ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บ. เวชธานี” ที่ “BBB” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 22, 2022 10:07 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เวชธานี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วย แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทที่มีมาอย่างยาวนานในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย รวมถึงสถานะทางการตลาดของโรงพยาบาลเวชธานีในกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงและในตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ตลอดจนผลการดำเนินงานที่น่าพึงพอใจของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียวและมีฐานรายได้ขนาดเล็ก รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงระดับหนี้ของบริษัทที่คาดว่าน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับแผนการเติบโตของบริษัทรวมถึงความเสี่ยงในการดำเนินการ (Execution Risk) ของโรงพยาบาลแห่งใหม่

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีผลการดำเนินงานที่ยาวนานในอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย

บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ ?โรงพยาบาล เวชธานี? โดยบริษัทมีผลการดำเนินงานเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยด้วยผลงานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือในช่วงเวลา 3 ทศวรรษ

โรงพยาบาลเวชธานีเป็นที่รู้จักในเรื่องการให้บริการดูแลรักษาในตติยภูมิ (Tertiary Healthcare Service) และการรักษาพยาบาลเฉพาะทางโดยได้รับการรับรองจาก Joint Commission International (JCI) ในด้านการให้บริการดูแลรักษาระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Healthcare Service) ซึ่งเป็นระดับการให้การรักษาพยาบาลที่มีความซับซ้อนอย่างมากด้วยนวัตกรรมขั้นสูง บริษัทแข่งขันในอุตสาหกรรมด้วยผลงานทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ ตลอดจนคุณภาพการให้บริการในระดับมาตรฐานสากล เทคโนโลยีขั้นสูง และราคาที่แข่งขันได้ ทั้งนี้ บริษัทได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานและได้ลงทุนในการจัดการด้านโลจิสติกส์แบบดิจิทัลและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้และช่วยรักษาฐานลูกค้า

บริษัทมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอยู่ในตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ระดับโลกซึ่งเป็นผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการมารักษาโรคเรื้อรังและโรคที่มีความซับซ้อนในประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทยังมีลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงอีกด้วย โดยในช่วงระหว่างปี 2560-2564 สัดส่วนของผู้ป่วยชาวต่างชาติคิดเป็น 30%-60% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท

มีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

บริษัทมีสถานะทางการแข่งขันที่เข้มแข็งในตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ โดยปกติแล้วสัดส่วนรายได้รวมของบริษัทจะมาจากผู้ป่วยชาวต่างชาติคิดเป็นประมาณ 55% ของรายได้จากการรักษาพยาบาลทั้งหมดของบริษัท

รายได้ของบริษัทจากผู้ป่วยชาวตะวันออกกลางโดยปกติคิดเป็นสัดส่วน 50%-60% ของรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ โดยผู้ป่วยจากประเทศคูเวต กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ประมาณ 18%-33% ของรายได้รวมของบริษัทในแต่ละปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีชื่อเสียงในด้านศัลยกรรมที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ข้อต่อ และกระดูกต่าง ๆ (Orthopedic) ตลอดจนคลินิกเพื่อผู้มีบุตรยาก (In Vitro Fertilization -- IVF) และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทยังได้ขยายไปสู่บริการรักษาแผลเบาหวานที่เท้าโดยเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ป่วยชาวอาหรับอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 24% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2561-2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในปี 2563

รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564

หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ประกอบกับอุปสงค์ของบริการด้านสุขภาพสำหรับโรคที่มีความซับซ้อนในตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทก็มีรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 53% สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งคาดว่าจำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติจากตะวันออกกลางและประเทศเพื่อนบ้านของไทยจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ป่วยจากประเทศจีนและจากทวีปอาฟริกาที่ต้องเดินทางมาไกล และคาดว่าอุปสงค์จากผู้ป่วยชาวจีนซึ่งได้รับผลกระทบชั่วคราวจากนโยบาย ?Zero COVID? ของรัฐบาลจีนก็น่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ในระยะปานกลางทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถขยายฐานรายได้และคงสถานะทางการแข่งขันที่เข้มแข็งในตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ต่อไปได้

มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2565

ในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 2.11 พันล้านบาทหลังจากที่ธุรกิจของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด 19 โดยจำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติลดลงในปี 2563 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ผู้ป่วยชาวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเวชธานีมากยิ่งขึ้น โดยเข้ามารักษาโรคที่มีความซับซ้อนและมีความรุนแรงสูง เช่น การทำศัลยกรรมบางประเภทและการรักษาแผลจากโรคเบาหวาน โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยชาวต่างชาติจะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าผู้ป่วยในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างรายได้จากการดูแลเป็นพิเศษและมีความซับซ้อน

ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเวชธานีมีจำนวนทั้งสิ้น 687 รายต่อวัน เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั้งจากผู้ป่วยชาวไทยและผู้ป่วยชาวต่างชาติ ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยในโดยเฉลี่ยต่อวันนั้นเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาอยู่ที่จำนวน 133 เตียงต่อวัน

ในอนาคต ด้วยแผนของภาครัฐที่ต้องการเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติอย่างเต็มที่ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าจำนวนผู้ป่วยต่างประเทศที่เดินทางโดยเครื่องบินเพื่อเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นและการเติบโตของรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติจะช่วยทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในการคาดการณ์กรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโต 8%-15% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ระดับ 580-650 ล้านบาทต่อปีในช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโรค โควิด 19 โดยอัตรา EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทนั้นมีความเสถียรอยู่ที่ระดับ 22%-24% ซึ่งใกล้เคียงกับบริษัทในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2564 บริษัทมี EBITDA เกือบ 550 ล้านบาท โดยมี EBITDA Margin อยู่ที่ระดับ 25.3% บริษัทให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดการสิ้นเปลือง และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะคงระดับ EBITDA Margin เอาไว้ที่ระดับประมาณ 24%-26% ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นและสัดส่วนการรักษาพยาบาลเฉพาะทางและการรักษาพยาบาลในระดับที่สูงกว่าระดับตติยภูมิที่มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาทรัพยากรด้านบุคลากรทางการแพทย์ของบริษัท

ความเสี่ยงจากการมีโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียว

รายได้เกือบทั้งหมดของบริษัทมาจากโรงพยาบาลเวชธานีซึ่งตั้งอยู่บนถนนลาดพร้าวในพื้นที่กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว ทั้งนี้ การมีสินทรัพย์หลักเพียงแห่งเดียวนั้นทำให้ฐานรายได้ของบริษัทมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2-3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2560-2564 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของรายได้รายรวมของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรซึ่งวัดจาก EBITDA ของบริษัทนั้นอยู่ที่ระดับ

300-650 ล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน

ทริสเรทติ้งเห็นว่ารายได้ของบริษัทมีการพึ่งพารายได้จากผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศอาหรับเป็นอย่างมาก ซึ่งความผันผวนของราคาน้ำมันและ/หรือภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในประเทศแถบตะวันออกกลางอาจส่งผลกระทบต่อระดับการใช้จ่ายและจำนวนของผู้ป่วยที่มาจากภูมิภาคนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการขยายฐานลูกค้าที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นจะช่วยทำให้การดำเนินงานและรายได้ของบริษัทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นในระยะยาว

มองหาโอกาสการเติบโตในโรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งใหม่

บริษัทกำลังลงทุนในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งใหม่ด้วยเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้จะมีห้องตรวจผู้ป่วยนอกจำนวน 27 ห้อง และหอผู้ป่วยในจำนวน 30 ห้องในอาคาร 8 ชั้นซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรี โดยคาดว่าโครงการโรงพยาบาลที่สร้างใหม่แห่งนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2566 นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจสู่การให้บริการในระดับที่สูงกว่าตติยภูมิเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตอีกด้วย

ทริสเรทติ้งมองว่าแผนการขยายธุรกิจอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินการและอาจเป็นแรงกดดันต่องบการเงินของบริษัทได้เนื่องจากโรงพยาบาลสุขภาพจิตแห่งใหม่อาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นและเป็นที่ยอมรับในด้านการรักษาพยาบาลทางจิตเวช

ระดับหนี้น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างปี 2565-2567

บริษัทมีหนี้สินรวมอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นจากเกือบ 600 ล้านบาทในปี 2562 เนื่องจากการก่อสร้างอาคารศูนย์กระดูกสันหลัง ข้อต่อและกระดูก (ศูนย์ออร์โธปิดิกส์) แห่งใหม่ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 1.3 เท่าและมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 62%

ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วงการพัฒนาโรงพยาบาลจิตเวชแห่งใหม่ในระหว่างปี 2565-2566 โดยครึ่งหนึ่งของเงินทุนที่ต้องใช้สำหรับโครงการนี้จะมาจากการเงินกู้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาทต่อปีสำหรับการปรับปรุงบำรุงรักษาโรงพยาบาลเวชธานี

เมื่อรวมการพัฒนาโรงพยาบาลจิตเวชแห่งใหม่ด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินรวมจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 35%

ปัจจุบันบริษัทกำลังทำการศึกษาเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลที่มีการรักษาระดับสูงมากอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งโครงการโรงพยาบาลแห่งใหม่นี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาทซึ่งคาดว่าจะพัฒนาได้ในช่วงปี 2567-2570 หลังจากโครงการโรงพยาบาลจิตเวชแล้วเสร็จ ซึ่งภายใต้สมมติฐานนี้ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทอาจเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 2-3.5 เท่าในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ได้

สัดส่วนหนี้ที่มีหลักประกันอยู่ในระดับสูง

ณ เดือนมีนาคม 2565 ประมาณ 70% ของหนี้สินรวมของบริษัทเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีหลักประกันต่อหนี้ทั้งหมดอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่า 50% ตามที่กำหนดใน ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงเห็นว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญต่อเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันในการเรียกร้องค่าทดแทนจากสินทรัพย์ของบริษัท

สภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนหลักของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 520 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 และคาดว่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกประมาณ 500 ล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่บริษัทจะใช้เงินทุนสำหรับการลงทุนที่จำนวน 450 ล้านบาทในปี 2565 และใช้ชำระหนี้ที่จะครบกำหนด

ในปี 2565 บริษัทมีเพียงหนี้ระยะสั้นที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 650 ล้านบาทโดยคาดว่าบางส่วนน่าจะได้รับการชำระคืนและบางส่วนน่าจะต้องมีการกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีการสำรองเงินสดและรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอเอาไว้ต่อไป

บริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญ 3 ประการที่มีกับธนาคาร ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ในระดับที่ต่ำกว่า 3.5 เท่า อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่า และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (DSCR) ที่ไม่น้อยกว่า 1 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2 เท่า 0.9 เท่าและ 4 เท่าตามลำดับ ในการนี้ จากผลการดำเนินงานที่ปรับดีขึ้นของบริษัท ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้จะเพิ่มขึ้น 8%-15% ต่อปีในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า

? EBITDA Margin จะอยู่ในช่วง 24%-26%

? เงินลงทุนจะอยู่ที่ระดับปีละ 450-850 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะใช้นโยบายทางการเงินที่รอบคอบเพื่อรักษาอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ ๆ เอาไว้ในระหว่างการพัฒนาโรงพยาบาลแห่งใหม่อีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ สามารถขยายฐาน EBITDA ให้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1 พันล้านบาทอย่างต่อเนื่อง และ/หรือบริษัทประสบความสำเร็จในการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ทั้งในด้านของที่ตั้งและ/หรือฐานลูกค้าในขณะที่ยังคงสถานะทางการเงินที่ดีเอาไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

บริษัท เวชธานี จำกัด (มหาชน) (VTN)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ