ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่ยาวนานในธุรกิจค้าถ่านหินในประเทศไทย ตลอดจนความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในธุรกิจค้าถ่านหินและความสามารถในการบริหารจัดการงานด้านโลจิสติกส์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งด้านเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนจากผลกำไรที่ผันผวน ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า รวมถึงความกังวลต่อความต้องการใช้ถ่านหินในระยะยาวจากแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ทั่วโลก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีสถานะธุรกิจที่ยาวนานในธุรกิจค้าถ่านหิน
บริษัทเป็นผู้ค้าถ่านหินขนาดกลางในประเทศไทย โดยบริษัทนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย รัสเซีย และออสเตรเลียเพื่อมาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นหลัก บริษัทอยู่ในธุรกิจซื้อขายถ่านหินมานานกว่า 18 ปีและประสบความสำเร็จในการสร้างฐานลูกค้าในหลายอุตสาหกรรม
สถานะทางการตลาดของบริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากฐานลูกค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ค้าถ่านหินในประเทศไทยมีจำนวนลดลง ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทซึ่งเปรียบเทียบจากยอดขายในประเทศไทยของบริษัทต่อยอดนำเข้าถ่านหินทั้งหมดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 19.8% ในปี 2564 จากระดับ 9.4% ในปี 2560 บริษัทมียอดขายถ่านหินในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 4.77 ล้านตัน จาก 2.1 ล้านตันในช่วงเวลาดังกล่าว
มีความได้เปรียบจากสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ติดกับแม่น้ำและใกล้แหล่งลูกค้า
บริษัทมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญในการประกอบธุรกิจค้าถ่านหินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจของบริษัท โดยสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญ ได้แก่ คลังสินค้าขนาดใหญ่ที่สามารถจัดเก็บถ่านหินได้ 1 ล้านตัน ท่าเรือสำหรับลำเลียงถ่านหินที่บริษัทเป็นเจ้าของจำนวน 3 แห่ง คลังเก็บสินค้าจำนวน 2 แห่ง โรงคัดแยกถ่านหินจำนวน 5 โรง รวมถึงกองรถบรรทุกและกองเรือเล็กที่ใช้บรรทุกถ่านหิน ทริสเรทติ้งมองว่าทรัพย์สินเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถรองรับคำสั่งซื้อที่มีปริมาณมาก และมีความสามารถในการจำหน่ายสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงงานคัดแยกถ่านหินซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้ารายย่อยได้อีกด้วย เนื่องจากลูกค้าแต่ละรายในกลุ่มนี้มักมีความต้องการถ่านหินที่มีขนาดแตกต่างกันไปตามประเภทของเครื่องจักร
ทำเลที่ตั้งของบริษัทซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสักในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นเอื้อประโยชน์ต่อการค้าถ่านหิน โดยช่วยให้บริษัทสามารถนำเข้าถ่านหินผ่านการขนส่งทางเรือซึ่งมีค่าขนส่งถูกที่สุดได้ นอกจากนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยายังอยู่ใกล้กับจังหวัดสระบุรีซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ถ่านหินมากที่สุดด้วยเช่นกัน
มีความสามารถในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์
ทริสเรทติ้งมองว่าประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ของบริษัทเป็นปัจจัยด้านบวกที่ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบด้านต้นทุนเหนือผู้ค้าถ่านหินรายอื่น ๆ ในประเทศ ทั้งนี้ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจค้าถ่านหินนั้นค่อนข้างสูงโดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20%-25% ของต้นทุนทั้งหมด
บริษัทมีทีมบุคลากรที่มีประสบการณ์ในด้านการเช่าเรือและการขนส่งซึ่งทำหน้าที่ดูแลห่วงโซ่อุปทานตลอดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขนส่งถ่านหินด้วยเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองจากเหมืองถ่านหินในต่างประเทศไปยังเกาะสีชัง การขนส่งด้วยเรือเล็กจากเกาะสีชังไปยังท่าเรือในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการขนส่งทางบกไปยังโรงงานของลูกค้า เป็นต้น ในปี 2564 ความสามารถด้านโลจิสติกส์ของบริษัทนั้นเพิ่มมากขึ้นหลังจากบริษัทได้เพิ่มจำนวนรถบรรทุกอีกเท่าตัว และเริ่มนำเข้าถ่านหินโดยใช้เรือ Capesize ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเรือประเภทนี้
ผลกำไรผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาถ่านหิน
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีแนวโน้มที่จะผันผวนไปในทิศทางเดียวกับราคาถ่านหินในตลาดโลก โดยความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาถ่านหินจะส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดทุนจากสินค้าคงคลัง และอาจมีผลกำไรที่ลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อราคาถ่านหินตกต่ำลงได้ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทแกว่งตัวอยู่ในช่วง 5%-13% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็มองว่าผลกระทบจากความเสี่ยงด้านราคาถูกลดทอนลงบางส่วนจากการเร่งหมุนเวียนสินค้าคงคลังของบริษัท และการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายแบบ Back-to-Back กับลูกค้ารายใหญ่ โดยรายได้จากคำสั่งซื้อลักษณะนี้มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 40%-50% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในกลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรม
โครงสร้างรายได้ของบริษัทมีความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายหนึ่ง ทั้งนี้ รายได้ประมาณ 40%-50% ของบริษัทนั้นมาจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศไทยในขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็น 25%-30% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท
ความต้องการใช้ถ่านหินยังอยู่ภายใต้ความกดดันจากแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอนจากเชื้อเพลิง
การเติบโตของธุรกิจถ่านหินในระยะยาวยังคงถูกบดบังด้วยแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอนจากเชื้อเพลิงทั่วโลก โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินยังคงได้รับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น นโยบายการลดก๊าซคาร์บอนของรัฐบาล และการจำกัดการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ราคาถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ใช้ถ่านหินเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงทางเลือก หรือพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ แผนการลดใช้ถ่านหินของผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ ๆ ของประเทศก็สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยอดขายถ่านหินในประเทศไทยจะลดลงด้วยเช่นกัน
การกระจายสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และที่ธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน
บริษัทดำเนินนโยบายที่จะเพิ่มความหลากหลายของแหล่งรายได้เพื่อลดการพึ่งพาธุรกิจค้าถ่านหิน โดยบริษัทได้พัฒนากองรถของตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายถ่านหินตั้งแต่ปี 2560 และใช้รองรับธุรกิจการให้บริการด้านโลจิสติกส์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ถ่านหินด้วย ในปี 2564 บริษัทได้เพิ่มจำนวนรถบรรทุกเป็นเท่าตัว โดยเพิ่มขึ้นเป็น 101 คันจาก 48 ในปี 2563 และในขณะเดียวกันก็เพิ่มจำนวนท่าเรือและคลังสินค้าด้วยการซื้อสิทธิการเช่าในศูนย์ธุรกิจการเกษตร ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะซื้อรถบรรทุกใหม่อีก 10 คันในปี 2565 และอาจจะซื้อเพิ่มอีก 50-100 คันต่อปีในปีต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ บริษัทได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ 2 แห่ง คือ บริษัท เอจีอี อกริ เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท เอจีอี คอมมอดิตี้ เทรดดิ้ง เพื่อประกอบธุรกิจค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมอื่น เช่น มันสำปะหลัง แร่ และปูนเม็ดในอนาคต ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับถ่านหินดังกล่าวน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปลายปี 2565
ในปี 2564 รายได้จากการให้บริการโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 35% เป็น 470 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของรายได้ทั้งหมด ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ความสำเร็จในธุรกิจใหม่ ๆ จะเป็นผลบวกต่อสถานะทางเครดิตของบริษัท เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์สูงกว่าและมีเสถียรภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับการค้าถ่านหิน
กำไรที่สูงจะกลับคืนสู่ระดับปกติในปี 2566
บริษัทได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากราคาถ่านหินที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 โดยเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องอุปทานถ่านหินทั่วโลกที่ตึงตัว ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยราคาถ่านหินในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนมกราคม 2564 เป็น 170 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ณ สิ้นปี 2564 และอยู่ที่ประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนเมษายน 2565 ในขณะเดียวกัน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ที่ 1.04 พันล้านบาทในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจาก 482 ล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2565 EBITDA ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 487 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับ EBITDA เฉลี่ยต่อไตรมาสที่ 125 ล้านบาทในสภาวะตลาดปกติ
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกำไรที่สูงเป็นพิเศษของบริษัทน่าจะกลับคืนสู่ระดับปกติในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากมองว่าความเป็นไปได้ที่ราคาถ่านหินจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกน่าจะมีจำกัด ในสมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาถ่านหินทั่วโลกน่าจะปรับลดลงในช่วงสองหรือสามปีข้างหน้า จากการคาดการณ์ว่าสถานการณ์อุปทานที่ตึงตัวน่าจะเริ่มผ่อนคลายลง และความต้องการถ่านหินที่น่าจะลดลงเนื่องจากประเทศต่าง ๆ เริ่มดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Carbon Emission) อีกครั้ง ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษายอดขายถ่านหินได้อย่างน้อย 5 ล้านตันต่อปี โดยรายได้จากการขนส่งยังคงอัตราการเติบโตในระดับเลขสองหลัก และคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2565 ก่อนที่จะลดลงเหลือประมาณ 700 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
สถานะทางการเงินอยู่ในระดับที่ดี
ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนภาระหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนของบริษัทที่คาดว่าจะอยู่ที่ 950 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดสรรไว้สำหรับการซื้อรถบรรทุกใหม่จำนวน 640 ล้านบาท และอีก 100 ล้านบาทสำหรับการขยายคลังสินค้ารวมถึงการปรับปรุงระบบขนส่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ 4-5 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิน่าจะอยู่ในช่วง 15%-25% ในช่วงปี 2565-2567
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า แหล่งที่มาของเงินทุนของบริษัทประกอบด้วย เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่จำนวน 480-500 ล้านบาท และเงินสดในมือจำนวน 84 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ในขณะเดียวกัน แผนการใช้เงินทุนประกอบด้วยการชำระคืนเงินกู้รวมประมาณ 153 ล้านบาท การลงทุนตามแผนประมาณ 150 ล้านบาท และจ่ายเงินปันผลอีก 200 ล้านบาท
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 หนี้สินคงค้างของบริษัทซึ่งไม่รวมสัญญาเช่าทางการเงินมีจำนวน 2.63 พันล้านบาท โดยภาระหนี้ที่มีหลักประกันมีจำนวน 1.84 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้เงินกู้รวมของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับประมาณ 70% เนื่องจากอัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้เงินกู้ทั้งหมดของบริษัทมีมากกว่า 50% ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง ดังนั้น เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทจึงมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในสิทธิในการเรียกร้องจากสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ยอดขายถ่านหินอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี
? รายได้รวมจะลดลงจาก 1.37 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เป็น 1.25 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และ 1.15 หมื่นล้านบาทในปี 2567
? อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 5.5%-7.5%
? เงินลงทุนจะอยู่ที่ 150 ล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
? อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 40%-50%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าสถานะทางการตลาดและความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของบริษัทจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่กระแสเงินสดและอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทน่าจะสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถรักษา EBITDA ให้อยู่ในช่วงระหว่าง 700-800 ล้านบาทต่อปีได้อย่างยั่งยืน ซึ่งอาจเกิดจากการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่ หรือการรักษายอดขายของถ่านหินให้อยู่ในระดับที่สูงได้อย่างมั่นคง โครงสร้างทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ต่ำกว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนการปรับขึ้นของอันดับเครดิตได้
ในทางตรงกันข้าม โอกาสในการถูกปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการที่สถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนที่ใช้หนี้เงินกู้จำนวนมาก ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA สูงเกินกว่า 7-8 เท่าและ/หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิต่ำกว่าระดับ 10% เป็นระยะเวลานาน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) (AGE)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable