ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่อยู่ในระดับเพียงพอ และสถานะทางการตลาดที่เหมาะสมในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดสำคัญต่ออันดับเครดิตคือคุณภาพสินทรัพย์ของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของบริษัทที่มีแนวโน้มอ่อนแอเนื่องจากสถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่อาจอ่อนไหวไปตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางและภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยที่จะมีการบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในระดับหนึ่งได้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การเพิ่มทุนช่วยสนับสนุนแผนการเติบโตที่แข็งแกร่ง
ฐานทุนที่แข็งแกร่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นผลบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทและคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะปานกลาง แม้ว่าฐานทุนของบริษัทจะอ่อนตัวลงในช่วงปีที่ผ่านมาจากการขยายการเติบโตเป็นอย่างมากหลังจากที่บริษัทได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering -- IPO) ในปี 2563 แต่ทริสเรทติ้งก็ยังคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงขยายธุรกิจตามแผนการเติบโตต่อไปในระยะปานกลาง ซึ่งการเติบโตดังกล่าวจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินเพิ่มทุนผ่านการใช้สิทธิเพิ่มทุน (Right Offering ? RO) ที่บริษัทได้รับเพิ่มเติมมาอีกจำนวน 1.8 พันล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
จากเงินเพิ่มทุน RO ดังกล่าวทำให้ฐานทุนของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 27.5% ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 จาก 15.6% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2565 แม้ว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 19% ภายในปลายปี 2567 จากแผนการเติบโต แต่สถานะเงินทุนของบริษัทในระดับดังกล่าวก็จะยังคงได้รับการประเมินว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ซึ่งอยู่ภายใต้สมมุติฐานของทริสเรทติ้งที่มองว่าบริษัทจะมีสินเชื่อคงค้างที่เติบโตเป็นอย่างมากที่ระดับประมาณ 40% ในปี 2565 และที่ระดับ 20% ต่อปีในระหว่างปี 2566-2567 โดยมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ระดับ 40% ต่อปี
สถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ซึ่งวัดจากสินเชื่อคงค้างปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2565 จากสถานะที่ต่ำกว่า 5 อันดับแรกในปี 2563 จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ซึ่งการปรับตัวที่ดีขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในขณะที่สินเชื่อของบริษัทคู่แข่งค่อย ๆ หดตัวลงซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมีความระมัดระวังตั้งแต่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 สินเชื่อรวมของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับ 7.8 พันล้านบาทจาก 4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี2563 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อคงค้างที่กล่าวไว้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสินเชื่อรวมถึงระดับ 1 หมื่นล้านบาทภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทคือความสามารถในการรักษาอัตราการเติบโตที่ดีและคงสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้ในระยะยาวโดยที่บริษัทยังคงสามารถรักษาฐานทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีเอาไว้ได้
สำหรับในด้านของการกระจายตัวทางธุรกิจนั้น บริษัทมีธุรกิจที่กระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ที่ดีโดยมีสาขากระจายไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2565 บริษัทมีสัดส่วนของสินเชื่อในกรุงเทพฯ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่อื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วน 21% 27% 17% 16% และ 19% ของสินเชื่อรวมตามลำดับ
มีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่ดีและเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจ ทั้งนี้ จากการเป็นบริษัทจดในทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทจึงมีความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินต่าง ๆ และมีการกระจายตัวของแหล่งเงินทุนที่ดี นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 2 รายคือ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อีกด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อคงค้างจากสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 3.9 พันล้านบาท โดยวงเงินสินเชื่อคงค้างระยะสั้นที่ได้รับจากบริษัทคอมเซเว่นและบริษัทซินเน็ค (ประเทศไทย) จำนวน 1 พันล้านบาทเมื่อไตรมาสแรกของปี 2565 นั้น บริษัทได้ชำระคืนไปแล้วทั้งหมดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ด้วยการใช้เงินทุนที่ได้รับจากการเพิ่มทุน RO
บริษัทมีแหล่งเงินทุนระยะยาวในสัดส่วนที่สูงซึ่งคิดเป็น 79% ของแหล่งเงินทุนทั้งหมดของบริษัท โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 เงินทุนดังกล่าวจำนวน 27.5% เป็นเงินกู้ระยะยาวและอีก 51.5% เป็นส่วนทุนของบริษัท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 เงินกู้ระยะสั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 43% ของเงินกู้รวมทั้งหมดของบริษัท โดยบริษัทประมาณการว่ากระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับชำระคืนจากลูกหนี้ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 160-180 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้เงินกู้ในแต่ละเดือน ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากระแสเงินสดในระดับปัจจุบันเมื่อรวมกับวงเงินที่เพียงพอจากสถาบันการเงินต่าง ๆ และจากบริษัทแม่น่าจะทำให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับการเติบโตในอนาคต
คุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นประเด็นที่ท้าทายท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน
ถึงแม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของบริษัทจะดูค่อนข้างดีและควบคุมได้เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Non-performing Loan) ของบริษัทที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.95% ในสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 จากระดับ 1.35% ณ สิ้นปี 2564 ก็ยืนยันความเชื่อของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทมีสถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ เป้าหมายการเติบโตในเชิงรุกผนวกกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ก็อาจจะสร้างแรงกดดันให้แก่คุณภาพสินทรัพย์ยิ่งขึ้นหากบริษัทไม่มีการควบคุมการอนุมัติสินเชื่อให้ดี โดยทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงของธุรกิจเมื่อบวกกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทแล้วถือว่าเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่ออันดับเครดิต
ในด้านการตั้งสำรองนั้น แม้ว่าบริษัทจะมีสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับต่ำ แต่บริษัทยังคงมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงเหมือนกับคู่แข่งรายอื่น ๆ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 11.7% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) จาก 9.9% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) ในไตรมาสแรกของปี 2565 และ 7.5% ในปี 2564 ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดจากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่เสื่อมถอยลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยเห็นได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Under-performing Loan) (Stage 2) และสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Stage 3) ยิ่งไปกว่านั้น สัดส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของสินเชื่อที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Performing Loan) (Stage 1) ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งสัญญาณให้เห็นถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงจากการเติบโตที่สูงมากของบริษัท โดยค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.6% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 จาก 5.4% ณ สิ้นปี 2564 ดังนั้น หากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญต่อไป ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทก็อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรได้
การแข่งขันที่รุนแรงและเพดานอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไร
ในปี 2564 ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยและการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์และการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับตัวลดลง 11.8% และ 1.7% ตามลำดับในปี 2563 ซึ่งในปี 2564 ยอดขายรถจักรยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ระดับสินเชื่อรวมของผู้ประกอบการ 8 รายใหญ่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งค่อนข้างคงที่ ถึงแม้ว่าอุปสงค์รถจักรยานยนต์ในปีนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่อุปทานที่ขาดแคลนของรถจักรยานยนต์ก็ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์เติบโตเพียง 3% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ส่วนในด้านการปล่อยสินเชื่อนั้น นโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นจากคุณภาพเครดิตของลูกค้าที่ปรับตัวอ่อนลงก็ทำให้การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ยังคงเข้ามาในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคประเภทอื่น ๆ ดังนั้น การแข่งขันจึงยังคงรุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภค ฝ่ายกำกับดูแลจึงมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยกฎระเบียบการควบคุมที่คาดว่าจะประกาศใช้ในไม่ช้านี้มีแนวโน้มที่จะควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30% ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อการเติบโตของสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ไว้ดังนี้
? สินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับเกินกว่า 40% ในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับประมาณ 20% ต่อปีในช่วงปี 2566-2567
? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 25% ในปี 2565 และประมาณ 20% ในช่วงปี 2566-2567
? อัตราผลตอบแทนจากรายได้ดอกเบี้ยต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 21%
? ต้นทุนทางด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 9%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 39%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะรักษาสถานะผู้นำทางการตลาดต่อไปโดยจะยังคงมีผลประกอบการที่น่าพอใจ มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี และมีระดับการก่อหนี้ที่เหมาะสม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาสถานะทางการตลาดของบริษัทให้ดีขึ้นต่อไปโดยยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการทางการเงินเอาไว้ได้พร้อมมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง หรือจากการขยายสินเชื่อเป็นอย่างมากจนอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรโดยที่อัตรากำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 1.5% หรืออัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 15% อย่างต่อเนื่อง
?
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (NCAP)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable