ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Positive? หรือ ?บวก? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้าน ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ดีและการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพของบริษัท
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ด้านสินค้าที่เกี่ยวกับบ้าน ตลอดจนการที่บริษัทมีวงจรเงินสดที่ยาวนานและต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการขยายสาขา นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการฟื้นตัวที่เปราะบางของภาวะเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และความผันผวนของราคาเหล็กอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทเติบโตอย่างมีนัยสำคัญแม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ปิดเมือง (Lockdown) และการปิดสาขาชั่วคราวจากผลกระทบของโรคโควิด 19 โดยรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น 37.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 2.6 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และเพิ่มขึ้น 30.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 1.6 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายจากสาขาเดิมและรายได้จากสาขาใหม่ ๆ
บริษัทมีอัตราการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมที่น่าพอใจ โดยยอดขายจากสาขาเดิมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 25.5% ในปี 2564 และ 17.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาเหล็กและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงจำนวนลูกค้าและปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทมีการคัดสรรประเภทของสินค้าที่มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นและจากผลของการปรับปรุงสาขาเดิมให้มีบรรยากาศที่ดีขึ้น
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 3.2-4.3 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ระดับ 15%-25% ต่อปี ทั้งนี้ การเติบโตที่แข็งแกร่งดังกล่าวอาจจะมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้จากสาขาที่เปิดใหม่ของบริษัท ตลอดจนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้น รวมทั้งการนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ และการทำกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ
มีอัตรากำไรที่น่าพอใจ
บริษัทมีอัตรากำไรที่น่าพอใจในปี 2564 โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทเพิ่มขึ้น 88.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 3.1 พันล้านบาทในปี 2564 ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อยอดขายก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12.0% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 8.8% ในระหว่างปี 2562-2563 จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็ก ตลอดจนการมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ (Product Mix) ที่ดีขึ้นและรายได้ที่เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ที่เป็นตราสินค้าของบริษัท (House Brand Products) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ได้ส่งผลทำให้อัตราส่วน EBITDA ต่อยอดขายของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 แม้ว่าอัตรากำไรจะปรับตัวลดลง แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับกำไรที่ดีเอาไว้ได้โดยสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทในการมุ่งเน้นสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเอง ตลอดจนการคัดสรรสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น และการลดต้นทุนในการดำเนินงานซึ่งจะบรรลุผลได้ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.0-4.2 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 และอัตราส่วน EBITDA ต่อยอดขายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 9%-10% ในช่วงเวลาเดียวกัน
มีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดในธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับบ้าน
สถานะทางธุรกิจของบริษัทเกิดจากการมีผลงานที่ยาวนานถึง 39 ปีในธุรกิจจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างและสินค้าเกี่ยวกับบ้าน โดยบริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจในจังหวัดอุบลราชธานีก่อนที่จะขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีสาขาทั้งสิ้นจำนวน 27 แห่งซึ่งประกอบด้วยสาขาขนาดใหญ่ 18 แห่งและสาขาขนาดเล็ก (ToGo) 9 แห่งด้วยพื้นที่รวม 910,445 ตารางเมตร (ตร.ม.)
ส่วนในแง่ของรายได้นั้น บริษัทจัดอยู่ในอันดับที่สี่ในกลุ่มร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับบ้าน โดยผู้ประกอบการรายใญ่ 6 อันดับแรกประกอบด้วย ?โฮมโปร? ?สยามโกลบอลเฮ้าส์? ?ซีอาร์ซี ไทวัสดุ? ?ดูโฮม? ?บุญถาวร? และ ?อินเด็กซ์ ลีฟวิ่งมอลล์?
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมารายได้รวมของบริษัทเติบโตที่ระดับ 2.6 หมื่นล้านบาทในปี 2564 จาก 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2554 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate -- CAGR) ที่ระดับ 9.4% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากการเปิดสาขาใหม่ ๆ ซึ่งได้ประโยชน์จากการที่พื้นที่ในต่างจังหวัดขยายตัวสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
?
สู่การเติบโตโดยใช้รูปแบบสาขาที่มีขนาดเล็กลง
บริษัทเข้าสู่ธุรกิจวัสดุก่อสร้างและสินค้าเกี่ยวกับบ้านโดยมีรูปแบบที่เป็นร้านค้าขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่เฉลี่ยต่อสาขาประมาณ 55,000 ตร.ม. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโต บริษัทได้เร่งแผนการขยายสาขาโดยใช้รูปแบบร้านค้าที่มีขนาดเล็กลงด้วยพื้นที่เฉลี่ย 30,000 ตร.ม. แทนที่ร้านค้าขนาดใหญ่ในรูปแบบดั้งเดิม แม้ว่าจะมีพื้นที่เล็กลง แต่ร้านค้าของบริษัทยังสามารถจัดจำหน่ายสินค้าที่มีความหลากหลายให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคได้เช่นเดิมโดยใช้ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval System Warehousing ? ASRS Warehousing) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและลดพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้า
บริษัทวางแผนจะเปิดร้านค้าเพิ่มที่จำนวน 5 สาขาต่อปีในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่ารูปแบบร้านค้าที่มีขนาดเล็กลงมีความเหมาะสมกับกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทที่จะขยายสาขาไปยังจังหวัดที่สำคัญ ๆ โดยใช้เงินลงทุนที่น้อยลง กล่าวคือ การมีขนาดสาขาที่เล็กลงจะใช้เงินลงทุนที่ลดลงและใช้จำนวนพนักงานที่น้อยลงในขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถเร่งการขยายสาขาในเมืองใหญ่ ๆ ได้และมีระยะเวลาการคืนทุนที่เร็วขึ้นอีกด้วย
มีวงจรเงินสดที่ค่อนข้างยาวนาน
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทในเรื่องการมุ่งเน้นความเพียงพอและความหลากหลายของสินค้า บริษัทจึงมีปริมาณสินค้าคงคลังจำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัทยังมีนโยบายในการให้เครดิตแก่ลูกค้าในกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างและร้านค้าช่วงด้วย ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลทำให้บริษัทมีวงจรเงินสดที่ค่อนข้างยาวนานเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยวงจรเงินสดเฉลี่ยของกลุ่มร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับบ้านจะอยู่ที่ประมาณ 96-115 วันในช่วงปี 2560-2564 ในขณะที่วงจรเงินสดของบริษัทอยู่ที่ 121 วันในปี 2560 และเพิ่มขึ้นเป็น 174 วันในปี 2564
ทริสเรทติ้งมองว่าวงจรเงินสดของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงการขยายสาขาจำนวนมากโดยจะค่อย ๆ ลดลงตามแผนการปรับปรุงของผู้บริหาร ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจัดการปัญหาดังกล่าวโดยใช้ระบบจัดการสินค้าแบบอัตโนมัติ ตลอดจนใช้วิธีการสั่งซื้อสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดจำนวนสินค้าที่มีการเคลื่อนไหวช้าให้เหลือน้อยลง
มีโครงสร้างเงินทุนที่ดีขึ้น แต่คาดว่าภาระหนี้สินจะเพิ่มขึ้นจากการขยายสาขา
ด้วยผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและการเพิ่มทุน อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจึงปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2564 บริษัทได้ระดมทุนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญแก่บุคคลในวงเงินจำกัด (Private Placement) เป็นเงินรวม 1.98 พันล้านบาท ส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 3.8 เท่าในปี 2564 และ 5.8 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 6.4 เท่าในปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 57.9% ณ เดือนมิถุนายน 2565 เมื่อเทียบกับระดับ 59.9% ในปี 2563
ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนรวมที่ประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปีสำหรับการเปิดสาขาขนาดใหญ่ที่จำนวน 5 แห่งเพื่อให้เป็นไปตามแผนการเติบโตของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.9-5.4 เท่าในช่วงปี 2565-2567 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 56%-57% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทโดยส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินที่มีสินทรัพย์ของสาขาของบริษัทเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ หนี้สินที่มีหลักประกันของบริษัทมีสัดส่วนประมาณ 79% ของหนี้สินรวมซึ่งบ่งบอกว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะมีความเสียเปรียบเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันในการเรียกร้องสิทธิ์เหนือทรัพย์สินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญในกรณีที่บริษัทล้มละลายและไม่สามารถชำระหนี้ได้
มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวนประมาณ 129 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 และเงินทุนจากการดำเนินงานซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.0 พันล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินหลายแห่งอีกประมาณ 2.3 พันล้านบาทด้วย ในขณะที่ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทมีภาระที่จะต้องจ่ายชำระหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนดจำนวนทั้งสิ้น 700 ล้านบาทและมีค่าใช้จ่ายตามแผนลงทุนรวมอยู่ที่จำนวนราว ๆ 4 พันล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้นที่ระดับ 25% ในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับ 15%-17% ในช่วงปี 2566-2567 จากการเปิดสาขาใหม่ ๆ
? อัตราส่วนกำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 17%-18% และอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 9%-10% ในระหว่างปี 2565-2567
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Positive? หรือ ?บวก? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านได้ต่อไป พร้อมทั้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรและระดับหนี้เอาไว้ได้ในขณะที่มีการขยายสาขาตามแผนการเติบโตของบริษัท
?
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทยังคงสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีเอาไว้ได้โดยไม่ทำให้โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ความสามารถในการทำกำไรและรายได้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือในกรณีที่บริษัทมีการก่อหนี้เพิ่มและ/หรือกระแสเงินสดลดลงจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงเกินกว่า 7 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) (DOHOME)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive