ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว ตลอดจนการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า ความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน รวมถึงการกระจายความหลากหลายไปในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากความกดดันด้านต้นทุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบ พร้อมทั้งการกระจุกตัวของลูกค้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความสามารถในการทำกำไรคงที่ในขณะที่มีความกดดันด้านต้นทุน
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางต้นทุนเชื้อเพลิงและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าราคาเชื้อเพลิงและโซดาแอซ (Soda Ash) จะส่งผลในด้านลบต่ออัตราการทำกำไรของบริษัท แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถบรรเทาการลดลงของอัตรากำไรได้โดยการเพิ่มราคาขาย ลดต้นทุนในการผลิตบางส่วน เปลี่ยนแปลงสูตรในการผลิต รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อที่จะใช้เชื้อเพลิงและวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การผลิตในปริมาณมากที่ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) และความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับผู้จัดหาวัตถุดิบซึ่งรวมถึงผู้จัดหาจำนวน 2 รายที่บริษัทได้ซื้อหุ้นในสัดส่วน 25%-26% ในปี 2562 เป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้ ในขณะที่ประสิทธิภาพในการผลิตและการใช้ประโยชน์จากเตาหลอมแก้วที่มากกว่า 80% ขึ้นไปยังช่วยลดต้นทุนในขั้นตอนการผลิตได้อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งโรงงานให้อยู่ใกล้เคียงกับลูกค้าและผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อช่วยลดต้นทุนในการขนส่งอีกด้วย
การเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและมาตรการผ่อนคลายจากทางภาครัฐยังช่วยเสริมการบริโภคสินค้าในธุรกิจเครื่องดื่มทั้งในส่วนของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วยทำให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
ยอดขายของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3%-5% ต่อปีระหว่างปีประมาณการ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 2.2-2.6 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่ได้บันทึกไว้ในปี 2561-2564 ทั้งนี้ อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 17%-19% ในช่วงปีประมาณการ
กระจายแหล่งรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ
การให้บริการบรรจุภัณฑ์ครบวงจรคือกลยุทธ์ของบริษัท ณ ปัจจุบัน โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นนั้นคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมยอดขายของบริษัทร่วมไปกับการเติบโตของบรรจุภัณฑ์แก้ว โดยที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นคาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักขึ้นไป (Double-digit Growth) ในระหว่างช่วงปีประมาณการ
ในปี 2564 บริษัทได้ซื้อหุ้น 100% ของบริษัทบรรจุภัณฑ์ 2 แห่งจาก บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอง โดยบริษัทบรรจุภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ได้แก่ บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติกสำหรับปิดบรรจุภัณฑ์ ขวดพลาสติก PET และหลอดพรีฟอร์ม (Preform) และ บริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกล่องกระดาษลูกฟูก โดยยอดเงินลงทุนในการซื้อกิจการทั้งหมดอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ในการนี้ รายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาทในปี 2564 และ 450 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ของรายได้รวมของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นจะอยู่ที่ 1.6-2.3 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของตลาดที่เป็นตลาดเครื่องดื่มภายในประเทศเป็นหลัก
บริษัทมียอดขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มถึงประมาณ 90% ของยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งหมดของบริษัท ในปี 2564 ขวดเบียร์ ขวดน้ำอัดลม และขวดสำหรับบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วน 41% 36% และ 13% ของยอดขายขวดทั้งหมดของบริษัทตามลำดับ การลดลงของยอดขายเครื่องดื่มทั้งประเภทที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายบรรจุภัณฑ์ของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทพยายามที่จะลดความเสี่ยงในส่วนนี้ลงโดยการเพิ่มยอดขายในต่างประเทศและเพิ่มยอดขายสินค้าในธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ ที่สร้างอัตรากำไรที่มากกว่า เช่น ธุรกิจอาหารและน้ำอัดลม ที่ต้องการบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีการออกแบบเฉพาะเป็นพิเศษเละสินค้าที่มีคุณภาพสูง
อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดอยู่ในระดับสูง
การที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้ามาในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วค่อนข้างยากเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนในการลงทุนที่สูงและต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าที่ให้การสนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการดั้งเดิมที่เป็นผู้นำตลาดอยู่แล้วยังถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่อีกด้วย
ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วชั้นนำในประเทศไทยต่างก็มีสายสัมพันธ์กับบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านเครื่องดื่มภายในประเทศซึ่งต่างก็เป็นผู้ซื้อบรรจุภัณฑ์แก้วรายสำคัญทั้งสิ้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่ 3 ราย คือ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบุญรอด (Boon Rawd Group) บริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (TCC Group) และ บริษัท สยามกลาส อินดัสทรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโอสถสภา (Osotspa Group)
นอกจากนี้ การประหยัดจากขนาดยังเป็นข้อจำกัดอีกประการหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเตาหลอมแก้วนั้นต้องมีการเปิดใช้งานอย่างต่อเนื่อง และจำนวนการผลิตต้องมีจำนวนมากเพียงพอที่จะใช้งานเตาหลอมแก้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาระหนี้อยู่ในระดับที่คงที่
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงที่ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ งบลงทุนระหว่างปี 2565-2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 2 พันล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในการลงทุนจะใช้สำหรับการซ่อมบำรุงเตาหลอมแก้วครั้งใหญ่จำนวน 1 พันล้านบาทต่อปี ใช้สำหรับการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นจำนวน 500 ล้านบาทต่อปี และใช้เพื่อการซ่อมบำรุงตามปกติ
จากสมมติฐานขั้นพื้นฐาน ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ระหว่าง 20%-25% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ 4 เท่าในระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งเทียบเท่ากับตัวเลขในช่วงระหว่างปี 2561-2564
ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับการชำระคืนก่อนจำนวน 3.8 พันล้านบาทจากหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมดจำนวน 7.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับการชำระคืนก่อนเมื่อเทียบกับหนี้สินรวมอยู่ที่ 49%
สภาพคล่องมีเพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 2 พันล้านบาท เงินสดในมือจำนวน 120 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงิน
7 พันล้านบาท ส่วนการใช้เงินทุนนั้นจะนำไปใช้จ่ายคืนเงินกู้จำนวน 1.6 พันล้านบาท และใช้ในแผนการลงทุนจำนวน
2 พันล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 3%-5% ในปี 2565-2567 เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคเครื่องดื่มโดยภาพรวม ทั้งในส่วนของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักขึ้นไปสำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่น
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15% และ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 17%-19% ในช่วงปี 2565-2567
? งบลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วเอาไว้ได้โดยมีธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่น สร้างรายได้สนับสนุนธุรกิจหลัก
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างมากและรักษาเสถียรภาพของอัตรากำไรได้โดยไม่ทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอลง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการที่ความสามารถในการทำกำไรและรายได้ของบริษัทลดลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่มีการลงทุนเชิงรุกมากเกินไปจนทำให้เกิดภาระหนี้ที่สูงขึ้นจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 6 เท่าหรือมากกว่าติดต่อกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็อาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตได้เช่นเดียวกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) (BGC)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable