ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจ จำกัด (สอ.รพ.) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานในระดับที่น่าพอใจของ สอ.รพ. ตลอดจนสินเชื่อที่มีคุณภาพสูงต่อเนื่อง และความได้เปรียบทางการแข่งขันจากสิทธิพิเศษด้านกฎระเบียบที่สหกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีและมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สหกรณ์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการที่ สอ.รพ. มีการระดมเงินทุนที่ต้องพึ่งพิงเงินฝากจากสมาชิกสมทบค่อนข้างมาก ตลอดจนการมีโครงสร้างเงินทุนที่ค่อนข้างอ่อนแอ และความเสี่ยงที่ต้องพึ่งพิงบุคคลสำคัญในคณะผู้บริหาร รวมทั้งการกำกับดูแลตามกฎระเบียบของสหกรณ์ออมทรัพย์โดยทั่วไปที่ยังไม่ค่อยเพียงพอในมุมมองของทริสเรทติ้ง
ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าว ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงความพร้อมของ สอ.รพ. ที่จะปรับตัวและปฏิบัติให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบใหม่ที่ใช้ควบคุมการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษ
สิทธิพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับอันได้แก่ การยกเว้นภาษีหลัก ๆ และการมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ นั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ สหกรณ์ออมทรัพย์และสมาชิกได้รับการยกเว้นภาษีหลัก ๆ เช่น ภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีจากเงินลงทุน นอกจากนี้ พ.ร.บ. สหกรณ์ยังกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ในการได้รับดอกเบี้ยและได้รับชำระคืนเงินกู้จากลูกหนี้อีกด้วย สิทธิพิเศษด้านบุริมสิทธิ์ดังกล่าวช่วยให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีข้อได้เปรียบในการให้กู้แก่สมาชิกเหนือกว่าสถาบันการเงินอื่น ๆ ในขณะที่เงินกู้ส่วนใหญ่ที่ให้แก่สมาชิกสามัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมินั้นดำเนินการภายใต้ข้อตกลงกับนายจ้างหรือหน่วยงานต้นสังกัดว่าการชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของเงินกู้ตามงวดนั้นสามารถใช้วิธีหักจากเงินเดือนของสมาชิกได้ กรณีดังกล่าวจึงส่งผลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิส่วนใหญ่มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและมีความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายหนี้เสียของเงินที่ให้กู้แก่สมาชิกของสหกรณ์ที่ต่ำกว่าด้วย
มีการพึ่งพิงเงินฝากจากสมาชิกสมทบ
เงินทุนของ สอ.รพ. มาจากเงินฝากของสมาชิกเป็นหลัก โดยสมาชิกของ สอ.รพ. จำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ ซึ่งตามเงื่อนไขของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วไปนั้น สมาชิกสามัญจะต้องเป็นพนักงานของหน่วยงานต้นสังกัด ดังนั้น ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ประจำของโรงพยาบาลตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกสามัญของ สอ.รพ. ได้เท่านั้น ส่วนสมาชิกสมทบของ สอ.รพ. นั้นคือสมาชิกที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ประจำของโรงพยาบาลตำรวจแต่มีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกสามัญของ สอ.รพ. หรือมีความเกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งกับ สอ.รพ. ดังนั้น ความพยายามในการขยายฐานเงินฝากในอดีตจึงทำให้ สอ.รพ. มีเกณฑ์การรับสมาชิกสมทบที่ค่อนข้างผ่อนปรน
เมื่อพิจารณาจากเงินฝากจากสมาชิกทั้งหมดของ สอ.รพ. ณ เดือนมีนาคม 2565 แล้วจะเห็นว่าสัดส่วนประมาณ 86% เป็นเงินฝากจากสมาชิกสมทบและอีก 14% มาจากสมาชิกสามัญ การมีอัตราดอกเบี้ยที่ดึงดูดใจและการได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยรับช่วยให้ สอ.รพ. สามารถระดมเงินทุนจำนวนมากจากเงินฝากออมทรัพย์ของสมาชิกสมทบ อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากสมาชิกสมทบมากเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของฐานเงินทุนในระยะยาวของ สอ.รพ. ได้ ทั้งนี้ สมาชิกสมทบส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะคงเงินฝากเอาไว้เพียงเพราะ สอ.รพ. ยังสามารถจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่น่าสนใจเท่านั้น ซึ่งต่างจากสมาชิกสามัญที่ยังมีผลประโยชน์อื่น ๆ จากการเป็นสมาชิกของ สอ.รพ. อย่างไรก็ตาม สอ.รพ. ก็รับเงินฝากจากสหกรณ์อื่นเพื่อทดแทนเงินฝากจากสมาชิกสบทบที่มีแนวโน้มที่อาจลดลง โดย ณ เดือนกันยายน 2564 สัดส่วนเงินฝากจากสหกรณ์อื่นเพิ่มขึ้นเป็น 11% ของเงินรับฝากทั้งหมดของ สอ.รพ. จากเดิมที่ระดับ 3%-6% ของเงินรับฝากทั้งหมดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวปรับลดลงเป็น 8% ณ เดือนมีนาคม 2565 ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าเงินรับฝากจากสหกรณ์อื่นก็มีความไม่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินฝากจากสมาชิกสมทบ นอกจากนี้ เงินรับฝากจากสหกรณ์อื่นยังอาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการกระจุกตัวของเงินรับฝากอีกด้วย
เพื่อที่จะลดทอนความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเงินฝากทั้งที่มาจากสมาชิกสมทบและจากสหกรณ์อื่น สอ.รพ. จึงได้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวนมากและคงวงเงินกู้ยืมที่มีกับสถาบันการเงินอื่น ๆ เอาไว้โดยยังไม่เบิกใช้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของ สอ.รพ. อยู่ในระดับที่จัดการได้ตราบเท่าที่ สอ.รพ. ยังคงมีสิทธิพิเศษทางภาษีที่สามารถเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ดึงดูดใจและยังคงนโยบายการลงทุนที่ระมัดระวังเพื่อที่จะดำรงสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเอาไว้ได้ ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดหวังว่า สอ.รพ. จะทยอยลดการพึ่งพิงเงินรับฝากจากสมาชิกสมทบลงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ซึ่งมีกฎเกณฑ์ในการรับสมาชิกสมทบที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
เงินให้กู้ยืมมีคุณภาพสูง
สอ.รพ. ไม่มีเงินให้กู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 90 วัน) มาตั้งแต่รอบปีบัญชี 2550 โดยเงินให้กู้รวมของ สอ.รพ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของสินทรัพย์รวมใน 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวปรับลดลงเป็น 24% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 เป็นผลมาจากกฎระเบียบการให้กู้ยืมที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ สัดส่วนประมาณ 85% ของเงินให้กู้ยืมทั้งหมดนั้นเป็นเงินที่ให้กู้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่น ในขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่ให้กู้แก่สมาชิกสามัญของ สอ.รพ. เอง ซึ่งเงินให้กู้ยืมดังกล่าวได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินลงทุนของ สอ.รพ. เอง อย่างไรก็ตาม ความต้องการเงินกู้ยืมจากสมาชิกของ สอ.รพ. ยังอยู่ในระดับต่ำ เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์ออมทรัพย์รายใหญ่ 10 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วน 48% ของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่นโดยรวม ณ เดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับเฉลี่ยที่ 30% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า สอ.รพ. จะลดความเสี่ยงของการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่นได้ และยังคาดหวังให้ สอ.รพ. ยังคงรักษานโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดต่อไปด้วย
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ในมุมมองของทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของ สอ.รพ. ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าจะยังคงมีเพียงพอที่จะรองรับปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวที่เหนือความคาดหมายตามขนาดของการดำเนินงานในปัจจุบันจากการที่ สอ.รพ. มีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินหลายแห่ง นอกจากนี้ ณ เดือนกันยายน 2564 สอ.รพ. ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่อง (เงินสดและเงินลงทุนในหลักทรัพย์) คิดเป็นสัดส่วน 53% และเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 65% ของสินทรัพย์รวม ณ เดือนมีนาคม 2565 เนื่องมาจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่า สอ.รพ.จะบริหารพอร์ตการลงทุนอย่างระมัดระวังเนื่องจากการลงทุนจำนวนมากอาจเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านราคาตลาดด้วย
สอ.รพ. มีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องที่ระดับประมาณ 21.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์สินทรัพย์สภาพคล่องของกฎระเบียบใหม่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 สอ.รพ. มีเงินลงทุนในหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 695 ล้านบาทซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 4% ของสินทรัพย์รวมและ 26% ของทุนทั้งหมดของ สอ.รพ. ปัจจุบันบริษัทการบินไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวทริสเรทติ้งได้พิจารณารวมไปถึงการทยอยรับรู้การตั้งสำรองการด้อยค่าเงินลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยตามที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนดวิธีปฏิบัติทางบัญชีไว้ ในการนี้ สอ.รพ. ได้ทำการสะสมทุนสำรองเพื่อความมั่นคงในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะรองรับผลขาดทุนจากการลงทุนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอ
โครงสร้างเงินทุนของ สอ.รพ. อยู่ในระดับที่อ่อนแอจากการมีนโยบายระดมทุนในเชิงรุก แม้ว่าส่วนทุนของ สอ.รพ. จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้อัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์รวมของ สอ.รพ. เพิ่มขึ้นเป็นระดับ 15.1% ณ สิ้นปีบัญชี 2564 จากระดับ 7.7% ณ สิ้นปีบัญชี 2560 แต่อัตราส่วนดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์รายใหญ่อื่น ๆ ที่ก่อตั้งมานานมีอัตราส่วนเงินทุนต่อสินทรัพย์รวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 40%
พัฒนากระบวนการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงบุคคลสำคัญ
สอ.รพ. สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิกที่ถือหุ้นในระดับสูงสุดเท่าที่กฎหมายอนุญาตคือ 10% ของทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วตั้งแต่รอบปีบัญชี 2552 เป็นต้นมา สถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของ สอ.รพ. ค่อนข้างขึ้นอยู่กับสมาชิกสำคัญรายหนึ่งในคณะผู้บริหาร ซึ่งทริสเรทติ้งเห็นว่าการดำเนินงานของ สอ.รพ. มีการพึ่งพิงบุคคลเพียงรายเดียวมากเกินไป ดังนั้น สอ.รพ. จึงมีความพยายามที่จะลดความเสี่ยงจากการต้องพึ่งพิงบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากเกินไปด้วยการพัฒนารวมทั้งปรับปรุงนโยบายและกระบวนการดำเนินงานให้เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในการสนับสนุนกิจกรรมของธุรกิจหลักทั้งหมดของ สอ.รพ. อีกด้วย
การกำกับดูแลที่ยังไม่เพียงพอ
การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์มีความเข้มงวดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินซึ่งมีการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดและเข้มงวดมากกว่า ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สร้างข้อจำกัดให้แก่สถานะอันดับเครดิตของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย ถึงแม้ว่ากรอบกฎระเบียบใหม่จะช่วยในการควบคุมกิจการของสหกรณ์ได้เข้มงวดยิ่งขึ้น แต่การบังคับใช้กฎระเบียบทั้งหลายให้มีประสิทธิภาพได้นั้นจะต้องมีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดและอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ปฏิบัติตามได้อย่างแท้จริง ซึ่งดูเหมือนว่าการดำเนินการดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
สอ.รพ. มีความพร้อมในการปรับตัวและปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่
ทริสเรทติ้งมองว่า สอ.รพ. มีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวและปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ได้เป็นอย่างดีโดยไม่มีประเด็นกังวลร้ายแรงเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดกับการดำเนินงานของ สอ.รพ. ทั้งนี้ ในเบื้องต้นแล้วกฎระเบียบใหม่ดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อใช้ในการกำกับดูแลสหกรณ์ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของกิจกรรมที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน การให้กู้ยืม และการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ ในการนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่ากฎระเบียบใหม่นี้เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในระยะยาวของสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินของไทย
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอาจจะเป็นอุปสรรคต่อโอกาสในการเติบโตของ สอ.รพ. และจะทำให้ผลการดำเนินงานทางการเงินของ สอ.รพ. อ่อนแอลงในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างเงินทุน การก่อหนี้ และเกณฑ์ในการให้กู้ยืมที่เข้มงวดยิ่งขึ้นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของ สอ.รพ. อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมิได้คาดหวังว่าผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของ สอ.รพ. จะส่งผลกระทบต่อสถานะเครดิตโดยรวมของ สอ.รพ. อย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน กฎระเบียบใหม่ดังกล่าวน่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการบริหารความเสี่ยงและโครงสร้างเงินทุนซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในระยะยาวให้แก่ สอ.รพ.
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของ สอ.รพ. ในระหว่างปีบัญชี 2565-2567 ดังนี้
? ทุนจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 15% ต่อปี
? เงินให้กู้ยืมจะชะลอตัวที่ระดับ 30% ในปีบัญชี 2565 และจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 10% ต่อปีในระหว่างปีบัญชี 2566-2567
? ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.7%-0.9%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า สอ.รพ. จะยังคงสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่น่าพึงพอใจเพื่อให้ผลตอบแทนที่ยอมรับได้แก่สมาชิกต่อไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่า สอ.รพ. จะสามารถปรับตัวและปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มในการเพิ่มอันดับเครดิตของ สอ.รพ. มีข้อจำกัดจากกรอบการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์โดยทั่วไปที่ยังขาดการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดและการติดตามตรวจสอบที่เข้มงวดจากหน่วยงานรับผิดชอบ ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากนโยบายด้านการดำเนินงานและการเงินเป็นเชิงรุกมากยิ่งขึ้นจนส่งผลทำให้สถานะทางการเงินหรือคุณภาพสินทรัพย์เสื่อมถอยลง หรือ สพ.รพ. มีการขาดทุนจำนวนมากจากเงินลงทุน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใด ๆ ที่จะลดทอนสิทธิพิเศษของสหกรณ์ออมทรัพย์ก็อาจมีผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของ สอ.รพ. ได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสหกรณ์ออมทรัพย์, 28 กันยายน 2563
สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจ จำกัด (PHSC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable