบโตของสินเชื่อที่สูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบนการกำกับดูแลที่ค่อนข้างผ่อนคลาย ทำให้สินเชื่อมีการกระจุกตัวอย่างมากในบางกลุ่มธุรกิจ โดยเฉลี่ยแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ของประเทศกัมพูชามีการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมเฉลี่ยประมาณ 20% ต่อปี การกระจุกตัวของสินเชื่อในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างนั้นอยู่ที่ประมาณ 30% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ณ สิ้นปี 2563
ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารยังมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับปานกลาง โดย ROAA ของธนาคารพาณิชย์นั้นอยู่ที่ระดับ 1.8% ในปี 2563 อันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมธนาคารที่มีลักษณะกระจัดกระจาย และการมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ส่วนในด้านเงินทุนและสภาพคล่องนั้น ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเงินทุนในระบบค่อนข้างมั่นคง โดยมีสัดส่วนเงินฝากจากลูกค้าที่อยู่ในระดับประมาณ 70%-80% ของเงินทุนทั้งหมดของระบบธนาคาร ณ สิ้นปี 2563 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการไหลออกของเงินฝากในภาวะวิกฤตยังคงมีอยู่ เนื่องจากไม่มีการคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายในประเทศกัมพูชา ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอาจเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสถาบันการเงินมีทางเลือกในการระดมทุนที่จำกัด ด้วยการที่พัฒนาการของตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศของกัมพูชายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
อันดับเครดิตประเทศของประเทศกัมพูชายังคงไม่เปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตประเทศของประเทศกัมพูชาที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับไว้ที่ระดับ ?BBB+? พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจกัมพูชา และการเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งความเสี่ยงหลัก ๆ ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ปัจจัยหลักด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ได้แก่ ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับปานกลาง และกลุ่มแรงงานวัยหนุ่มสาวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้ประเทศกัมพูชายังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment ? FDI) ต่อไป ทริสเรทติ้งคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชาจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4%-5% ในช่วง
2 ปีข้างหน้าจากอุปสงค์ของภาคเอกชนและการค้าที่ปรับตัวดีขึ้น และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงหลักของประเทศกัมพูชา รวมถึงการพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติที่ค่อนข้างมาก ระบบการเงินที่มีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นส่วนประกอบที่สูง และความเสี่ยงในภาคการเงิน ประเทศกัมพูชาพึ่งพาเงินลงทุนจากภายนอกเพื่อชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากการส่งออกที่มีการกระจุกตัวและมีมูลค่าเพิ่มต่ำ ผู้ควบคุมนโยบายด้านการเงินมีทางเลือกที่จำกัด ในการกำหนดนโยบายที่มีผลต่อเศรษฐกิจที่มีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นส่วนประกอบที่สูง ซึ่งคิดเป็น 90% ของเงินหมุนเวียนทั้งหมดในระบบ ในขณะเดียวกัน ในปี 2564 สินเชื่อภาคเอกชนที่สูงเกินกว่าระดับ 150% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) ทำให้กัมพูชาเผชิญความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินค่อนข้างสูง ในขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวที่อยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1.6 พันดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ยังบ่งบอกถึงสถานะทางด้านการเงินในระดับครัวเรือนที่จะสามารถทนทานต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างจำกัดอีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับการดำเนินงานของ Hattha Bank ในระหว่างปี 2565-2567 เป็นดังนี้
? อัตราการเติบโตของสินเชื่อ: 20%-25% ต่อปี
? อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิต: 6.5%-6.8%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวม: 48%-52%
? อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวม: 1.9%-2.2%
? ต้นทุนทางเครดิต: ประมาณ 1.0%-1.3%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่า Hattha Bank จะมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้าต่อไปและยังสะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่าสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอันดับเครดิตของ Hattha Bank ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตประเทศของประเทศกัมพูชา ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศจะส่งผลให้แนวโน้มอันดับเครดิตของ Hattha Bank เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศของประเทศกัมพูชาและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตจะส่งผลให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ Hattha Bank เนื่องจากปัจจุบันอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศกัมพูชา ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะใกล้ถึงระยะปานกลาง ในขณะที่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคาร อาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางธุรกิจของธนาคารมีพัฒนาการที่มีนัยสำคัญ ซึ่งมีข้อบ่งชี้จากการที่ธนาคารมีตำแหน่งทางการตลาดที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการกระจายตัวของธุรกิจและรายได้ โดยสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน
การปรับลดอันดับเครดิตประเทศกัมพูชาอาจจะส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิตของ Hattha Bank ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากอันดับเครดิตของธนาคาร (ที่ไม่รวมความเสี่ยงจากอันดับเครดิตประเทศของประเทศกัมพูชา) ปรับลดลง 2 ขั้นหรือมากกว่าหรือมีการเปลี่ยนแปลงสถานะต่อกลุ่มของ Hattha Bank ที่มีนัยสำคัญซึ่งนำไปสู่การลดจำนวนขั้นในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตก็อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิตของ Hattha Bank ด้วย
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของประเทศ (Sovereign Credit Rating), 8 ตุลาคม 2556
รายงานที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ามรสุมวิกฤติโควิด 19: มองเศรษฐกิจกัมพูชา 2564
Hattha Bank PLC (HB)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable