ทริสเรทติ้งประกาศ ?เครดิตพินิจ? แนวโน้ม ?Negative? หรือ ?ลบ? สำหรับอันดับเครดิตองค์กรระดับ ?AA? ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทและ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
?เครดิตพินิจ? แนวโน้ม ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าสถานะทางการเงินของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม (NEWCO) อาจมีแนวโน้มต่ำกว่าสถานะทางการเงินของบริษัทเอง นอกจากนี้ อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile) ที่ ?aa-? คาดว่าจะไม่สามารถนำมาใช้ได้สำหรับ NEWCO ได้ ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตขึ้น 1 ขั้นนั้นมาจากมุมมองของทริสเรทติ้งที่ว่า บริษัทเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ Telenor ASA (Telenor) แต่สำหรับ NEWCO นั้น Telenor จะมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่เพียง 27% ซึ่งหมายถึง Telenor จะไม่มีอำนาจควบคุมใน NEWCO ดังนั้น NEWCO จึงไม่มีสถานะการเป็นย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ Telenor
บริษัทและ TRUE เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทในการควบรวมกิจการดังกล่าว โดยขณะนี้การควบรวมอยู่ระหว่างรอการอนุมัติด้านกฎระเบียบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อการดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จ ทริสเรทติ้งมองว่า NEWCO จะมีธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับธุรกิจของบริษัทหรือของ TRUE เพียงบริษัทเดียว โดยคาดว่าการควบรวมจะทำให้เกิดการผสานพลังทางธุรกิจ รวมทั้งการขยายขนาดของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาในเชิงตัวเลขแล้ว การควบรวมกิจการจะทำให้ NEWCO ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดในด้านรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 TRUE มีส่วนแบ่งตลาดที่ 32% ในขณะที่บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 22%
แม้ว่า NEWCO จะมีธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของ NEWCO จะอ่อนด้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัท ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ NEWCO จะอยู่ที่ระดับ 5-5.5 เท่า หลังจากการควบรวม ซึ่งสูงกว่าของบริษัทที่ระดับ 3.8 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2565
ทริสเรทติ้งมองว่าความท้าทายในการได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับการรวมกิจการในครั้งนี้ โดยมีความเป็นไปได้ที่การรวมกิจการจะมีความล่าช้าออกไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะยกเลิกเครดิตพินิจเมื่อการรวมกิจการเสร็จสิ้น และได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมกิจการต่ออันดับเครดิตของบริษัทอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งบริษัทและ TRUE คาดว่าการรวมกิจการจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 โดยทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าของการรวมกิจการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและพิจารณาอันดับเครดิตอย่างเหมาะสม
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศที่มีคลื่นครบทุกย่านความถี่ ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เข้มแข็งและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก Telenor ซึ่งเป็นบริษัทแม่ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการสื่อสารแบบไร้สาย ตลอดจนการลงทุนจำนวนมากสำหรับค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่และการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ
บริษัทยังคงสถานะเป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ โดย บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดมีใบอนุญาตในการใช้คลื่นวิทยุครบทุกย่านความถี่ในการให้บริการสำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งประกอบด้วย ย่านความถี่ต่ำซึ่งบริษัทมีคลื่นความถี่ขนาด 700 เมกะเฮิรตซ์ (Megahertz ? MHz) และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนย่านความถี่ปานกลางนั้นบริษัทมีคลื่นความถี่ขนาด 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาด 2100 เมกะเฮิรตซ์ และขนาด 2300 เมกะเฮิรตซ์ (เป็นพันธมิตรกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)) และย่านความถี่สูงซึ่งบริษัทมีคลื่นความถี่ขนาด 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ (Gigahertz -- GHz)
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีใบอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่ที่เพียงพอในการขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น โดยคลื่นความถี่ขนาด 700 MHz สามารถครอบคลุมพื้นที่ในอาคารรวมถึงพื้นที่ห่างไกลทั่วทุกภูมิภาคได้ดี ในขณะที่คลื่นความถี่ขนาด 26 GHz จะส่งเสริมการให้บริการสำหรับการใช้งานในเทคโนโลยี 5G ที่ต้องการการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ในทันที นอกจากนี้ บริษัทยังเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูกค้าโดยเร่งเพิ่มการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับคลื่นความถี่ต่ำ (คลื่นความถี่ขนาด 700 MHz สำหรับเทคโนโลยี 4G/5G และ คลื่นความถี่ขนาด 900 MHz สำหรับเทคโนโลยี 2G/3G) ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทได้นำเสนอบริการใหม่เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งสามารถให้บริการครอบคลุมไปถึงกลุ่มลูกค้านอกเครือข่ายของบริษัท บริการใหม่นี้ได้แก่ ระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cybersecurity) เกมมิ่งซิม (Gaming SIM) และระบบการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน โดยกลยุทธ์เหล่านี้ต้องรอผลตอบรับในระยะยาวต่อไป
ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด 20% ของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมดในประเทศ และมีรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charges ? IC) คิดเป็นสัดส่วน 22% ของรายได้รวมของอุตสาหกรรม
การเพิ่มขึ้นของลูกค้ายังคงเป็นความท้าทาย
ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการของบริษัทมีจำนวนต่ำกว่า 20 ล้านราย แต่ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งมองว่าการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางข้ามแดนน่าจะช่วยขยายจำนวนผู้ใช้บริการของบริษัท เนื่องจากผู้ใช้บริการที่เป็นนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของบริษัท อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งมองว่าการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากเนื่องจากมีการแข่งขันสูง
การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
อุตสาหกรรมการสื่อสารแบบไร้สายของไทยต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดใหญ่ที่ยืดเยื้อส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดต่ำลงอีกทั้งการแข่งขันก็ทวีความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าในระบบเติมเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างก็พยายามนำเสนอบริการใหม่ ๆ และการส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจเพื่อแย่งชิงลูกค้าจากคู่แข่ง แม้ว่าจำนวนลูกค้าโดยรวมของทั้งอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวในปี 2564 แต่ รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (Average Revenue per User -- ARPU) ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้มูลค่ารวมของตลาดลดลง 1.3% มาอยู่ที่ 2.53 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยที่ระดับ 2% ต่อปีในช่วงปี 2561-2562 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2565 มูลค่าตลาดยังคงหดตัวที่ระดับ 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่ดี
อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นหลัก ทั้งนี้บริษัทมี EBITDA อยู่ในระดับน่าพอใจตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาโดยอยู่ที่ระดับ 2.9-3.1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยสาเหตุหลักมาจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ในขณะที่รายได้จากการให้บริการลดลง
ในประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งจะยังไม่พิจารณาถึงแผนการรวมกิจการแต่จะพิจารณาธุรกิจของบริษัทให้เป็นไปตามปกติเท่านั้น โดย ทริสเรทติ้งคาดว่าภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 1%-2% ต่อปี โดยจะมี EBITDA ที่แข็งแกร่งราว 3.0-3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
การสนับสนุนจาก Telenor
Telenor เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทตั้งแต่ปี 2554 ณ เดือนมีนาคม 2565 Telenor มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 46.7% Telenor ได้ให้การสนับสนุนแก่บริษัทในหลายด้าน ทั้งในด้านการบริหาร การให้ความรู้ทางด้านเทคนิค และการต่อรองกับผู้ขาย การที่บริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของ Telenor
ในปี 2564 สัดส่วนรายได้และ EBITDA ของบริษัทใน Telenor อยู่ที่ประมาณ 20% และ 16% ตามลำดับ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ในจำนวน 8 ประเทศที่ Telenor ได้เข้าไปดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากการประเมินความสำคัญของบริษัทต่อ Telenor ทริสเรทติ้งมองว่า บริษัทมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธุรกิจของ Telenor และให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท โดยมองว่า Telenor จะให้การสนับสนุนทางการเงินเป็นกรณีพิเศษในยามที่จำเป็น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าการสนับสนุนจาก Telenor จะยังคงอยู่ในระดับเดิมจนกว่าการรวมกิจการจะสิ้นสุดลง
ภาระหนี้คาดว่าจะลดลง
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงในช่วงปีประมาณการ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 3 เท่าในระหว่างปี 2565-2567 จากระดับประมาณ 4 เท่าในปี 2563-2564 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะเพียงพอสำหรับการขยายโครงข่ายและชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ (รวมทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท) รวมถึงการจ่ายคืนเงินกู้ ดังนั้น หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิคาดว่าจะลดลงจาก 1.1 แสนล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2565 มาอยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านบาทในปี 2567
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 5.6 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท รวมถึงเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท แหล่งเงินทุนของบริษัทเหล่านี้คาดว่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้ระยะยาวที่ถึงกำหนด การชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ และการลงทุนของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจะทยอยเพิ่มขึ้น 1%-2% ต่อปี ในระหว่างปี 2565-2567
? อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ในช่วง 38% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า
? บริษัทจะลงทุนปีละประมาณ 1.8-2.0 หมื่นล้านบาท
? จะไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ตลอดระยะเวลาประมาณการ
? อัตราการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 100%
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
หมายเหตุ ?เครดิตพินิจ?
?เครดิตพินิจ? เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการทบทวนผลอันดับเครดิตของตราสารหนี้หรือองค์กรที่ทริสเรทติ้งได้ประกาศผลอันดับเครดิตไปแล้ว ซึ่งโดยปกติการทบทวนดังกล่าวจะกระทำตลอดอายุของตราสารหรือสัญญาและสรุปผลเมื่อครบรอบปี ในระหว่างเวลานั้นหากมีกรณีที่มีเหตุการณ์สำคัญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของหน่วยงานแต่ข้อมูลผลกระทบยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาทบทวน ทริสเรทติ้งจะประกาศ "เครดิตพินิจ" เพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบถึงผลดังกล่าวโดยมีแนวโน้ม 3 รูปแบบ คือ ?Positive? (บวก) ?Negative? (ลบ) และ ?Developing? (ยังไม่ชัดเจน) ตามลักษณะของผลกระทบนั้น ๆ ซึ่งจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงผลอันดับเครดิตแต่อย่างใด
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
แนวโน้มเครดิตพินิจ: Negative