ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา” ที่ “A-” เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น “Stable” จาก “Negative”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 14, 2022 10:56 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ในขณะเดียวกันได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัททั้งในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อการฟื้นตัวของธุรกิจที่มีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจโรงแรม หลังจากที่มาตรการจำกัดการเดินทางต่าง ๆ ถูกยกเลิกและกิจกรรมการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว ในส่วนของธุรกิจอาหารก็คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีแรงกดดันต่ออัตรากำไรจากต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาวะการดำเนินงานที่ดีขึ้นจะช่วยส่งเสริมให้บริษัทสามารถฟื้นความเข้มแข็งด้านการเงินและเครดิตได้

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศไทย

หลังจากที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยตกต่ำลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากปัญหาโรคระบาด ประเทศไทยได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางต่าง ๆ และเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2565 มีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยประมาณ 7-10 ล้านคนในปี 2565 เทียบกับ 6.7 ล้านคนในปี 2563 และ 0.4 ล้านคนในปี 2564 แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่าระดับ 40 ล้านคนในช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดในปี 2562 แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวก็จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมในไทยได้

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าการเดินทางเพื่อการพักผ่อนจะนำไปสู่การฟื้นตัวในระยะแรก อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเปิดโครงการ ?เราเที่ยวด้วยกัน? อีกครั้งจะช่วยกระตุ้นรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมได้ในหลายไตรมาสข้างหน้า ทั้งนี้ ในระยะยาว การกลับมาของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศไทย จากนโยบาย ?โควิดเป็นศูนย์? หรือ ?Zero-COVID? ที่เข้มงวดของทางการจีนทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาท่องเที่ยวได้อย่างมีนัยเร็วที่สุดในปี 2566 ทริสเรทติ้งยังมองว่า การกลับมาของการเดินทางเพื่อธุรกิจที่แม้ว่าบางส่วนจะถูกทดแทนด้วยการประชุมออนไลน์อย่างถาวร จะส่งเสริมการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ธุรกิจโรงแรมทยอยฟื้นตัว

สถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจของบริษัทรวมทั้งการมีพอร์ตฟอลิโอของโรงแรมที่ครอบคลุมทั้งโรงแรมในระดับหรูไปจนถึงระดับกลางและโรงแรมสำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อนไปจนโรงแรมเพื่อการประชุมและสัมมนาขนาดใหญ่จะช่วยให้บริษัทสามารถสนองตอบต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมได้ในทุกช่วง ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของในปี 2565 จะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับประมาณ 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเกิดโรคระบาด จากภาวะอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นและอุปสงค์ที่แข็งแกร่งต่อการท่องเที่ยวไทยที่ส่วนใหญ่มีโรงแรมของบริษัทตั้งอยู่ ในขณะที่อุปสงค์ต่อโรงแรมในประเทศมัลดีฟส์จะยังดีได้อย่างต่อเนื่องแต่จะอยู่ในระดับที่เป็นปกติมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะฟื้นตัวได้ประมาณ 80% ในปี 2566 จากการคาดการณ์ว่าจะนักท่องเที่ยวจีนและกลุ่มลูกค้าจัดประชุมสัมมนาจะเริ่มกลับมา และจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดได้ในปี 2567 ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวได้พิจารณาถึงการเปิดโรงแรมแห่งใหม่ของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และแผนการปรับปรุงโรงแรมหลายแห่งซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มราคาค่าห้องได้

ธุรกิจร้านอาหารจะเติบโตขึ้น

หลังจากที่ธุรกิจร้านอาหารของบริษัทชะลอตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากภาวะโรคระบาด ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจจะเติบโตได้ทั้งจากยอดขายจากสาขาเดิมที่เพิ่มขึ้นและจากการขยายสาขา ยอดขายจากสาขาเดิมจะเพิ่มขึ้นจากชั่วโมงเปิดร้านที่เป็นปกติและไม่มีการจำกัดจำนวนการนั่งรับประทานอาหารในร้าน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายสาขาของร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมากเพื่อสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งการขยายสาขาก็จะช่วยเพิ่มยอดขายให้บริษัทด้วย

บริษัทมีแผนจะขยายสาขาของร้านอาหารแบรนด์หลัก ๆ ได้แก่ ?เคเอฟซี? ?มิสเตอร์โดนัท? และ ?อานตี้ แอนส์? อย่างต่อเนื่อง บริษัทยังมีแผนขยายสาขาของแบรนด์ ?คัทสึยะ? ?โยชิโนยะ? และ ?เปปเปอร์ลันช? ในรูปแบบ Hybrid Cloud ที่รวมทั้ง 3 แบรนด์อยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อสนองต่อการสั่งอาหารผ่านแพลทฟอร์มเดลิเวอรี่ บริษัทยังมีกลยุทธ์การขยายสาขาของร้านอาหารในรูปแบบที่มีขนาดเล็กลง และตั้งอยู่ในทำเลใหม่ ๆ เช่นตามปั๊มน้ำมันซึ่งจะใช้เงินลงทุนในการเปิดสาขาที่น้อยลงและยังสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านแพลทฟอร์มเดลิเวอรี่ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายสาขาของร้านกาแฟ ?อาริกาโตะ? อีกจำนวนมากเพื่อสร้างโอกาสในตลาดกาแฟที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากธุรกิจอาหารของบริษัทจะเติบโตขึ้นในปี 2565 ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 10%-12% ไปอยู่ที่ระดับ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567 แม้ว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ที่หลากหลาย แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่าบริษัทยังคงพึ่งพาเคเอฟซีอยู่ค่อนข้างมาก โดยทั้งรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจร้านอาหารมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากร้านเคเอฟซี ในขณะที่อีก 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ และโอโตยะนั้นมีรายได้ และ EBITDA รวมกันแล้วคิดเป็นประมาณ 30% ของธุรกิจอาหาร ทริสเรทติ้งยังมองว่าแบรนด์ ?คัทสึยะ? และ ?โยชิโนยะ? จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจากการขยายสาขาต่อเนื่องและการที่เมนูของทั้ง 2 แบรนด์ตอบสนองต่อการขายผ่านแพลทฟอร์มเดลิเวอรี่ได้เป็นอย่างดี

ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแออาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัว

ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยทั่วโลกเป็นความเสี่ยงในเชิงลบที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของบริษัท ในธุรกิจโรงแรม การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการเดินทางจากผลของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะชะลอการฟื้นตัวของอุปสงค์ด้านบริการโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักท่องเที่ยวที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางนานหลายชั่วโมง ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากปัญหาด้านสายพานการผลิตของโลกจะส่งผลกดดันต่อผลการดำเนินงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอาหาร ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความต้องการจับจ่ายใช้สอยและจะส่งผลให้การฟื้นตัวของธุรกิจของบริษัทล่าช้ากว่าที่คาดในที่สุด

แรงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไร

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.64 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ก่อนจะปรับดีขึ้นเป็น 2-2.35 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะถูกกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอาหาร แม้ว่าบริษัทจะมีความพยายามในการบริหารจัดการ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การปรับเมนูอาหาร และการเพิ่มราคาเพื่อลดผลกระทบ แต่ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการรักษาอัตรากำไรของบริษัทจะเป็นไปอย่างจำกัดในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอ ความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่อ่อนแอและการแข่งขันที่สูงตามธรรมชาติของอุตสาหกรรมจะทำให้บริษัทไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้บริโภคได้เต็มจำนวน อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันใกล้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) จะอยู่ในระดับ 24% ในปี 2565 ก่อนจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 27%-29% ในปี 2566-2567 จากการที่ธุรกิจโรงแรมซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่าฟื้นตัวตามลำดับ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA อยู่ที่ประมาณ 3.9 พันล้านบาทในปี 2565 และ 5.4-6.7 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินปรับตัวดีขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตามการดำเนินงานและรายได้ สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6 เท่าในปี 2565 และจะลดลงต่อเนื่องลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5 เท่าได้ในปี 2567 และคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4 เท่าหลังจากปี 2567 โดยสมมติฐานของทริสเรทติ้งได้รวมการคาดการณ์งบลงทุนของบริษัทที่ระดับ 3-4 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565-2567 โดยการลงทุนดังกล่าวจะเป็นธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก ทั้งการลงทุนโรงแรมใหม่ในมัลดีฟส์และไทย รวมทั้งการปรับปรุงโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ทั้งกระบี่ ภูเก็ต และมัลดีฟส์

ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนเทียบกับหนี้สินรวมประมาณ 19% ตามข้อกำหนดทางการเงินของเงินกู้และตราสารหนี้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้ต่ำกว่า 2 เท่านั้น ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.87 เท่าซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ

สภาพคล่องเพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินสถานะสภาพคล่องของบริษัทว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ แหล่งสภาพคล่องหลักของบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในมือจำนวนประมาณ 3.5 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อที่ยังไม่เบิกใช้ประมาณ 5.1 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.3-4.5 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 4.9 พันล้านบาท รวมทั้งยังมีภาระผูกพันในสัญญาเช่าดำเนินงานอีกประมาณ 1.5 พันล้านบาท และมีแผนการลงทุนอีกประมาณ 3-4 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทยังคงรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอที่จะรับมือกับภาวะความเสี่ยงในการดำเนินงานใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของในปี 2565 จะฟื้นตัวกลับมาที่ระดับประมาณ 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเกิดโรคระบาด และจะฟื้นตัวได้ประมาณ 80% ในปี 2566 ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดได้ในปี 2567

? รายได้จากธุรกิจอาหารจะอยู่ที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และที่ระดับ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567

? รายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.64 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 2-2.35 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567

? EBITDA จะอยู่ที่ประมาณ 3.9 พันล้านบาทในปี 2565 และ 5.4-6.7 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567

? แผนการลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ 3-4 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ถึงสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อการฟื้นตัวของธุรกิจที่มีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจโรงแรม หลังจากที่มาตรการจำกัดการเดินทางต่าง ๆ ถูกยกเลิกและกิจกรรมการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว ในส่วนของธุรกิจอาหารก็คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อต่อต้นทุนการดำเนินงาน ภาวะการดำเนินงานที่ดีขึ้นจะช่วยส่งเสริมให้บริษัทสามารถฟื้นความเข้มแข็งด้านการเงินและเครดิตได้จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5 เท่าได้ในปี 2567

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจเพิ่มขึ้นได้หากทั้งธุรกิจและสถานะการเงินของบริษัทดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3.5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้มากจากการที่ธุรกิจฟื้นตัวได้ช้า และ/หรือจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้ขนาดใหญ่

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (CENTEL)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

CENTEL229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-

CENTEL239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-

CENTEL24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-

CENTEL269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ