ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? โดยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากโอกาสในการลงทุนในสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าใหม่ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทย่อยหลักคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทซึ่งเป็นผลมาจากการมีรายได้ค่าบริการที่สม่ำเสมอจากการให้บริการเดินรถไฟฟ้าตลอดจนกระแสเงินสดรับจำนวนมากจากการลงทุนในสัดส่วน 33.33% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) และการมีสถานะที่มั่นคงในธุรกิจสื่อโฆษณา อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดบางส่วนจากภาระหนี้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อใช้ลงทุนในหลายโครงการ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นและคาดการณ์ได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกระแสเงินสดจากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปิดให้บริการ ?รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว? ทั้ง 2 เส้นทาง บริษัทให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าผ่านบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2565 (1 เมษายน ? 31 ธันวาคม 2564) รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าอยู่ที่ 4.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.8 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีบัญชี 2564 จากการเปิดให้บริการเต็มเส้นทางของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว เนื่องจากอัตราค่าบริการส่วนใหญ่ถูกกำหนดแบบตายตัวไว้แล้วตามสัญญาจึงทำให้รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูงและไม่มีความเสี่ยงต่อจำนวนผู้โดยสาร ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจะ ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7 พันล้านบาทในปีบัญชี 2567
ปัจจุบันสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาและเห็นชอบจากรัฐบาล โดยตามงบการเงิน ณ เดือนธันวาคม 2564 นั้น บริษัทยังไม่ได้รับค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทและค่างานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลสำหรับโครงการรถไฟฟ้าอีกจำนวนประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท การชำระค่าจ้างและค่างานดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของภาครัฐว่าจะให้สัญญาสัมปทานใหม่แก่บริษัทเพื่อแลกกับภาระหนี้ดังกล่าวหรือจะยังคงดำเนินไปตามสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงฉบับปัจจุบันและจ่ายคืนภาระหนี้ดังกล่าวให้แก่บริษัท
รถไฟฟ้ารางเดี่ยว 2 โครงการจะเปิดให้บริการเต็มเส้นทางในปี 2566
บริษัทมีสัดส่วนในการถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทร่วมทุน 2 แห่งกับผู้ร่วมทุน 2 รายในการลงทุนและให้บริการโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว 2 โครงการภายใต้สัญญาสัมปทานรูปแบบเอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ (Public Private Partnership-Net Cost -- PPP-Net Cost) ที่ลงนามในปี 2560 ซึ่งได้แก่ ?โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู? และ ?โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง? ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาสัมปทานดังกล่าว บริษัทร่วมทุนจะลงทุนในส่วนของงานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลสำหรับรถไฟฟ้ารางเดี่ยวเพื่อแลกกับรายได้จากผู้โดยสารรวมถึงรายได้จากสื่อโฆษณาและการพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยคาดว่าโครงการทั้งสองจะเปิดให้บริการเต็มเส้นทางได้ในปี 2566 ซึ่งเลื่อนมาจากปี 2565 เนื่องจากการก่อสร้างล่าช้าจากมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูจะสามารถเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนได้ในช่วงปลายปี 2565 ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารถไฟฟ้ารางเดี่ยวแต่ละสายจะมีรายได้ประมาณ 1-1.2 พันล้านบาทในช่วงปีบัญชี 2567
กระแสเงินสดของกองทุนรวม BTSGIF คาดว่าจะฟื้นตัว
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของกองทุนรวม BTSGIF ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคโควิด 19 โดยในช่วงปีบัญชี 2564-2565 จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าลดลงอย่างมากจากมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้กระแสเงินสดจากกองทุนรวม BTSGIF ลดลงอย่างมากจาก 1.6 พันล้านบาทในปีบัญชี 2563 เป็น 750 ล้านบาทในปีบัญชี 2564 และ 95 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2565 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของกองทุนรวม BTSGIF จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากภาครัฐได้ดำเนินนโยบายในการกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติและอยู่ร่วมกับโรคโควิด 19 นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ไม่มีความรุนแรงมากนั้นเริ่มสามารถควบคุมได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากกองทุนรวม BTSGIF จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 1.3 พันล้านบาทในปีบัญชี 2567 ตามการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสาร
ต้องการเงินลงทุนจำนวนมากหากโครงการใหม่ได้รับความเห็นชอบ
บริษัทจำเป็นจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อลงทุนในสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับกรุงเทพมหานครจำนวน 2 สัญญาเพื่อให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยาย อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าไปเป็นสัญญาสัมปทานใหม่และบริษัทก็มีความตั้งใจที่จะลงทุนในสัญญาสัมปทานใหม่นี้ด้วย ทั้งนี้ บริษัทได้มีการตกลงเงื่อนไขและข้อกำหนดกับกรุงเทพมหานครแล้วและขณะนี้อยู่ในระหว่างรอความเห็นชอบจากรัฐบาล
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทและผู้ร่วมทุนได้สัญญาสัมปทาน PPP-Net Cost อายุ 50 ปีสำหรับ ?โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา? และได้สัญญาดำเนินงานและซ่อมบำรุงอายุ 30 ปีสำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 โครงการ ซึ่งได้แก่เส้นทาง ?บางปะอิน ? นครราชสีมา? (M6) และ ?สายบางใหญ่ ? กาญจนบุรี? (M81) โดยบริษัทยังเป็นผู้พัฒนาโครงการ mixed-use ?หมอชิตแลนด์? ซึ่งเป็นการก่อสร้างโครงการอาคารสำนักงานแฝดและพื้นที่ค้าปลีกเชิงพาณิชย์ ซึ่งทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะต้องจัดหาเงินทุนจำนวนประมาณ 4.06 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุนในโครงการเหล่านี้
รายได้ขยายตัวขึ้นจากการเปลี่ยนจากธุรกิจสื่อโฆษณาเป็นธุรกิจบริการทางการตลาดแบบผสมผสาน (Mix Business)
บริษัทเปลี่ยนจากธุรกิจสื่อโฆษณาเป็นการให้บริการทางการตลาดในหลากหลายช่องทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Offline to Online ของบริษัท โดยบริษัทดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท วี จี ไอ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณาในขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพียงรายเดียว โดยบริษัท วี จี ไอ ยังได้ขยายธุรกิจไปสู่สื่อโฆษณานอกบ้านในรูปแบบอื่น ๆ โดยเข้าไปลงทุนใน บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ กลยุทธ์ Offline to Online ยังรวมถึงการร่วมมือของช่องทาง Offline อื่น ๆ ผ่านการลงทุนของบริษัท วี จี ไอ ในหุ้นส่วนทางธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งให้บริการในหลากหลายช่องทาง การลงทุนดังกล่าวประกอบด้วยการลงทุน 18% ในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด 51% ในบริษัท แฟนสลิงค์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด 15% ในบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) และ มีความเป็นไปได้ในการลงทุน 60% ในบริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ การให้บริการ Offline to Online เป็นการรวมช่องทางการทำการตลาดของบริษัทในทุก ๆ ช่องทางทั้ง Offline และ Online มีจุดประสงค์เพื่อให้บริการทางการตลาดแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจรจากการเข้าถึงช่องทางการทำการตลาดของบริษัทในทุก ๆ ช่องทางเพื่อ โฆษณา จำหน่ายสินค้า หรือให้บริการแก่ผู้บริโภค โดยการขยายช่องทางการตลาดจะช่วยเพิ่มฐานรายได้และยังผสานประโยชน์ทั้งในด้านการจัดจำหน่ายร่วมกันและการรวมฐานข้อมูลของผู้บริโภค ทั้งนี้ ความสำเร็จของกลยุทธ์ Offline to Online ยังคงต้องติดตามต่อไป
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2565 รายได้จาก Mix Business ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 57% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากการรวมรายได้จากบริษัทแฟนสลิงค์ คอมมูนิเคชั่น แม้ว่ารายได้จากธุรกิจสื่อจะลดลง 9% จากอุปสงค์ที่ลดลงของผู้ต้องการโฆษณาซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จาก Mix Business จะฟื้นตัวประมาณ 16% ในปีบัญชี 2566 และ 27% ในปีบัญชี 2567 ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโฆษณาจากการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสาร นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะได้รับสิทธิ์ในการบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีใหม่ ๆ ของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากบริษัทแฟนสลิงค์ คอมมูนิเคชั่นจะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปีในช่วงประมาณการ
ภาระหนี้มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น
ภาระหนี้ของบริษัทมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในกรณีที่มีการเปลี่ยนสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าไปเป็นสัญญาสัมปทานใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น เนื่องจากสัญญาสัมปทานใหม่ยังคงรอความเห็นชอบจากรัฐบาล ดังนั้น สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งจึงไม่ได้รวมผลกระทบจากโอกาสในการลงทุนใหม่นี้ไว้ด้วย
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2565 อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 12.2 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลังแล้ว) เมื่อเทียบกับระดับ 9.7 เท่าในปีบัญชี 2564 ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงเป็นประมาณ 8 เท่าในช่วงปีบัญชี 2566-2567 หากกรุงเทพมหานครชำระค่างานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลสำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือรวมถึงค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าในแก่บริษัท ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงความยืดหยุ่นของบริษัทในการจำหน่ายเงินลงทุนของบริษัทประมาณ 9 พันล้านบาทและความตั้งใจของบริษัทในการที่จะรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้ต่ำกว่า 8 เท่าซึ่งเป็นเกณฑ์ในการปรับลดอันดับเครดิต
ก่อนหน้านี้ ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมภาระหนี้ทั้งหมดสำหรับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายสีชมพูและสายสีเหลืองเป็นภาระหนี้ของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งได้ปรับมุมมองดังกล่าวให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของทริสเรทติ้งมากยิ่งขึ้นโดยการไม่รวมภาระหนี้ที่ใช้ในการลงทุนงานโยธา และรวมภาระหนี้ที่ใช้ในการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเป็นภาระหนี้ของบริษัท โดยเหตุผลที่ยังคงไม่รวมภาระหนี้งานโยธาเป็นภาระหนี้ของบริษัทเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุนงานโยธารวมถึงเงินกู้สำหรับงานโยธาจะได้รับชำระคืนทั้งหมดจากภาครัฐ ณ เดือนธันวาคม 2564 ภาระหนี้ทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายสีชมพูและสายสีเหลืองอยู่ที่ 5.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยภาระหนี้ที่ใช้ในการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลจำนวน 1.95 หมื่นล้านบาทส่วนที่เหลือเป็นภาระหนี้จากงานโยธา
สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 3.9 พันล้านบาทและมีเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.9 พันล้านบาท บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกจำนวน 2.45 หมื่นล้านบาทด้วย โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 3.6 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าแหล่งเงินทุนดังกล่าวจะเพียงพอต่อการชำระหนี้ของบริษัทซึ่งประกอบด้วยภาระในการชำระหนี้ระยะยาวในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 4.5 พันล้านบาทและหนี้ระยะสั้นจำนวน 3.01 หมื่นล้านบาท ในปีบัญชี 2566 บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้โครงการ
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะไม่มีปัญหาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ในระยะ 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า โดยข้อกำหนดทางการเงินมีเงื่อนไขให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.45 เท่า
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้สินรวมอยู่ที่จำนวน 9.1 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนที่จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนเป็นหนี้ที่ไม่มีการค้ำประกันในบริษัทย่อย โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมที่ระดับ 27.5%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในระหว่างปีบัญชี 2565-2567 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทดังต่อไปนี้
? รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7 พันล้านบาทในปีบัญชี 2567 จากประมาณ 5.3 พันล้านบาทในปีบัญชี 2564
? บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในปีบัญชี 2567 ที่ประมาณ 1-1.2 พันล้านบาทสำหรับแต่ละเส้นทาง
? รายได้จาก Mix Business จะเพิ่มขึ้น 59% ในปีบัญชี 2565 และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 16% ในปีบัญชี 2566 และ 27% ในปีบัญชี 2567
? บริษัทจะรับรู้รายได้ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทจากงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และรายได้จากการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 55%-75%
? งบลงทุนรวมทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ราว ๆ 3.5 หมื่นล้านบาทในช่วงปีประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ภาระหนี้ทางการเงินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้สถานะเครดิตของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจนอยู่ในระดับที่ไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านั้นยังไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจะปรับเป็น ?คงที่? ได้ หากภาระหนี้ของบริษัทปรับลดลงอย่างมากในกรณีที่กรุงเทพมหาครชำระคืนหนี้ทั้งหมดให้บริษัทและธุรกิจสื่อของบริษัทฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานานซึ่งอาจเป็นผลมาจากการลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากหรือผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BTSG22NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
BTSG22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
BTSG239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,290 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
BTSG23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
BTSG245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
BTSG247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
BTSG255A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
BTSG25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
BTSG265A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
BTSG267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
BTSG275A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
BTSG27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
BTSG27DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
BTSG289A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,660 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
BTSG295A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
BTSG295B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
BTSG29DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
BTSG30NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A
BTSG317A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A
BTSG325A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative