ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงระดับความสัมพันธ์ในระดับสูงระหว่าง กฟน. กับรัฐบาลไทยและบทบาทที่สำคัญของ กฟน. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่พื้นที่ในเขตนครหลวงของประเทศ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในพื้นที่ให้บริการของ กฟน. ตลอดจนกระแสเงินสดที่แน่นอนภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ส่งผ่านต้นทุนได้ (Cost-plus Tariff Structure) รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และนโยบายทางการเงินที่มีความระมัดระวัง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลในระดับสูง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าความสัมพันธ์ของ กฟน. กับรัฐบาลไทยนั้นอยู่ในระดับที่มีความแนบแน่นเนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของ กฟน. โดยผ่านทางกระทรวงการคลัง อีกทั้ง กฟน. ยังดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีบทบาทในการควบคุมกลยุทธ์การดำเนินงานของ กฟน. โดยผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้ว่าการของ กฟน.
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กฟน. จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากรัฐบาลไทยอย่างทันเวลาและเพียงพอในกรณีที่รายได้ของ กฟน. ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการชำระหนี้สินตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501
มีบทบาทที่สำคัญในการจำหน่ายไฟฟ้าในเขตพื้นที่นครหลวงของประเทศไทย
กฟน. เป็นหนึ่งในสองรัฐวิสาหกิจที่ดูแลการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยมีหน้าที่ รับผิดชอบในพื้นที่ 3 จังหวัดที่สำคัญซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ในขณะที่รัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่งคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?AAA? จากทริสเรทติ้ง) นั้นรับผิดชอบในการให้บริการในพื้นที่ 74 จังหวัดที่เหลือ
สถานะเครดิตของ กฟน. สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญขององค์กรที่มีต่อทั้งรัฐบาลไทยและระบบการจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ ทั้งนี้ ภารกิจหลักของ กฟน. คือการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรีซึ่งมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 26%-27% ของการใช้ไฟฟ้ารวมของประเทศ นอกจากนี้ กฟน. ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนนโยบายและการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย
ในปี 2564 กฟน. มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 3,192 ตารางกิโลเมตรและดำเนินงานโครงข่ายระบบจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 53,660 วงจรกิโลเมตร รายได้ของ กฟน. อยู่ที่ประมาณ 1.87 แสนล้านบาทและมียอดจำหน่ายไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 49,561 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดย กฟน. ซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ได้ประโยชน์จากการให้บริการในเขตพื้นที่นครหลวงที่มีอุปสงค์ในระดับสูง
กฟน. ได้รับประโยชน์จากให้บริการในพื้นที่นครหลวงซึ่งมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากและมีความแน่นอนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 49,561 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2564 จาก 44,167 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2554 หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1.2%
ทริสเรทติ้งมองว่าการมีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากและหลากหลายประเภทนั้นถือเป็นปัจจัยบวกในการสนับสนุนความมีเสถียรภาพด้านรายได้ของ กฟน. โดยในปี 2564 กฟน. มีลูกค้าประมาณ 4.11 ล้านรายซึ่งมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 2.8% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กฟน. ยังได้รับประโยชน์จากอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Progressive Rate อันเนื่องมาจากความหนาแน่นของประชากรและปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อผู้ใช้หนึ่งรายที่สูงอีกด้วย
มีกำไรที่มั่นคงจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ส่งผ่านต้นทุนได้
โครงสร้างค่าไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญในการช่วยปกป้องการดำเนินงานของ กฟน. จากความเสี่ยงด้านต้นทุนค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นั้นได้รับการออกแบบให้มีรายได้ครอบคลุมการลงทุนที่จำเป็นและให้ผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งซึ่งได้แก่ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. นอกจากนี้ โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้านั้นยังมีกลไกในการปรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหรือค่า Ft ที่ส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าไปยังผู้บริโภคปลายทางอีกด้วย
ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าดังกล่าว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธุรกิจของ กฟน. จะสามารถสร้างผลกำไรที่เพียงพอและมีอัตรากำไรที่มั่นคง ทั้งนี้ ส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาซื้อไฟฟ้าของ กฟน. ค่อนข้างคงที่โดยอยู่ในช่วง 0.99-1.03 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในระหว่างปี 2560-2564 ที่ผ่านมา
?
ความสามารถในการทำกำไรอยู่ภายใต้ข้อจำกัดจากการควบคุมอัตราผลตอบแทน
อัตรากำไรของ กฟน. นั้นถูกจำกัดเนื่องจาก กฟน. มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบในการส่งมอบรายได้ส่วนเกินของ กฟน. ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งสถานะการเงินของ กฟน. เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดโดย กกพ. ทั้งนี้ เนื่องจาก กฟน. ได้ประโยชน์จากการให้บริการในพื้นที่นครหลวงและสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า กฟภ. เป็นอย่างมาก ดังนั้น กกพ. จึงกำหนดให้ กฟน. จะต้องนำส่งรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อมาช่วยเหลือการดำเนินงานของ กฟภ. นอกจากนี้ กฟน. ยังต้องแยกรายได้ส่วนเกินที่เหลือหลังจากการคืนรายได้ระหว่างการไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า เงินคืนรายได้ (Clawback) เพื่อไว้ใช้สนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลอีกด้วย
ในช่วงระหว่างปี 2561-2564 กฟน. นำส่งเงินส่วนเกิน จำนวนประมาณ 1.66-1.96 หมื่นล้านบาทต่อปี ให้กับ กฟภ. และ กกพ. ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่ากลไกดังกล่าวนี้จะทำให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ของ กฟน. จะจำกัดอยู่ที่ระดับไม่เกิน 8%-10%
การดำเนินงานของ กฟน. จะเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
การฟื้นตัวของปริมาณการใช้ไฟฟ้าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ค่อย ๆ คลี่คลายลงเป็นปัจจัยที่จะช่วยหนุนมุมมองของทริสเรทติ้งว่าผลประกอบการของ กฟน. จะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป โดยความต้องการไฟฟ้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ในพื้นที่ที่ กฟน. รับผิดชอบเพิ่มขึ้น 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าทั้งปีในปี 2564 นั้นหดตัวลง 2.2% ทั้งนี้ ในช่วงปี 2565 ทริสเรทติ้งมองว่า กฟน. มีโอกาสน้อยที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังประเมินว่าการปรับค่า Ft ที่สูงขึ้นตามต้นทุนราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น น่าจะไม่มีผลกระทบมากนักต่อความสามารถในการทำกำไรของ กฟน. ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่สามารถส่งผ่านต้นทุนได้
ในกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง จากการปรับค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น รายได้ของ กฟน. มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจาก 2.2 แสนล้านบาทในปี 2565 เป็น 2.57 แสนล้านบาทในปี 2567 EBITDA Margin ของ กฟน. คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8%-9% หรือเทียบเท่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ประมาณ 2.0-2.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า
สถานะทางการเงินยังคงเข้มแข็ง
ในการประเมินของทริสเรทติ้ง สถานะทางการเงินของ กฟน. นั้นยังคงแข็งแกร่งเพียงพอสำหรับแผนการลงทุน โดยทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้เงินกู้ของ กฟน. จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยพิจารณาจากแผนการลงทุนประจำปีของ กฟน. ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เป็น 3.2 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2567-2568 โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นแผนการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าและโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน อย่างไรก็ตาม EBITDA ที่เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกระแสเงินสด และรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่มั่นคง ทั้งนี้ ในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของ กฟน. จะอยู่ที่ 3-4 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ในช่วง 35%-45%
มีนโยบายด้านการเงินที่รอบคอบ
กฟน. มีนโยบายด้านการเงินที่รัดกุมมาโดยตลอดโดยมีการรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อส่วนทุน (Debt to Equity Ratio) ให้อยู่ในระดับไม่เกินกว่า 1.5 เท่า รวมถึงอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financing Ratio) ไม่ให้ต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า
กฟน. มีการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ดีโดยพิจารณาจากนโยบายในการตั้งสำรองเงินสด ในการนี้ กฟน. มีการตั้งกองทุนเพื่อชำระคืนพันธบัตรโดยเฉพาะซึ่งมีการสำรองเงินไว้รองรับการชำระคืนหนี้ล่วงหน้าในระยะ 3-4 ปี ในขณะเดียวกัน กฟน. ยังมีการตั้งบัญชีสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์เฉพาะอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า บัญชีเงินบำเหน็จพนักงาน รวมไปถึงเงินคืนรายได้ เป็นต้น
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. คาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 2%-2.5% ต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? รายได้จะเติบโตเป็น 2.2 แสนล้านบาทในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 แสนล้านบาทในปี 2567
? EBITDA จะอยู่ระหว่าง 2.0-2.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? เงินลงทุนรวมจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็น 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ระหว่างปี 2565-2567
? อัตราการนำส่งเงินรายได้คืนรัฐบาลจะอยู่ที่ระดับ 50% ของกำไรสุทธิ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า กฟน. จะยังคงดำรงบทบาทที่สำคัญในการจำหน่ายไฟฟ้าต่อไปไม่เปลี่ยนแปลงและ กฟน. จะยังได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอและทันเวลาจากรัฐบาลไทยในกรณีที่จำเป็น
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะของ กฟน. รวมไปถึงบทบาทและความสำคัญของ กฟน. ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย
?
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
การไฟฟ้านครหลวง (MEA)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable