อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทนั้นยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การมีโรงไฟฟ้าที่หลากหลาย และการมีกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. อีกด้วย
อันดับเครดิตดังกล่าวยังได้พิจารณาถึงการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดของบริษัทจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อสนับสนุนโครงสร้างเงินทุนตามที่วางแผนไว้และเพื่อการลงทุนตามยุทธศาสตร์การเติบโตของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ
บริษัทยังคงมีสถานะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นจำนวน 7,392 เมกะวัตต์ (MW) โดยคิดตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของในแต่ละโครงการ ทั้งนี้ บริษัทยังมีโครงการอื่น ๆ ที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาหรือการก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองซึ่งมีกำลังการผลิตขนาด 1,540 MW ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของ 51% โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามจำนวน 2 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 55 MW ตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของ และโครงการโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น (ส่วนขยาย) ขนาด 30 MW ในจังหวัดปทุมธานี
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 โรงไฟฟ้าของบริษัทที่ดำเนินงานแล้วของบริษัทประมาณ 73% มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยทั้ง กฟผ. และ กฟภ. นั้นได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?AAA/Stable? จากทริสเรทติ้ง ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือของบริษัทนั้นมาจากโรงไฟฟ้าในต่างประเทศที่ดำเนินงานภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับหน่วยงานสาธารณูปโภคที่สำคัญในประเทศนั้น ๆ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทสาธารณูปโภคท้องถิ่นของประเทศออสเตรเลียซึ่งอยู่ในสัดส่วน 15% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท ตลอดจน PT Perusahaan Listrik Negara (PLN) ในประเทศอินโดนีเซีย 3% Electricite du Laos (EDL) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) 3% และ Vietnam Electricity (EVN) ของประเทศเวียดนาม อีก 2%
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ.
กระแสเงินสดของบริษัทสามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. โดยสัญญาดังกล่าวมีโครงสร้างราคาไฟฟ้าบนพื้นฐานของความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านการตลาดได้เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวยังมีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไปให้แก่ กฟผ. อีกด้วย ดังนั้น กระแสเงินสดของบริษัทจึงคาดว่าจะยังคงมีความแน่นอนสูงต่อไปตราบใดที่บริษัทสามารถดำรงความพร้อมของโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามเป้าหมายของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าตามคำสั่งของ กฟผ. ได้ ซึ่ง โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายความพร้อมจ่ายตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าที่บริษัทลงทุนในประเทศออสเตรเลียนั้นสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้แก่บริษัทได้ประมาณ 2.5-2.7 พันล้านบาทต่อปีหลังจากที่โครงการ ?Yandin? และโครงการ ?Collector? ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคมและเมษายน 2564 ตามลำดับ ทั้งนี้ ประมาณ 90%-95% ของกำลังการผลิตของบริษัทในออสเตรเลียมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทสาธารณูปโภครายใหญ่หลายแห่งในประเทศออสเตรเลีย
กระจายการลงทุนไปยังสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา บริษัทได้ขยายขอบเขตการลงทุนไปยังธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ หลายโครงการ โดยบริษัทมีการลงทุนไปแล้วประมาณ 3.7 พันล้านบาทในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในกรุงเทพฯ รวมถึงโครงการผลิตน้ำประปาใน สปป. ลาว และโครงการสาธารณูปโภคขนาดเล็กอื่น ๆ ในประเทศไทยด้วย
ในปี 2564 บริษัทใช้เงินลงทุน 4.5 พันล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นในสัดส่วน 15.5% ใน บริษัท เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หุ้นสามัญ 10% ใน บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) และหุ้นสามัญ 9.9% ใน Bangkok Chain International (Lao) Co., Ltd. ทั้งนี้ บริษัทเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพนั้นเป็นผู้ให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานในสนามบินต่าง ๆ ในประเทศไทย ในขณะที่บริษัทพริ้นซิเพิล แคปิตอลนั้นเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ
ในเดือนกันยายน 2564 บริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจดำเนินงานมอเตอร์เวย์ผ่านการร่วมทุน 10% ในกิจการร่วมค้า 2 แห่งซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีจีเอสอาร์ 6 จำกัด และ บริษัท บีจีเอสอาร์ 81 จำกัด ซึ่งกิจการร่วมค้าดังกล่าวได้ลงนามในสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 นอกจากนี้ ในปี 2565 บริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 75 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น 25% ของโรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนคร ซึ่งมีแผนจะเปิดดำเนินงานในปี 2566 นี้
เป้าหมายกำลังการผลิตรวม 10,000 MW ภายในปี 2568
บริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 จากกำลังการผลิตรวม 7,392 MW ณ เดือนมิถุนายน 2565 ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 บริษัทได้ลงทุนสำเร็จตามแผนในหลายโครงการซึ่งรวมถึงการซื้อหุ้น 52% ของ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) (SCG) มูลค่า 3.4 พันล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการผลิตรวมของบริษัทกว่า 125 MW นอกจากนี้ บริษัทยังได้ใช้เงินกว่า 1.8 พันล้านบาทเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการ Asahan-1 (โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศอินโดนีเซีย) เพิ่มเป็น 47.9% จากเดิม 26.6% ซึ่งช่วยให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 38 MW
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7,749 MW ภายในสิ้นปี 2568 จากโครงการใหม่ตามแผนในปัจจุบัน และพิจารณาถึงการปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาด 1,470 MW ของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่ากำลังการผลิตที่ยังขาดไปจากเป้าหมายกว่า 2,251 MW นั้นจะสร้างแรงกดดันให้บริษัทต้องพยายามหาโครงการใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการที่ต้องก่อสร้างใหม่หรือการเข้าซื้อหุ้นในโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วเพื่อชดเชยรายได้จากบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีที่จะทยอยลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้
การเพิ่มทุน
บริษัทประสบความสำเร็จในการระดมทุนจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทผ่านการการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นในเดือนมิถุนายน 2565 โดยบริษัทจะนำเงินที่ระดมทุนได้นี้ไปลงทุนในโครงการใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในเดือนตุลาคม 2564 ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อนุมัติการซื้อหุ้น 45.5% ของ Paiton Energy และการลงทุนในอีก 2 บริษัทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้เงินในการซื้อกิจการรวมประมาณ 810 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.9-3.0 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า Paiton Energy ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตรวม 2,045 MW มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ PLN ซึ่งเป็นหน่วยงานการไฟฟ้าของประเทศอินโดนีเซีย สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวจะหมดอายุสัญญา
ในปี 2585 (ระยะเวลาคงเหลือ 20 ปี) บริษัทคาดว่าธุรกรรมการลงทุนในครั้งนี้จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 และจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้แก่บริษัทได้ประมาณ 931 MW
โครงสร้างเงินทุนพร้อมรองรับการลงทุนในอนาคต
ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากหลังจากการเพิ่มทุนในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอที่จะรองรับแผนการลงทุนของบริษัท โดยคาดว่าบริษัทจะต้องใช้เงินประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการซ่อมบำรุง รวมถึงค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและการลงทุนในบริษัทร่วมตามข้อผูกพันที่มีอยู่ โดยบริษัทจะนำเงินที่ระดมทุนได้จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทนี้ไปลงทุนในโครงการใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการลงทุนใน Paiton Energy นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะดีขึ้นเป็น 30%-35% ในช่วงปี 2565-2567 จากเดิมที่ 40.2% ณ สิ้นปี 2564 ส่วน EBITDA นั้นมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.1-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 จากเดิม 1.03 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วง 4-5 เท่าในปี 2565-2567
ทริสเรทติ้งประมาณการเงินปันผลรับจากการลงทุนของบริษัทในปี 2565 ไว้ที่ 3.0-3.5 พันล้านบาท ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 4.5-6.5 พันล้านบาทในปี 2566-2567 จากผลตอบแทนที่ได้รับเต็มที่หลังจากการซื้อกิจการแล้วเสร็จ
สภาพคล่องแข็งแกร่ง
บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยแหล่งที่มาของสภาพคล่องประกอบด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 9.9 พันล้านบาท วงเงินกู้จากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ณ เดือนมีนาคม 2565 ประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเงินสดรับจากการเพิ่มทุนในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าอีกประมาณ 9.5-10.5 พันล้านบาท ในขณะที่อีก 12 เดือนข้างหน้านั้นบริษัทจะมีเงินกู้ที่ต้องชำระคืนจำนวน 7.4 พันล้านบาทและค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนในบริษัทร่วมตามข้อผูกพันอีกประมาณ 3.4-3.6 หมื่นล้านบาท
โครงสร้างหนี้
ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีภาระหนี้รวม 5.98 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 2.48 หมื่นล้านบาทและเงินกู้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อยต่าง ๆ ของบริษัทจำนวน 2.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 46% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตราส่วนนี้ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% เอาไว้ได้ในระยะ 3 ปีข้างหน้า
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ กฟผ.
กฟผ. มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 45% นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งในปี 2543 ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ กฟผ. เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการถือหุ้นและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กฟผ. มีอิทธิพลต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทผ่านทางคณะกรรมการบริษัท โดยกรรมการบริษัทจำนวนครึ่งหนึ่งและคณะกรรมการการลงทุนทั้งหมดของบริษัทนั้นล้วนเป็นตัวแทนของ กฟผ. ทั้งสิ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กฟผ. จะยังคงถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนดังกล่าวต่อไปในอนาคตสมมติฐานกรณีพื้นฐาน
?
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้
? EBITDA ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.10-1.20 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.10-1.40 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
? เงินปันผลที่จะได้รับจากการลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.0-3.5 พันล้านบาทในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.5-6.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
? ค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งโครงการที่มีข้อผูกพันจะอยู่ที่ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งรวมการลงทุนในโครงการ Paiton Energy ด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวต่อไป และทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วง 4-5 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่จะทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้นนั้นยังมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทถูกปรับลดลงต่ำกว่าระดับ ?a+? ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับผลกระทบเช่นกันหากสถานะเครดิตของ กฟผ. เปลี่ยนแปลงไปหรือระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและ กฟผ. อ่อนแอลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH)
อันดับเครดิตองค์กร: AA+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
RATCH23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA+
RATCH25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA+
RATCH30NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA+
RATCH35NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2578 AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable