ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?A? จากเดิมที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในปี 2564 ที่มีความแข็งแกร่งซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง รวมถึงอุปสงค์ถุงมือยางจากทั่วโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยางธรรมชาติที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว และความก้าวหน้าในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในฐานะผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (Vertical Integration) และประวัติผลงานที่เข้มแข็งของคณะผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะความเป็นวงจรขึ้นลงและผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมทั้งความท้าทายต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานทางการเงินเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง
ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในปี 2564 เป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมเติบโตที่ระดับ 57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 1.19 แสนล้านบาทอันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในธุรกิจถุงมือยางที่มีอย่างต่อเนื่อง
อัตรากำไรขั้นต้น (รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31% ในปี 2564 จากระดับ 29% ในปี 2563 ซึ่งเป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้งที่ระดับ 32% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบที่สามารถจัดการได้ ในขณะเดียวกัน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 3.25 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 3.3-5.8 พันล้านบาทในปี 2561-2562 และระดับ 2.05 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 2.61 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งที่ 2.73 หมื่นล้านบาท
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 หดตัวลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลจากการที่บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจถุงมือยางที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของธุรกิจยางธรรมชาติ (การแปรรูปขั้นกลาง) ยังสามารถทดแทนสัดส่วนรายได้จากธุรกิจถุงมือยางที่ลดลงได้บางส่วน ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในไตรมาสแรกของปี 2565 ลดลง 74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 3.1 พันล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับระดับ 1.21 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2564 ในการนี้ บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 2 พันล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 10 พันล้านบาท
อุปสงค์ในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติฟื้นตัว
จากรายงานของ International Rubber Study Group (IRSG) พบว่าในช่วงระหว่างปี 2564-2565 อุปทานยางธรรมชาติค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่อุปสงค์ยางธรรมชาติทั่วโลกก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการขาดดุลเล็กน้อยของสต็อคยางธรรมชาติและทำให้ราคายางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2564-2565 โดยราคายางธรรมชาติโดยเฉลี่ยในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 17%-27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้น 3%-17% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ในธุรกิจยานยนต์
ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมยางธรรมชาติจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 โดยคาดว่าการบริโภคยางธรรมชาติจะเติบโตที่ระดับ 3% ในปี 2565 และเติบโตที่ระดับ 3.4% ในปี 2566 และที่ระดับ 2.4% ในปี 2567 ตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากการเปิดประเทศอีกครั้งและคลังยางธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงในตลาดหลัก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตยางธรรมชาติน่าจะเติบโตที่ระดับ 3.5% ในปี 2565 ที่ระดับ 3.7% ในปี 2566 และที่ระดับ 2.7% ในปี 2567
การฟื้นตัวของธุรกิจยางธรรมชาติจะช่วยทำให้บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจต่อไปแม้จะมีความท้าทายจากธุรกิจถุงมือยางที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม ทั้งนี้ การขาดแคลนผลผลิตยางธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซียอันเนื่องมาจากแพร่บาดของโรคใบร่วงในยางพารานั้นน่าจะส่งผลทำให้คำสั่งซื้อของผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่เปลี่ยนจากผู้ผลิตในประเทศอินโดนีเซียมาเป็นผู้ผลิตในประเทศไทยแทนซึ่งรวมถึงบริษัทด้วย
อุปสงค์ที่แน่นอนในธุรกิจถุงมือยาง
จากรายงานของ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) ระบุประมาณการอุปสงค์ถุงมือยางทั่วโลกว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 452 พันล้านชิ้นต่อปี ในปี 2565 จาก 160 พันล้านชิ้นต่อไป ในปี 2555 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 11% ทั้งนี้ อุปสงค์ถุงมือยางทั่วโลกคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในระหว่างปี 2565-2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจบริการและที่พัก เป็นต้น
บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตถุงมือที่ทำจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ในช่วงระหว่างปี 2565-2567 อย่างไรก็ตาม คาดว่าสัดส่วนรายได้จากถุงมือยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์จะอยู่ที่ระดับ 73%-80% และ 20%-27% ของรายได้รวมตามลำดับในระหว่างปี 2565-2567
โครงสร้างเงินทุนที่ดี
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนโดยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 22.4% ณ เดือนธันวาคม 2564 และที่ระดับ 24.2% ณ เดือนมีนาคม 2565 อันเนื่องมาจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อใช้ในการลงทุนด้านสินค้าคงคลังและใช้ชำระหนี้เงินกู้ยืมระยาวที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานของบริษัท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.84 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2565 และจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.4 พันล้านบาทถึง 1.12 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2567 ซึ่งค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินลงทุนส่วนใหญ่นั้นบริษัทจะนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางและขยายโรงงานยางแท่ง ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 27%-31% ในช่วงปี 2565-2567
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 2.7-4.4 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.2-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.11 หมื่นล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับ 35%-40% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 10-18 เท่าต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้รวมของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 3% ในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับ 10%-15% ในปี 2566-2567
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 13%-14% ในปี 2565-2567
? ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.84 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 5.4 พันล้านบาทถึง 1.12 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติและอุปสงค์ถุงมือยางที่ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ดีขึ้น
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังคงมีจำกัดในระยะใกล้หลังจากการเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 3 เท่าและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
STA234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
STA247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
STA24DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
STA253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
STA257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
STA25DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
STA264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
STA273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
STA28DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
STA293A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
STA314A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A
STA31DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A
STA323A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A
STA324A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,180 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A
STA343A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2577 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable