ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการประเมินของ ทริสเรทติ้งเกี่ยวกับสถานะของบริษัทซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐโดยมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลในระดับสูงสุด (Integral) และมีความสำคัญต่อรัฐบาลในระดับสูงที่สุด (Critical) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนความเห็นของทริสเรทติ้งว่ามีความเป็นไปได้มากที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากภาครัฐอย่างพอเพียงและทันเหตุการณ์ในกรณีที่บริษัทประสบกับปัญหาทางด้านการเงินอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐในระดับสูงสุด
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลไทยถือหุ้นในสัดส่วน 91% และหุ้นส่วนที่เหลือถือโดยบริษัทสายการบินสมาชิก บริษัททำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ดำเนินการแทนรัฐบาลในการรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของห้วงอากาศในเขตแดนของประเทศไทย การดำเนินงานของบริษัทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลผ่านสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงคมนาคม โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศเกี่ยวกับการมอบหมายให้บริษัททำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการให้บริการการจัดการจราจรทางอากาศและบริการการเดินอากาศที่เกี่ยวเนื่องสำหรับการบินพลเรือนของประเทศไทย เป็นผลให้บริษัทไม่จำเป็นต้องต่อสัญญากับกระทรวงคมนาคมเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวอีกต่อไป คณะกรรมการของบริษัทจำนวน
9 คนจากทั้งสิ้น 11 คนได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาล ส่วนอีก 2 คนเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทสายการบินสมาชิก ในขณะที่แผนวิสาหกิจของบริษัทนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและงบประมาณการลงทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้วจึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อการอนุมัติต่อไป นอกจากนี้ บริษัทจะต้องส่งแผนในการกู้หรือชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลังอีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าในกรณีที่มีสถานการณ์วิกฤติเกิดขึ้น รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่บริษัทอย่างเต็มที่และทันเวลา
มีบทบาทที่สำคัญมากที่สุดต่อภาครัฐ
ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทมีบทบาทที่สำคัญมากที่สุดในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ให้บริการการเดินอากาศรายหลักของประเทศไทย รัฐบาลไทยในฐานะรัฐภาคีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization -- ICAO) ได้มอบหมายให้บริษัทดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบของ กพท. และมาตรฐานของ ICAO เพื่อให้การขนส่งทางอากาศในบริเวณเขตแถลงข่าวการบินกรุงเทพฯ (Bangkok Flight Information Region -- BKK FIR) มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากการให้บริการจราจรทางอากาศเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ภาครัฐจะอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นส่วนสำคัญของแผนงานของภาครัฐในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางหลักของการบินในภูมิภาคเอเชียอีกแห่งหนึ่งด้วย
คาดว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ผลการดำเนินงานของบริษัทถูกกดดันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากปริมาณการจราจรทางอากาศที่ลดลงอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ปริมาณการจราจรทางอากาศในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ปรับลดลงเหลือ 57% และ 26% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562 ตามลำดับ โดยปริมาณการจราจรทางอากาศเริ่มฟื้นตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 ที่ระดับ 33% ของปีงบประมาณ 2562 ทั้งนี้ บริษัทปรับลดต้นทุนลงได้เพียงบางส่วนเนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่ของบริษัทมีลักษณะเป็นต้นทุนคงที่ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 และในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565
ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศและผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงปีงบประมาณ 2565-2567 สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยคาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 38% ของปีงบประมาณ 2562 ในปีงบประมาณ 2565 และ 58% ของปีงบประมาณ 2562 ในปีงบประมาณ 2566 ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 85% ของปีงบประมาณ 2562 ในปีงบประมาณ 2567 ทั้งนี้ การประมาณการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาจากการพิจารณาถึงเที่ยวบินระหว่างประเทศซึ่งคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของเที่ยวบินทั้งหมดในประเทศไทยก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 5.2 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 และ 1.15 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 4.1 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 และ 2.4 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 ก่อนที่จะกลับตัวเป็นรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ 159 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทดำเนินการภายใต้หลักการชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้น (Cost-recovery Basis) โดยค่าบริการได้รับการประมาณการและกำหนดให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะสามารถปรับเพิ่มค่าบริการในปีงบประมาณ 2567 เพื่อชดเชยรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสะสมได้
ภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากกระแสเงินสดจ่ายจากการดำเนินงานและการลงทุน
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะยังคงถูกกดดันต่อเนื่องในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นลบในปีงบประมาณ 2565-2566 ก่อนที่จะกลับตัวเป็นบวกในปีงบประมาณ 2567 และประมาณการงบลงทุนของบริษัทรวมจะอยู่ที่ประมาณ 2.4 พันล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2565-2567 โดยบริษัทจะต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและเพื่อลงทุนตามแผน จึงคาดว่าหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7.6-8.3 พันล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2565-2567 จากระดับ 5.9 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2565 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 89% ในปีงบประมาณ 2565-2567 จาก 85% ณ เดือนมีนาคม 2565
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 1.3 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 3.4 พันล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวประกอบไปด้วยวงเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 1.7 พันล้านบาทและวงเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 1.7 พันล้านบาท บริษัทอยู่ระหว่างจัดหาวงเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทจำนวน 1 พันล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวข้างต้นเพียงพอสำหรับแผนในการใช้เงินทุนของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งบริษัทมีภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 127 ล้านบาทและการเบิกจ่ายลงทุนอีกจำนวน 650 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 นอกจากนี้ บริษัทมีภาระหนี้เงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 2 พันล้านบาทซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถต่ออายุเงินกู้ยืมดังกล่าวออกไปได้ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดไหลออกจากการดำเนินงานประมาณ 2.4 พันล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 5.2 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 และ 1.15 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2567
? บริษัทจะมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจำนวน 4.1 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 2.4 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 และจะมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายจำนวน 159 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 2.4 พันล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2565-2567
? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 89% ในช่วงปีงบประมาณ 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐต่อไปโดยมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลในระดับสูงสุดและมีความสำคัญต่อรัฐบาลในระดับสูงที่สุดในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการการเดินอากาศรายหลักในประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงได้หากระดับความสัมพันธ์หรือบทบาทของบริษัทที่มีต่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปจนถึงระดับที่ทำให้ทริสเรทติ้งมีความกังวลต่อการที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนที่พอเพียงและทันเหตุการณ์ในกรณีที่บริษัทประสบกับปัญหาวิกฤติทางการเงิน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (AEROTHAI)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable