ทริสเรทติ้งประกาศ ?เครดิตพินิจ? แนวโน้ม ?Negative? หรือ ?ลบ? สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ที่ระดับ ?AA? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการเป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ ?AA? และมี ?เครดิตพินิจ? แนวโน้ม ?Negative? หรือ ?ลบ?)
การประกาศเครดิตพินิจนี้สืบเนื่องมาจากการควบรวมกิจการระหว่าง DTAC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั้งสองบริษัทเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น โดยขณะนี้การควบรวมอยู่ระหว่างรอการอนุมัติด้านกฎระเบียบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อการดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จ
เมื่อการรวมกิจการได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะกลายมาเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม (NEWCO) ส่งผลให้อันดับเครดิตของบริษัทจะเท่ากับอันดับเครดิตของ NEWCO โดยแนวโน้ม ?Negative? หรือ ?ลบ? นั้นสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่ว่า สถานะทางเครดิตของ NEWCO จะด้อยกว่า DTAC
ทริสเรทติ้งมองว่า NEWCO จะมีธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับธุรกิจของ DTAC หรือ TRUE เพียงบริษัทเดียว โดยคาดว่าการควบรวมจะทำให้เกิดการผสานพลังทางธุรกิจ รวมทั้งการขยายขนาดของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาในเชิงตัวเลขแล้ว การควบรวมกิจการจะทำให้ NEWCO ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดในด้านรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 TRUE มีส่วนแบ่งตลาดที่ 32% ในขณะที่ DTAC มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 22%
แม้ว่า NEWCO จะมีธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของ NEWCO จะอ่อนด้อยกว่า DTAC ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ NEWCO จะอยู่ที่ระดับ 5-5.5 เท่า ซึ่งสูงกว่าของ DTAC ที่ระดับ 3.8 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2565
นอกจากนี้ อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile) ของ DTAC ที่ ?aa-? คาดว่าจะไม่สามารถนำมาใช้ได้สำหรับ NEWCO ได้ ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตขึ้น 1 ขั้นนั้นมาจากมุมมองของทริสเรทติ้งที่ว่า DTAC เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ Telenor ASA (Telenor) อย่างไรก็ตาม สำหรับ NEWCO นั้น Telenor จะมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่เพียง 27% ซึ่งหมายถึง Telenor จะไม่มีอำนาจควบคุมใน NEWCO ดังนั้น NEWCO จึงไม่มีสถานะการเป็นย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ Telenor
ทริสเรทติ้งมองว่าความท้าทายในการได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับการรวมกิจการในครั้งนี้ โดยมีความเป็นไปได้ที่การรวมกิจการจะมีความล่าช้าออกไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะยกเลิกเครดิตพินิจเมื่อการรวมกิจการเสร็จสิ้นและได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมกิจการต่ออันดับเครดิตของบริษัทอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งนี้ DTAC และ TRUE คาดว่าการรวมกิจการจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 โดยทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าของการรวมกิจการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและพิจารณาอันดับเครดิตอย่างเหมาะสม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยหลักของ DTAC
บริษัทได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยธุรกิจของ DTAC ในการดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 DTAC เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท การที่บริษัทและ DTAC ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่มีผู้บริหารชุดเดียวกันทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งทางด้านการดำเนินงานและกลยุทธ์ ทั้งนี้ โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท
DTAC และบริษัทให้บริการลูกค้ากลุ่มเดียวกัน โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีฐานลูกค้าจำนวน 19.9 ล้านราย นอกจากนี้บริษัทยังมีส่วนสำคัญในการสร้างผลกำไรให้แก่ DTAC โดยในปี 2564 บริษัทสร้างรายได้และ EBITDA ให้แก่ DTAC ในสัดส่วน 91% และ 73% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้ง บริษัทจึงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ DTAC และมีอันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตของ DTAC
DTAC ยังคงเป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 3
DTAC ยังคงเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 20% ของจำนวนผู้ใช้บริการในประเทศไทยทั้งหมด ณ เดือนมีนาคม 2565 ทั้งนี้ DTAC มีรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charges ? IC) ในสัดส่วนประมาณ 22% ของรายได้รวมของทั้งอุตสาหกรรม
DTAC ดำเนินงานผ่านบริษัท โดยให้บริษัทเป็นเจ้าของใบอนุญาตในการใช้คลื่นวิทยุครบทุกย่านความถี่ในการให้บริการสำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งประกอบด้วย ย่านความถี่ต่ำซึ่งบริษัทมีคลื่นความถี่ขนาด 700 เมกะเฮิรตซ์ (Megahertz ? MHz) และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนย่านความถี่ปานกลางนั้นบริษัทมีคลื่นความถี่ขนาด 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาด 2100 เมกะเฮิรตซ์ และขนาด 2300 เมกะเฮิรตซ์ (เป็นพันธมิตรกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)) และย่านความถี่สูงซึ่งบริษัทมีคลื่นความถี่ขนาด 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ (Gigahertz -- GHz)
ทริสเรทติ้งมองว่าDTAC มีใบอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่ที่เพียงพอในการขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น โดยคลื่นความถี่ขนาด 700 MHz สามารถครอบคลุมพื้นที่ในอาคารรวมถึงพื้นที่ห่างไกลทั่วทุกภูมิภาคได้ดี ในขณะที่คลื่นความถี่ขนาด 26 GHz จะส่งเสริมการให้บริการสำหรับการใช้งานในเทคโนโลยี 5G ที่ต้องการการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ในทันที นอกจากนี้ DTAC ยังเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูกค้าโดยเร่งเพิ่มการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับคลื่นความถี่ต่ำ (คลื่นความถี่ขนาด 700 MHz สำหรับเทคโนโลยี 4G/5G และ คลื่นความถี่ขนาด 900 MHz สำหรับเทคโนโลยี 2G/3G) ทั้งนี้ ล่าสุด DTAC ยังได้เสนอบริการใหม่เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งสามารถให้บริการครอบคลุมไปถึงกลุ่มลูกค้านอกเครือข่ายของ DTAC บริการใหม่นี้ได้แก่ ระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cybersecurity) เกมมิ่งซิม (Gaming SIM) และ ระบบการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน โดยกลยุทธ์เหล่านี้ต้องรอผลตอบรับในระยะยาวต่อไป
การเพิ่มขึ้นของลูกค้ายังคงเป็นความท้าทาย
ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการของ DTAC มีจำนวนต่ำกว่า 20 ล้านราย แต่ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งมองว่าการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางข้ามแดนน่าจะช่วยขยายจำนวนผู้ใช้บริการของ DTAC เนื่องจากผู้ใช้บริการที่เป็นนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญ อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งมองว่าการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของ DTAC ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากเนื่องจากมีการแข่งขันสูง
การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
อุตสาหกรรมการสื่อสารแบบไร้สายของไทยต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดใหญ่ที่ยืดเยื้อส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดต่ำลงอีกทั้งการแข่งขันก็ทวีความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าในระบบเติมเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างก็พยายามนำเสนอบริการใหม่ ๆ และการส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจเพื่อแย่งชิงลูกค้าจากคู่แข่ง แม้ว่าจำนวนลูกค้าโดยรวมของทั้งอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวในปี 2564 แต่ รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (Average Revenue per User -- ARPU) ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้มูลค่ารวมของตลาดลดลง 1.3% มาอยู่ที่ 2.53 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยที่ระดับ 2% ต่อปีในช่วงปี 2561-2562 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2565 มูลค่าตลาดยังคงหดตัวที่ระดับ 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ภาระหนี้คาดว่าจะลดลง
ในประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งจะยังไม่พิจารณาถึงแผนการรวมกิจการ แต่จะพิจารณาธุรกิจของบริษัทให้เป็นไปตามปกติเท่านั้น โดย
ทริสเรทติ้งคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 จะช่วยให้รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น 1% ต่อปี โดยจะมี EBITDA ที่แข็งแกร่งราว 2.2-2.3 หมื่นล้านบาทต่อปีได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA margin) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30% รวมทั้งเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ระหว่าง 1.9-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการ
ณ 31 ธันวาคม 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 6 เท่า ภาระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะทยอยลดลงหลังจากที่บริษัทสร้างรายได้จากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ขยายอย่างต่อเนื่องและคลื่นความถี่ที่ประมูลมาได้ บริษัทมีแผนในการลงทุนในการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี และชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่จำนวน 5.6 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 โดยคลื่นความถี่ในปัจจุบันคาดว่าจะเพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มในส่วนของคลื่นความถี่ใหม่ในช่วงปีประมาณการ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อEBITDA ของบริษัทคาดว่าจะทยอยลดลงมาอยู่ที่ 5 เท่าภายในปี 2567
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก DTAC และบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอ บริษัทมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.9 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ณ ปี 2564 รวมถึงเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.9-2.0 หมื่นล้านบาท แหล่งเงินทุนของบริษัทเหล่านี้คาดว่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้ระยะยาวที่ครบกำหนด การชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ และการลงทุนของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
การสนับสนุนจาก Telenor
ทริสเรทติ้งมองว่า DTAC เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ Telenor โดยดูจากความเชื่อมโยงและสัดส่วนรายได้ที่ DTAC มีต่อ Telenor ดังนั้น อันดับเครดิตของ DTAC จึงได้รวมความคาดหวังที่ DTAC จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินเป็นกรณีพิเศษจาก Telenor ในยามที่จำเป็นไว้ด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการสนับสนุนที่ Telenor ให้แก่บริษัทจะอยู่ในระดับเดียวกันกับการสนับสนุนที่ Telenor มีต่อ DTAC เนื่องจากการดำเนินงานและทรัพย์สินหลักรวมถึงใบอนุญาตคลื่นความถี่อยู่ที่บริษัท
การประกาศเครดิตพินิจ ?Negative? หรือ ?ลบ? นี้สะท้อนถึงอันดับเครดิตที่อาจจะเปลี่ยนแปลงจากการควบรวมกิจการระหว่าง DTAC และ TRUEตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าการสนับสนุนจาก Telenor ที่ให้แก่ DTAC และบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับเดิมจนกว่าการควบรวมกิจการจะแล้วเสร็จ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? บริษัทยังเป็นบริษัทย่อยหลักของ DTAC จนกว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้น
? เมื่อการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเป็นบริษัทย่อยหลักของ NEWCO
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
หมายเหตุ ?เครดิตพินิจ?
?เครดิตพินิจ? เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการทบทวนผลอันดับเครดิตของตราสารหนี้หรือองค์กรที่ทริสเรทติ้งได้ประกาศผลอันดับเครดิตไปแล้ว ซึ่งโดยปกติการทบทวนดังกล่าวจะกระทำตลอดอายุของตราสารหรือสัญญาและสรุปผลเมื่อครบรอบปี ในระหว่างเวลานั้นหากมีกรณีที่มีเหตุการณ์สำคัญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของหน่วยงานแต่ข้อมูลผลกระทบยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาทบทวน ทริสเรทติ้งจะประกาศ "เครดิตพินิจ" เพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบถึงผลดังกล่าวโดยมีแนวโน้ม 3 รูปแบบ คือ ?Positive? (บวก) ?Negative? (ลบ) และ ?Developing? (ยังไม่ชัดเจน) ตามลักษณะของผลกระทบนั้น ๆ ซึ่งจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงผลอันดับเครดิตแต่อย่างใด
บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
DTN227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA
DTN237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA
DTN239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA
DTN244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
DTN247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
DTN249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
DTN257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA
DTN259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA
DTN267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA
DTN267B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA
DTN269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA
DTN274A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA
DTN279A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA
DTN279B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA
DTN289A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA
DTN28DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA
DTN299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA
DTN309A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA
DTN319A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 AA
แนวโน้มเครดิตพินิจ: Negative