ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ ?BBB-? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ ?BBB+? ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้สะท้อนถึงสินค้าที่หลากหลาย ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในธุรกิจบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม รวมทั้งภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับระดับหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้ต้องการที่อยู่อาศัยในระยะสั้นถึงปานกลางอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สินค้ามีความหลากหลายและเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัย
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสินค้าที่อยู่อาศัยที่หลากหลายทั้งในส่วนของประเภทสินค้าและระดับราคา โดยบริษัทนำเสนอสินค้าทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมสำหรับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งในส่วนของโครงการบ้านจัดสรรนั้นครอบคลุมระดับราคาตั้งแต่ต่ำไปจนถึงสูงตั้งแต่ 2 ล้านบาทจนถึง 80 ล้านบาทต่อยูนิต ในขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมก็ครอบคลุมทั้งระดับราคาต่ำจนถึงสูงซึ่งมีราคาขายอยู่ในช่วง 50,000 บาทจนถึง 600,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.)
การมีสินค้าที่หลากหลายช่วยให้บริษัทมีความคล่องตัวในการนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยในสินค้าใดสินค้าหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งได้ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีโครงการบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวน 60 โครงการและโครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 27 โครงการ (รวมโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้กิจการร่วมทุนจำนวน 6 โครงการ) ซึ่งมีมูลค่าเหลือขายรวมทั้งสิ้น 5.63 หมื่นล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) โดยโครงการบ้านจัดสรรมีสัดส่วนคิดเป็น 54% ของมูลค่าเหลือขายทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นโครงการคอนโดมิเนียม
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและคาดว่ารายได้และกำไรจะปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัยในช่วง 3 ปีข้างหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมที่ระดับประมาณ 2.5-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2564 รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2.96 หมื่นล้านบาทแม้ว่าการเปิดโครงการใหม่และยอดขายรอการรับรู้รายได้จะต่ำที่สุดในรอบทศวรรษก็ตาม ยอดขายรอการรับรู้รายได้ที่ลดลงเป็นผลมาจากกลยุทธ์ของบริษัทที่เปลี่ยนมาเน้นการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรมากกว่าโครงการคอนโดมิเนียมตั้งแต่ปี 2562
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 3.2-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปีได้ในช่วงปี 2565-2567 เนื่องจากบริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้นในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้ รายได้ของบริษัทยังจะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากยอดขายรอการรับรู้รายได้ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.75 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อีกด้วย โดยยอดขายรอการรับรู้รายได้ดังกล่าวประกอบด้วยยอดขายจากโครงการของบริษัทเองจำนวน 1.58 หมื่นล้านบาทและยอดขายจากโครงการภายใต้กิจการร่วมทุนจำนวน 1.7 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะส่งมอบโครงการซึ่งมียอดขายรอการรับรู้รายได้ที่มูลค่า 1.14 หมื่นล้านบาทให้แก่ลูกค้าในช่วงที่เหลือของปี 2565 รวมทั้งยอดขายมูลค่า 5 พันล้านบาทในปี 2566 มูลค่า 1 พันล้านบาทในปี 2567 และมูลค่า 100 ล้านบาทในปี 2568
บริษัทควรรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ในระดับที่ยอมรับได้ต่อไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นโดยเฉลี่ยจากทุกธุรกิจของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 20% ของรายได้จากการดำเนินงานรวม ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับ 7.0-7.5 พันล้านบาทต่อปีหรือคิดเป็น 21%-22% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในช่วงปี 2565-2567 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรน่าจะรักษาระดับอยู่ที่เกินกว่า 5% ตลอดช่วงเวลาประมาณการ
ความกังวลเกี่ยวกับระดับหนี้ครัวเรือนและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
ณ เดือนธันวาคม 2564 หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงที่ 14.58 ล้านล้านบาท โดยอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ระดับ 90.12% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 89.66% ณ สิ้นปี 2563 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้อัตราส่วนดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ GDP ของประเทศไทยลดลง 6.2% ในปี 2563 และเติบโตเพียง 1.6% ในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่า GDP ในปี 2565 จะเติบโตที่ระดับ 2%-3% จากปีที่แล้ว ดังนั้น ภายใต้สมมติฐานที่หนี้ครัวเรือนจะยังคงอยู่ในระดับเดิม อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จึงคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 87%-88% ในปี 2565 ทั้งนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงจะส่งผลกระทบต่อยอดขายที่อยู่อาศัยต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยในระดับราคาต่ำลงมาซึ่งมีอัตราการปฎิเสธสินเชื่อจากธนาคารที่ค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ก็ได้สร้างอุปสรรคแก่ทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อบ้านอีกด้วย โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนในการพัฒนาโครงการและต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นในขณะเดียวกันก็บั่นทอนกำลังซื้อของผู้ต้องการซื้อบ้านลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงจะส่งผลต่อราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างและค่าแรงอีกด้วย ดังนั้น อัตรากำไรของผู้ประกอบการอาจลดลงหากผู้ประกอบการไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้ซื้อบ้านได้
ภาระหนี้สินจะยังคงอยู่ในระดับสูง
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ระดับ 63%-65% ในช่วงปี 2565-2567 โดยอัตราส่วนดังกล่าวอาจไม่ปรับลดลงจากระดับปัจจุบันมากนักเนื่องจากบริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่จำนวนมากในปีนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเปิดตัวโครงการบ้านจัดสรรที่มูลค่า 3.0-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปีและโครงการคอนโดมิเนียมที่มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี (ซึ่งประกอบด้วยโครงการของบริษัทเองมูลค่า 8 พันล้านบาทและโครงการภายใต้กิจการร่วมทุนมูลค่า 3 พันล้านบาท) โดยโครงการใหม่ทั้งหมดนี้คาดว่าประมาณครึ่งหนึ่งจะเป็นโครงการในกลุ่มระดับราคาปานกลางถึงต่ำ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่างบประมาณในการจัดซื้อที่ดินสำหรับโครงการของบริษัทนั้นน่าจะอยู่ที่ระดับ 8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567 อีกด้วย
ในการนี้ ทริสเรทติ้งได้รวมเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ให้แก่โครงการที่อยู่อาศัยภายใต้กิจการร่วมทุนที่จำนวนประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีและโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมภายใต้กิจการร่วมทุนที่จำนวนอีก 200-300 ล้านบาทต่อปีไว้ในสมมติฐานของทริสเรทติ้งด้วยแล้ว ทั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกรายหนึ่งและจากการขายคลังสินค้าและโรงงานให้แก่ทรัสต์จากโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมภายใต้กิจการร่วมทุนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะช่วยลดความต้องการเงินกู้ของบริษัทลงได้ส่วนหนึ่ง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนจำนวนมากในธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรม ธุรกิจให้บริการทางการเงิน รวมถึงธุรกิจสนับสนุนอื่น ๆ แต่อย่างใด
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 66% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในช่วง 5%-10% ได้ตลอดช่วงเวลาประมาณการ ทั้งนี้ บริษัทจำเป็นจะต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินของวงเงินกู้ยืมจากธนาคารและหุ้นกู้ โดยบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ให้ต่ำกว่า 2.5 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2564 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.55 เท่า ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
สภาพคล่องค่อนข้างตึงตัวแต่น่าจะสามารถบริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะค่อนข้างตึงตัวแต่น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 3.04 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 1.07 หมื่นล้านบาท เงินกู้โครงการระยะยาวจำนวน 8.6 พันล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นจำนวน 5.9 พันล้านบาท ตั๋วแลกเงินระยะสั้นจำนวน 4 พันล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาวอาวัลค่าที่ดินจำนวน 1 พันล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าอีกจำนวน 200 ล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสำหรับเครื่องจักรในโรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) และการลงทุนอื่น ๆ ที่จำนวนประมาณ 700 ล้านบาทในปี 2565 และเงินปันผลจ่ายอีก 50% ของกำไรสุทธิของบริษัทอีกด้วย
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 2.2 พันล้านบาทและวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ซึ่งไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกและไม่สามารถยกเลิกได้อีกจำนวน 1.01 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่จำนวน 3.8 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินเปล่าที่ปลอดภาระค้ำประกันซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีจำนวน 8.5 พันล้านบาทและสินค้าที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จเหลือขายในโครงการที่ปลอดภาระหนี้ซึ่งมีมูลค่าขายอีกจำนวน 4.7 พันล้านบาทซึ่งบริษัทสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอเงินกู้จากธนาคารในกรณีที่จำเป็นได้อีกด้วย โดยปกติแล้วบริษัทจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระ ในขณะที่เงินกู้โครงการนั้นบริษัทจะชำระคืนด้วยเงินที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาวอาวัลค่าที่ดินนั้นบริษัทจะทดแทนด้วยเงินกู้โครงการระยะยาวในภายหลัง
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินรวมอยู่ที่จำนวน 6.98 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนเป็นหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและของบริษัทย่อยต่าง ๆ ที่จำนวน 1.98 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 28%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 มีดังนี้
? บริษัทจะเปิดตัวโครงการบ้านจัดสรรที่มูลค่า 3.0-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
? บริษัทจะเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ของบริษัทเองที่มูลค่า 8 พันล้านบาทต่อปีและของกิจการร่วมทุนที่มูลค่า 3 พันล้านบาทต่อปี
? งบประมาณในการซื้อที่ดินสำหรับโครงการของบริษัทเองจะอยู่ที่ 8 พันล้านบาทต่อปี
? รายได้จากการดำเนินงานรวมคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 3.2-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทจะเป็นไปตามประมาณการ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 66% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในช่วง 5%-10% เอาไว้ได้ตลอดช่วงเวลาประมาณการ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรให้อยู่ในระดับเกินกว่า 5% เอาไว้ได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเทียบเท่ากับผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่สูงกว่าซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 55% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 10%-15% ในช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SIRI229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
SIRI229B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
SIRI231A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
SIRI236A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
SIRI243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 498 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
SIRI247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
SIRI24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
SIRI24DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
SIRI24DB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
SIRI252A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
SIRI252B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
SIRI263A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+
SIRI26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+
SIRI20PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 3,000 ล้านบาท (Hybrid Debentures) BBB-
หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 2,050 ล้านบาท (Hybrid Debentures) BBB-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 4 ปี BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable