ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความคาดหวังว่าอุตสาหกรรมยางธรรมชาติจะฟื้นตัว และบริษัทจะควบคุมและจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจยางธรรมชาติของประเทศไทย และผลงานที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านการผลิตและการจำหน่ายยางธรรมชาติอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลอดจนการแทรกแซงจากรัฐบาล การกระจุกตัวของตลาด การมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว รวมทั้งการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2564 เติบโตขึ้น 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 2.44 หมื่นล้านบาท อันเนื่องมาจากการค่อย ๆ ฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในอุตสาหกรรมยางล้อ
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13.2% ในปี 2564 จากระดับ 10.5% ในปี 2563 ซึ่งมาจากการปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ดียิ่งขึ้น ราคาผลิตภัณฑ์ยางที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบยางธรรมชาติโดยเฉลี่ยที่ลดลง และการที่บริษัทดำเนินกลยุทธ์ในการซื้อขายแบบ Back-to-back โดยมีการบริหารจัดการปริมาณขายและปริมาณซื้อให้สอดคล้องเหมาะสมกัน ทั้งนี้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.37 พันล้านบาทในปี 2564 จากระดับ 1.23 ล้านบาทในปี 2563 ส่งผลทำให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 1.85 ล้านบาทในระหว่างปี 2564 เมื่อเทียบกับจำนวน 859 ล้านบาทในปี 2563
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเติบโตขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 13.7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.5% ราคาจำหน่ายเฉลี่ยของยางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบยางธรรมชาติเฉลี่ยกลับปรับตัวลดลง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 บริษัทสามารถจัดการต้นทุนได้จากการที่บริษัทผสมต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยที่ราคาต่ำเข้าไปด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 จากการที่อุตสาหกรรมยานยนต์ค่อย ๆ ฟื้นตัวและภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราเฉลี่ยต่อปีที่ลดลงในระหว่างปี 2566-2567 เนื่องจากสภาวะความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานที่คลายตัวลง
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2565 จะเติบโตที่ระดับ 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนและจะปรับตัวลดลงที่ระดับ 3% ในปี 2566 และคงที่ในปี 2567 นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทมีแนวโน้มจะคงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 12% ในปี 2565 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ10% ต่อปีในช่วงปี 2566-2567 และคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 9% ในปี 2565 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7% ต่อปีในปี 2566-2567
อุปสงค์ในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติฟื้นตัว
จากรายงานของ International Rubber Study Group (IRSG) พบว่าในช่วงระหว่างปี 2564-2565 อุปทานยางธรรมชาติค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่อุปสงค์ยางธรรมชาติทั่วโลกก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลทำให้เกิดการขาดดุลเล็กน้อยของสต็อคยางธรรมชาติและทำให้ราคายางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2564-2565 โดยราคายางธรรมชาติโดยเฉลี่ยในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 17%-27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้น 3%-17% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ในธุรกิจยานยนต์
ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า กลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และลดต้นทุน รวมถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจะช่วยให้บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ นอกจากนี้ การขาดแคลนผลผลิตยางธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซียอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราน่าจะส่งผลทำให้คำสั่งซื้อของผู้ผลิตยางล้อในประเทศอินโดนีเซียมาเป็นผู้ผลิตในประเทศไทยแทนซึ่งรวมถึงบริษัทด้วย
โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น
ระดับภาระหนี้ของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนยังคงที่อยู่ที่ระดับ 58.1% ในปี 2564 และปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทมีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ปรับตัวลดลงและมีกำไรสะสมที่ปรับเพิ่มขึ้น
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 620 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในการผลิตแผ่นปูรองนอนสัตว์เลี้ยง การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 55% ในปี 2565 และจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41%-46% ในระหว่างปี 2566-2567
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่ดี
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วงระยะ 12 เดือนข้างหน้า ในการนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่จำนวน 771 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8 พันล้านบาทในช่วงระยะเวลาเดียวกัน โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 447 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ทั้งสิ้นอีกจำนวน 4.3 พันล้านบาท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20%-23% ในช่วงปี 2565-2567 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายนั้นคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 3-3.5 เท่าในระหว่างปี 2565-2567
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 7% ในปี 2565 และจะปรับตัวลดลง 3% ในปี 2566 และคงที่ในปี 2567
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10%-12% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 420 ล้านบาทต่อปีในปี 2565 และจะอยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาทในปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจยางธรรมชาติได้ต่อไปโดยที่บริษัทจะรักษาสถานะสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งของงบดุลให้เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายมากกว่าระดับ 2.5 พันล้านบาท พร้อมทั้งมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน้อยกว่า 2.5 เท่าเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนสูงกว่าระดับ 5 เท่าเป็นระยะเวลานาน ซึ่งกรณีดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้หากอัตรากำไรของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่บริษัทไม่สามารถแบกรับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นได้ หรือหากอุปสงค์ยางล้อทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากที่อาจทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) (NER)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable