ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้มีการค้ำประกัน “บ. พฤกษา โฮลดิ้ง” ที่ “A” เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น “Negative” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 18, 2022 12:44 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จาก ?Stable? หรือ ?คงที่? ด้วย ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่อาจเพิกถอนได้โดย บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ ?A/Negative? ในกรณีนี้ หุ้นกู้มีการค้ำประกันดังกล่าวมีสิทธิเท่าเทียมกันกับเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท

อันดับเครดิตสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งและเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 98.23% ของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท อีกทั้งยังสะท้อนถึงรายได้จากเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้งอีกด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าประมาณการของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท และความกังวลต่อความสามารถในการคงสถานะทางการตลาดในอุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัย อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความหลากหลายของสินค้าของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท และหนี้สินทางการเงินของกลุ่มที่อยู่ในระดับปานกลาง รวมถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งอาจกระทบต่อกำลังซื้อของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าคาด

ผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ในภาวะที่อุปสงค์ด้านที่อยู่อาศัยยังคงชะลอตัวตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ โรคโควิด 19 บริษัทได้ชะลอการเปิดโครงการใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การแข่งขันที่รุนแรงของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำส่งผลต่อผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงของบริษัท อีกทั้ง ธุรกิจโรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อซึ่งส่งผลทำให้ผู้มาใช้บริการมีจำนวนต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยรายได้จากการดำเนินงานในปี 2564 อยู่ที่ 2.84 หมื่นล้านบาทต่ำกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง 10% รายได้จากการดำเนินงานใน 3 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 6 พันล้านบาทต่ำกว่าการคาดการณ์รายได้ทั้งปีของทริสเรทติ้งเมื่อปีก่อนที่ 3.8 หมื่นล้านบาท

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนตัวลงจากกลยุทธ์ด้านราคาในบางโครงการเพื่อส่งเสริมการขายและระบายสินค้าคงเหลือ อีกทั้ง ผลขาดทุนจาก?โรงพยาบาลวิมุต? ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของบริษัทซึ่งเปิดดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 29%-30% ในช่วงปี 2564 ถึง 3 เดือนแรกของปี 2565 จากระดับ 33% ในปี 2563 และ 36% ในช่วงปี 2560-2562 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.3 พันล้านบาทในปี 2564 จากระดับ 5 พันล้านบาทในปี 2563 และระดับ 8-9 พันล้านบาทต่อปีในปี 2560-2562 และอยู่ที่ระดับเพียง 1 พันล้านบาทในไตรมาสแรกในปี 2565 ต่ำกว่าการคาดการณ์ทั้งปีของทริสเรทติ้งเมื่อปีก่อนที่ 6.5 พันล้านบาทอย่างมีนัยสำคัญ กำไรสุทธิอยู่ที่ระดับเพียง 552 ล้านบาทใน 3 เดือนแรกในปี 2565 คิดเป็น 14% ของการคาดการณ์ทั้งปีของทริสเรทติ้งเมื่อปีก่อนที่ 3.9 พันล้านบาท

รายได้และความสามารถในการทำกำไรยังคงได้รับแรงกดดัน

ทริสเรทติ้งมองว่าเศรษฐกิจที่อ่อนแอและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะยังคงกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 3-3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้ส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย คิดเป็นสัดส่วน 97%-98% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากโรงพยาบาลยังคงน้อยมาก

บริษัทยังคงเน้นการระบายสินค้าคงเหลือและเปิดโครงการใหม่ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเปิดโครงการที่อยู่อาศัยเหลือเพียง 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และ 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ลดลงจากระดับ 4-6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2562 บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ประกอบด้วยโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่า 3.5 พันล้านบาท ยอดขายรอการรับรู้รายได้ของบริษัทลดลงเช่นกันเหลือเพียง 2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 จากระดับ 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2562 และ 3.3 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะส่งมอบโครงการประมาณ 90% ของยอดขายรอการรับรู้รายได้ ณ เดือนเมษายน 2565 ให้แก่ลูกค้าในช่วงที่เหลือของปี 2565 และที่เหลือในปี 2566-2568 ดังนั้น ทริสเรทติ้งมองว่ารายได้ของบริษัทในช่วง 2 ปีข้างหน้าขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างยอดขายใหม่และยอดโอนในแต่ละปี

ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะดีขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจากความกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทจะต้องแบกภาระขาดทุนจากโรงพยาบาลวิมุตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนดังกล่าวไม่น่าจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีขึ้นและการจ้างผู้ให้บริการจากภายนอกที่มากขึ้นน่าจะช่วยชดเชยอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดต่ำลงได้บางส่วน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 30% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) จะอยู่ที่ระดับ 15%-17% ในช่วงปีประมาณการ

สินค้ามีความหลากหลายและเป็นแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะในตลาดระดับราคาปานกลางถึงต่ำ

บริษัทมีสินค้าที่ค่อนข้างหลากหลายครอบคลุมทั้งประเภทและระดับราคา โดยบริษัทมีทั้งทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียมที่ครอบคลุมระดับราคาที่แตกต่างกันเพื่อนำเสนอแก่ลูกค้า ในส่วนของทาวน์เฮ้าส์นั้นครอบคลุมระดับราคาตั้งแต่ต่ำไปจนถึงปานกลางซึ่งมีราคาขายอยู่ในช่วง 2-5 ล้านบาทต่อหลัง ส่วนบ้านเดี่ยวนั้นครอบคลุมตั้งแต่ระดับราคา 3-12 ล้านบาทต่อหลัง ในขณะที่คอนโดมิเนียมนั้นครอบคลุมตั้งแต่ระดับราคาต่ำถึงสูงซึ่งมีราคาขายตั้งแต่ 50,000 บาทถึง 260,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.)

ตามความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าการมีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักดีและมีสินค้าที่หลากหลายทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นที่เพียงพอในการปรับสัดส่วนสินค้าให้สอดคล้องกับอุปสงค์ได้อย่างรวดเร็วและยังคงสถานะการแข่งขันได้ ทั้งนี้ บริษัทมุ่งเน้นปรับสัดส่วนสินค้าในพอร์ตโฟลิโอโดยเพิ่มสินค้าแนวราบมากขึ้นและเพิ่มโครงการทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวในกลุ่มราคาระดับกลางถึงสูง ณ เดือนเมษายน 2565 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาประมาณ 170 โครงการซึ่งมีมูลค่าเหลือขายรวม 7.3 หมื่นล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) โดยโครงการทาวน์เฮ้าส์มีสัดส่วนคิดเป็น 49% ของมูลค่าเหลือขายทั้งหมด ในขณะที่โครงการบ้านเดี่ยวคิดเป็น 31% และคอนโดมิเนียมคิดเป็น 20%

รายได้จากเงินปันผลส่วนใหญ่ของบริษัทยังคงมาจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทในอีก 3 ปีข้างหน้า

เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ในสัดส่วนถึง 98.23% ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลอย่างเป็นนัยสำคัญจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ทั้งนี้ ตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของกลุ่ม บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จะจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้รับเงินปันผลจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำนวน 2.9 พันล้านบาทในปี 2563 และ 2.4 พันล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของบริษัท โดยมี EBITDA และมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งหมดคิดเป็น 96% และ 90% ของทั้งกลุ่มบริษัท ตามลำดับ

บริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลโดยเปิดดำเนินการ ?โรงพยาบาลวิมุต? ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของบริษัทในเดือนพฤษภาคม 2564 และลงทุนใน บริษัท เทพธัญญภา จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเทพธารินทร์โดยถือหุ้น 51% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทลูกแห่งใหม่ คือ บริษัท วิมุต เวลเนส เซอร์วิส จำกัด เพื่อบริหารงานโรงพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟูขนาดกลาง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้จัดตั้ง บริษัท อินโน สเปราท์ โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อลงทุนใน บริษัท พาโธโลจี้ เอเชีย โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการทางคลินิกและการใช้นวัตกรรมเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมโดยถือหุ้น 3.7% ด้วยเงินลงทุน 2.5 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยที่กล่าวมายังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลจะยังคงน้อยมากในช่วงปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทจะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของบริษัทต่อไปในระยะปานกลาง

ภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง

ทริสเรทติ้งประเมินว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับปานกลาง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุน ณ เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 28% ภายใต้กลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งขยายสัดส่วนในธุรกิจโรงพยาบาลและขยายการลงทุนไปยังเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและเทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพภายใต้กองทุนของบริษัท ทั้งนี้ คาดว่าเงินลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 และประมาณ 1.7 พันล้านบาทในปี 2567 งบประมาณในกองทุนบริษัทอยู่ที่ 3.5 พันล้านบาทในปี 2565 ซึ่งรวมเงินลงทุนในบริษัท พาโธโลจี้ เอเชีย โฮลดิ้ง และ 1.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเปิดโครงการแนวราบโครงการใหม่มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และ 1.5-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 และคาดว่าบริษัทจะเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ ๆ มูลค่า 3.5 พันล้านบาทในปีนี้และ 5-8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 ในขณะที่งบประมาณซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 6-8 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ระดับ 27%-32% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5 เท่าในปี 2565-2567

ณ เดือนมีนาคม 2565 หนี้สินทางการเงินของบริษัททั้งหมด 1.7 หมื่นล้านบาทประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะสั้นจากธนาคาร 1.8 พันล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 757 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 2.5 พันล้านบาทซึ่งอยู่ในรูปของหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทย่อย ดังนั้น อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทางการเงินรวมจึงมีสัดส่วนอยู่ที่ 14.5% แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะน้อยกว่า 50% แต่ทริสเรทติ้งก็คาดหมายว่าหุ้นกู้ของบริษัทพฤกษา โฮลดิ้งจะได้รับการค้ำประกันจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท เนื่องจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทหรือบริษัทย่อยอื่น ๆ อาจก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

สภาพคล่องเพียงพอ

ตามงบการเงินรวมของบริษัท ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 1.1 พันล้านบาท วงเงินกู้ระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้จำนวน 6.7 พันล้านบาท และวงเงินกู้ระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้แต่สามารถยกเลิกได้อีกจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท และบริษัทยังมีที่ดินที่ปลอดภาระค้ำประกันซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีที่จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาทที่สามารถนำไปเป็นหลักประกันเพื่อขอวงเงินกู้ใหม่ได้ในกรณีที่จำเป็นอีกด้วย ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 8.3 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 6 พันล้านบาท เงินกู้ระยะสั้นจากธนาคาร 1.8 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 400 ล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าอีกจำนวน 118 ล้านบาท บริษัทได้ชำระหุ้นกู้จำนวน 2 พันล้านบาทที่ครบกำหนดในเดือนพฤษภาคมแล้วด้วยการออกหุ้นกู้ใหม่

เงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้จากธนาคารกำหนดให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนไม่ให้เกินกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 อัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 0.4 เท่า ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 มีดังนี้

? บริษัทจะเปิดโครงการบ้านจัดสรรโครงการใหม่ที่มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 1.5-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567

? บริษัทจะเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ที่มูลค่า 3.5 พันล้านบาทในปี 2565 และ 5-8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567

? งบประมาณซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 6-8 พันล้านบาทต่อปี

? เงินลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 และประมาณ 1.7 พันล้านบาทในปี 2567

? เงินลงทุนผ่านกองทุนบริษัทอยู่ที่ 3.5 พันล้านบาทในปี 2565 และ 1.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567

? รายได้จากการดำเนินงานรวมคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีด้วย EBITDA Margin ที่ระดับ 15%-17%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าคาดของบริษัทในแง่รายได้และกำไรรวมถึงความสามารถที่จะคงความได้เปรียบในการแข่งขันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย การแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ทริสเรทติ้งอาจปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? หากผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฟื้นตัวจนส่งผลทำให้กำไรของบริษัทอยู่ในระดับเดียวกับบริษัทที่ได้อันดับเครดิตเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยแย่กว่าที่คาดการณ์ และ/หรือผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงพยาบาลทำให้สถานะเครดิตของกลุ่มบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเกินกว่า 5 เท่า

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (PSH)

อันดับเครดิตองค์กร: A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

PSH22NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A

PSH22NB: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A

PSH235A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 750 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A

PSH23NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A

PSH245A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A

PSH245B: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A

PSH24NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A

PSH255A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ