ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่ม Tier 1 ของประเทศไทย ตลอดจนผลการดำเนินงานที่แข็งแรงในธุรกิจหลัก และการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ลดทอนลงบางส่วนจากอัตรากำไรที่ค่อนข้างบาง และความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าของบริษัท ตลอดจนลักษณะที่เป็นวัฏจักรขึ้นลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสัดส่วนการดำเนินงานในต่างประเทศของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นและความไม่แน่นอนของแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งที่บานปลายระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานภาพในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท OEM (Original Equipment Manufacturer) ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในสัดส่วนประมาณ 70%-80% ของรายได้รวม โดยธุรกิจหลักดังกล่าวช่วยให้บริษัทเติบโตได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สถานะในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากการมีประวัติผลงานที่มีมาอย่างยาวนานในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อป้อนให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายโดยที่บริษัทไม่เคยมีประวัติในการสูญเสียคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่เลย การดำเนินงานที่ไว้ใจได้ประกอบกับความน่าเชื่อถือของบริษัทก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ เช่น อีซูซุ ดาน่า ฟอร์ด คอนติเนนทอล ออโต้อัลลายแอนซ์ (กิจการร่วมค้าระหว่างฟอร์ดและมาสด้า) และนิสสัน ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ก็ไม่ค่อยเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักเนื่องจากมีต้นทุนการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างสูงและความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า
บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนโครงช่วงล่าง (Chassis Frame) สำหรับรถกระบะแต่เพียงรายเดียวให้แก่อีซูซุ และมาสด้า บีที-50 ในประเทศไทย ซึ่งอีซูซุถือเป็นลูกค้าหลักที่สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ความสัมพันธ์ที่ยาวนานและใกล้ชิดกับผู้ผลิตรถยนต์ดังกล่าวประกอบกับต้นทุนในการเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงลูกค้าหลักของบริษัทลงได้ โดยอีซูซุนั้นมียอดขายที่แข็งแกร่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การดำเนินงานในต่างประเทศสร้างความท้าทายและโอกาส
จากกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท บริษัทได้เข้าลงทุนเกือบ 7 พันล้านบาทในรูปของส่วนทุนและเงินให้กู้ยืมแก่ Sakthi Group ที่มีฐานการผลิตหลักอยู่ในประเทศโปรตุเกสและอินเดีย โดยผลการดำเนินงานในทั้งสองประเทศดังกล่าวเริ่มดีขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินงานในประเทศโปรตุเกสจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทปีละ 3-4 พันล้านบาทและสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายปีละ 0.3-0.4 พันล้านบาท ขณะที่การดำเนินงานในประเทศอินเดียนั้นยังมีข้อโต้แย้งด้านกฎหมายกับผู้ถือหุ้นปัจจุบันของ Sakthi Group ซึ่งทริสเรทติ้งคาดหวังว่าจะไม่มีผลกระทบในเชิงลบใด ๆ เกิดขึ้นกับบริษัท เช่น การตั้งสำรองขาดทุนเพิ่มเติม
ในอนาคตการลงทุนใน Sakthi Group ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มขนาดธุรกิจของบริษัทเท่านั้น แต่ยังจะช่วยให้บริษัทเข้าถึงตลาดในยุโรปและอินเดียอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้ประโยชน์จากชิ้นส่วนหล่อขึ้นรูปโลหะ (Cast Product) ที่มีอัตรากำไรสูงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่แตกต่างออกไปและความไม่แน่นอนของความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนก็อาจทำให้ความเสี่ยงในการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญสำหรับบริษัท โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการความเสี่ยงจากการดำเนินงานในต่างประเทศด้วยความระมัดระวัง ซึ่งผลการดำเนินงานในระยะยาวยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
ผลการดำเนินงานอยู่ในช่วงเติบโต
บริษัทสามารถฟื้นฟูผลการดำเนินงานแม้ในสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายขณะที่รายได้และกำไรของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2.5-2.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทน่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์รถยนต์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่บริษัทได้รับคำสั่งผลิต และราคาขายที่เพิ่มขึ้นของชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ในขณะที่โชว์รูมแห่งใหม่ก็น่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้ยังมีความไม่แน่นอนเมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นของการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลกและการขาดแคลนชิป
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของรายได้ โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าจาก 2.1 พันล้านบาทต่อปีในปี 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรของบริษัทจะลดลงเล็กน้อยจากสภาวะแวดล้อมที่ต้นทุนต่าง ๆ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 9%-10% ในช่วงปี 2565-2567 เมื่อเทียบกับระดับ 10.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ทั้งนี้ ความสามารถของบริษัทในการผลักภาระต้นทุนวัตถุดิบไปให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์น่าจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สถานะทางการเงินจะยังอยู่ภายใต้การควบคุมจัดการที่ดี
ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะยังคงแข็งแรงจากประมาณการที่คาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับ 40%-50% ในช่วงปี 2565-2567 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 3 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะอยู่เหนือกว่าระดับ 20% ตลอดช่วงเวลาประมาณการ ทั้งนี้ อัตราส่วนทั้งสามดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาหลังจากการฟื้นตัวของกำไรของบริษัท
ณ เดือนมีนาคม 2565 หนี้สินรวมของบริษัทซึ่งไม่นับหนี้สินสัญญาเช่ามีจำนวน 7.4 พันล้านบาท โดยบริษัทมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้ทั้งหมดของบริษัทย่อยรวมกันอยู่ที่จำนวนประมาณ 3.2 พันล้านบาท ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 43%
สภาพคล่องอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2565 บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนประมาณ 3.6 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 2 พันล้านบาทและหนี้เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารอีกจำนวน 1.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอยู่ที่เกือบ
0.7 พันล้านบาท โดยที่เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2565 น่าจะอยู่ที่จำนวน 0.9 พันล้านบาท ดังนั้น บริษัทจะมีสินทรัพย์สภาพคล่องและเงินทุนจากการดำเนินงานรวมกันอยู่ที่จำนวน 1.6 พันล้านบาท ซึ่งวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ที่บริษัทมีอยู่จำนวนประมาณ 4 พันล้านบาทน่าจะเพียงพอสำหรับส่วนต่างที่ยังขาดอยู่อีก 2 พันล้านบาท
ข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินรวมสุทธิต่อส่วนทุนไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.5 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2565 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-2.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับ 9%-10%
? เงินลงทุนและค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนโดยรวมจะอยู่ที่จำนวน 0.8-1.3 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ ส่วนรายได้และกำไรของบริษัทนั้นน่าจะเพิ่มขึ้นในขณะที่การก่อหนี้จะยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี ทั้งนี้ ความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ซื้อน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับแรงกดดันของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายทรงตัวอยู่เหนือระดับ 2.5 พันล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรักษาระดับอยู่ที่ไม่เกิน 2.75 เท่า ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมาก เช่น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 50% และ/หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 4 เท่าเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) (AH)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable