ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่ดีในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของบริษัท ปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทประกอบไปด้วยคุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างอ่อนแอ ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทอาจจะอ่อนลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอและสภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมซึ่งอาจทำให้การเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับและการกลับมาขยายสินเชื่อเป็นไปอย่างจำกัด การควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ในอนาคต
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีฐานทุนที่แข็งแกร่งและการก่อหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ
ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทถือเป็นปัจจัยในด้านบวกต่ออันดับเครดิต โดยฐานทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวของสินเชื่อรวมของบริษัท และการสะสมผลกำไรอย่างต่อเนื่องจากอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับ 29.7% โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับประมาณ 21%-22% ในอดีต
ในด้านของการก่อหนี้นั้น บริษัทยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับ 0.76 เท่า ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 1.56 เท่าในปี 2562 จากฐานทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นและการก่อหนี้ที่ลดลง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งและภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำเอาไว้ได้ในระยะยาวจากกลยุทธ์การเติบโตอย่างระมัดระวัง
การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แข็งแกร่ง
ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทนั้นเกิดจากความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำมาจากการที่บริษัทสามารถบริหารและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า รวมไปถึงการมีโครงสร้างค่าใช้จ่ายที่ผันแปรในระดับสูง ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีความยั่งยืน ในปี 2564 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25.7% จากระดับ 28.9% ในปี 2563 และดีกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งซึ่งอยู่ในระดับเกินกว่า 50%
ในปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 400 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 18.6% จากปี 2563 การปรับตัวลดลงของกำไรนั้นมาจากการหดตัวของสินเชื่อรวม อัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยรับที่ลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรง และค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับสูงเพื่อคงระดับค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นระดับสูงไว้ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่สูงช่วยให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สามารถรองรับผลกระทบจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและผลกระทบจากการควบคุมอัตราดอกเบี้ยในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.62% ในปี 2564 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 4.96% ในปี 2563 โดยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าคู่แข่งที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 3%
คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น
คุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างอ่อนแอของบริษัทยังคงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่ออันดับเครดิตของบริษัท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทปรับตัวลดลงสู่ระดับ 5.94% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 จากระดับ 10%-11% ในอดีต อย่างไรก็ตาม การลดลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้นมาจากการตัดหนี้สูญจำนวนมากของบริษัทตั้งแต่ปี 2563 ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมกับการตัดหนี้สูญของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 19% ในไตรมาสแรกของปี 2565 จากระดับต่ำกว่า 18% ในอดีต โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการสะสางสินเชื่อด้อยคุณภาพของบริษัทและการอนุมัติสินเชื่ออย่างระมัดระวังจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ในด้านการตั้งสำรอง อัตราส่วนค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12.9% (ตัวเลขปรับให้เป็นเต็มปี) และ 11.5% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 และปี 2564 ตามลำดับ จาก 9.9% และ 7.8% ในปี 2563 และ 2562 เป็นผลจากนโยบายการคงระดับสำรองในระดับสูงในช่วงการเร่งตัดหนี้สูญ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างแข็งแรงที่ 227.5% โดยปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 179.9% และ 123.8% ในปี 2564 และ 2563 ตามลำดับ
ถึงแม้ว่าทริสเรทติ้งจะคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของทางบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้าอาจทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทมีความอ่อนแอมากขึ้นและอาจทำให้ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในระยะปานกลาง ในอีกมุมหนึ่ง โครงสร้างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำและฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแรงจะยังคงช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรและสถานะเครดิตของบริษัทท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอแม้จะมีภาระหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับสูง
สถานะแหล่งเงินทุนของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยมีอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพที่อยู่ในระดับ 137% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีสัดส่วนภาระหนี้ระยะสั้นที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีที่อยู่ในระดับสูง แต่ทริสเรทติ้งยังมองว่าความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้านั้นยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 สัดส่วนภาระหนี้ระยะสั้นของบริษัทอยู่ที่ระดับ 78.2% ของภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัท และจากภาระหนี้ระยะสั้นทั้งหมดที่จะครบกำหนดนั้นเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดภายใน 1 ปีอยู่ในสัดส่วน 62.6% และอีก 37.4% เป็นเงินกู้ระยะสั้น
ทริสเรทติ้งมองว่าความสัมพันธ์ที่ดีที่บริษัทมีกับสถาบันการเงินต่าง ๆ และวงเงินสินเชื่อคงเหลือที่เพียงพอนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้นแก่บริษัทท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่สามารถเบิกใช้ได้จำนวนประมาณ 1.8 พันล้านบาท โดยบริษัทประมาณการว่ากระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับจากการชำระคืนจากลูกหนี้ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 3.6 พันล้านบาท ในขณะที่ภาระการชำระคืนหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านบาท
การแข่งขันที่รุนแรงและเพดานอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อและกดดันต่อความสามารถในการทำกำไร
ในปี 2564 ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยและการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์และการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับตัวลดลง 11.8% และ 1.7% ในปี 2563 ซึ่งในปี 2564 ยอดขายรถจักรยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ระดับสินเชื่อรวมของผู้ประกอบการ 8 รายใหญ่ในฐานข้อมูลทริสเรทติ้งค่อนข้างคงที่ ถึงแม้ว่าความต้องการรถจักรยานยนต์ในปีนี้จะมีอยู่ในระดับสูง แต่การขาดตลาดของรถจักรยานยนต์ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์เติบโตแค่ 3% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ในด้านการปล่อยสินเชื่อ นโยบายการอนุมัติสินเชื่อมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นจากคุณภาพเครดิตของลูกค้าที่ปรับตัวอ่อนลงทำให้การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ยังคงเข้ามาในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ดังนั้น การแข่งขันจึงยังคงรุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภค จึงมีการพยายามผลักดันกฎหมายการควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยกฎระเบียบการควบคุมที่จะคาดว่าจะประกาศในไม่ช้านี้มีแนวโน้มที่จะควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30% ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อการเติบโตของสินเชื่อและความาสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้
? สินเชื่อของบริษัทจะคงที่ในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับ 5%-10% ต่อปีหลังจากนั้น
? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะคงอยู่ในระดับมากกว่า 20%
? อัตราผลตอบแทนจากรายได้ดอกเบี้ยต่อสินเชื่อรวมจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 25%
? ต้นทุนทางด้านเครดิตจะอยู่ในระดับมากกว่า 10% ในปี 2565 และจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 9% ต่อปีหลังจากนั้น
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 30%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าอย่างน้อยที่สุดบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ได้ ในขณะเดียวกันจะยังคงมีผลประกอบการทางการเงิน ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ และการก่อหนี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นในขณะที่ยังคงสามารถดำรงสถานะทางการเงินโดยรวมให้เข้มแข็งเอาไว้ได้ซึ่งสะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในระดับปานกลาง รวมถึงผลการดำเนินงานที่ดี และมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรเมื่อพิจารณาจากกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 1.5% หรือความเพียงพอของเงินทุนซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 15% อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (S11)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable