ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะด้านการแข่งขันที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทตลอดจนความหลากหลายของแหล่งที่มาของรายได้และการมีตลาดที่ครอบคลุม นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่คาดว่าน่าจะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีปัจจัยลดทอนจากสถานะทางการเงินของบริษัทที่มีหนี้ในระดับสูง ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงความท้าทายจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่จะเริ่มฟื้นตัว
ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ของบริษัทที่ดำเนินการโดย บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (บิ๊กซี) มีทิศทางที่จะฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่งหลังจากซบเซาลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โรคโควิด 19
ในปี 2564 บริษัทมียอดขายจากธุรกิจค้าปลีกอยู่ที่ระดับ 9.13 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนและเปรียบเทียบกับยอดขายที่ระดับ 1.11 แสนล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ยอดค้าปลีกของบริษัทเพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 4.82 หมื่นล้านบาทโดยได้รับแรงหนุนจากการคลายความกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ตลอดจนการกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ และการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same-store Sales) ที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ยอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซีเติบโตเพิ่มขึ้น 5.2% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกของบริษัทจะมีปัจจัยขับเคลื่อนทั้งจากยอดขายจากสาขาเดิมและจากการขยายสาขา โดยการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ร้านค้าสามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤติการณ์โรคโควิด 19 ทั้งนี้ รายได้จากสาขาของบิ๊กซีในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยบิ๊กซีวางแผนจะขยายสาขาร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อีก 2-3 แห่ง รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นอาหารสดอีก 5 แห่งและร้านสะดวกซื้ออีก 300 แห่งต่อปี รวมทั้งจะขยายสาขาในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยที่การขยายสาขาของบิ๊กซีนั้นมุ่งเน้นรูปแบบร้านค้าปลีกขนาดเล็กในทำเลใหม่ ๆ ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อยกว่าและสามารถตอบสนองความต้องการในชุมชนท้องถิ่นได้ดีกว่า นอกจากนี้ บริษัทยังคงพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์และการจัดส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกันก็เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นตราสินค้าเฉพาะ (Private Label) ของบิ๊กซี เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของ
ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของบิ๊กซีจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยจะเพิ่มขึ้นในอัตราเลขตัวเดียวระดับสูง (High Single Digit) ไปจนถึงระดับ 13%-15% ต่อปีในช่วงปี 2565-2567
รายได้ค่าเช่ามีแนวโน้มที่ดี
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บิ๊กซีมีพื้นที่ให้เช่ารวม 0.98 ล้านตารางเมตรโดยมีอัตราการเช่าพื้นที่ที่ระดับประมาณ 89% ในขณะที่รายได้ค่าเช่าเป็นรายได้ที่มีความสม่ำเสมอและสร้างผลกำไรได้มากพอสมควร โดยบิ๊กซีมีรายได้ค่าเช่าและค่าบริการรวมประมาณ 7.8 พันล้านบาทจนถึง 1.15 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8%-10% ของรายได้รวมของบิ๊กซี
ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราค่าเช่าจะปรับตัวดีขึ้นอันเนื่องมาจากการให้ส่วนลดค่าเช่าที่ลดลงและอัตราการเช่าพื้นที่ที่ฟื้นตัวขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากการดำเนินการแบบเต็มรูปแบบและการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับปรุงศูนย์การค้าให้มีความน่าสนใจและใช้งานได้หลากหลายมากขึ้นสำหรับลูกค้าเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเข้าศูนย์การค้าเพื่อทำกิจกรรมยามว่างอื่น ๆ ได้หลากหลายมากขึ้นกว่าเพียงแค่การเข้ามาซื้อสินค้าเท่านั้น นอกจากนี้ บิ๊กซียังมุ่งเน้นการผสมผสานของผู้เช่าให้มากขึ้นโดยการเพิ่มร้านอาหาร ร้านบริการจัดส่งพัสดุ และร้านค้าเพื่อสุขภาพและความงามอีกด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าเช่าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นถึงระดับ 9 พันล้านบาทจนถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 โดยคาดว่าอัตราการเช่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในช่วง 90%-95% ต่อปี
ธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากค้าปลีกมีความแข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤตกาณ์โรคโควิด 19
ผลการดำเนินงานในธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจร้านค้าปลีก (ได้แก่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งสินค้าและบริการด้านเวชภัณฑ์และเทคนิค) มีความแข็งแกร่ง ความหลากหลายของธุรกิจและการออกผลิตภัณฑ์ในหมวดหมู่ใหม่ ๆ ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบจากการระบาดของโรคโควิด 19 และภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาได้ ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจเหล่านี้จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2565
รายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มที่น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของตลาดและจากสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดด้วยเช่นกัน โดยยอดขายจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีมูลค่ารวม 1.99 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนมาอยู่ที่ 1.19 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทั้งบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋องอลูมิเนียมจากผลของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการกลับมาเริ่มกิจกรรมทางสังคมอีกครั้ง
ในปี 2564 บริษัทมียอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วรวม 1.17 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2563 ทั้งนี้ ยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 8% มาอยู่ที่ระดับ 6.1 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มชูกำลัง และอาหาร สำหรับธุรกิจกระป๋องอลูมิเนียมนั้นก็มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 5.8 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อันเนื่องมาจากอุปสงค์ที่สูงมากของตลาดเบียร์ในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ บริษัทยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในกลุ่มใหม่ ๆ เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ บรรจุภัณฑ์ขนาดใหม่ และบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบา เป็นต้น
ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัทได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความยืดหยุ่นได้ดีในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเติบโตในอัตรา 9%-10% ต่อปีในช่วงปี 2563-2564 และมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.27 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 นั้น บริษัทมีรายได้ค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 1.05 หมื่นล้านบาทเนื่องจากยอดขายในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ที่ลดลงหลังจากที่บริษัทได้ย้ายการจัดการโลจิสติกส์ของบิ๊กซีจากส่วนธุรกิจ โลจิสติกส์กลับไปที่บิ๊กซีอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2565 อย่างไรก็ตาม สินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มขนมขบเคี้ยวและกระดาษทิชชู่ก็เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยยอดขายขนมขบเคี้ยวดีดตัวขึ้น 2% มาตั้งแต่ปี 2564 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีการเติบโตที่ระดับ 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายขนมขบเคี้ยวจะกลับมาเติบโตได้ตามปกติในปี 2565 หลังจากที่เด็ก ๆ กลับมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 รายได้รวมของธุรกิจกระดาษทิชชู่ก็เติบโตมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการเติบโตของกระดาษเอนกประสงค์และกระดาษที่ใช้ในการทำครัวซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในครัวเรือนส่วนใหญ่รวมทั้งจากยอดขายผลิตภัณฑ์ Private Label ที่เติบโตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่บริษัททำการจัดจำหน่ายสินค้าของแบรนด์ ?ยูนิชาร์ม? (Unicharm) ก็ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจกระดาษทิชชู่อีกด้วย
รายได้จากกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคมีอัตราการเติบโตที่ระดับ 14% ในปี 2564 และ 6% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม ฝ่ายอุตสาหกรรมการพิมพ์ และฝ่ายวิศวกรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด
คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวแต่กำไรจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 7%-12% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซี ตลอดจนจากการเปิดสาขาร้านค้าปลีกใหม่ ๆ รายได้จากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น และยอดขายที่เพิ่มขึ้นของสายธุรกิจที่สำคัญ ๆ ของบริษัท ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1.95 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 2.3 หมื่นล้านบาทในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปอีกในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าเนื่องจากราคาวัตถุดิบหลัก ๆ ปรับตัวสูงขึ้น โดยต้นทุนเยื่อกระดาษ น้ำมันปาล์ม และฟิล์มบรรจุภัณฑ์สำหรับขนมขบเคี้ยวได้เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และดีดตัวสูงขึ้นอย่างมากในปี 2565
ในส่วนของกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์นั้นบริษัทก็ยังเผชิญกับความท้าทายจากราคาก๊าซธรรมชาติ โซดาแอช และอลูมิเนียมที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความท้าทายเหล่านี้ บริษัทก็มีการกำหนดราคาตามต้นทุนโดยใช้สูตรการคำนวณเพื่อกำหนดราคาขายซึ่งทำให้บริษัทสามารถปรับราคาสินค้าบรรจุภัณฑ์ได้ในระดับหนึ่งเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่สูงขึ้น
บริษัทยังมุ่งเน้นการใช้จ่ายที่รัดกุม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต การปรับปรุงส่วนผสมของวัตถุดิบหลักของผลิตภัณฑ์ และการปรับเพิ่มราคาขาย เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงสินค้าพรีเมียมเพื่อที่จะเพิ่มอัตรากำไรอีกด้วย ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่าอัตรา EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 12.5%-13.0% และ EBITDA จะอยู่ที่ระดับ 2.0-2.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567
อัตราส่วนกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้จะปรับตัวดีขึ้น
ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่จำนวน 1.51 แสนล้านบาท และเนื่องจากบริษัทมี EBITDA ที่ลดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.4 เท่า ณ ปลายปี 2564 และอยู่ที่ระดับประมาณ 8.1 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 7.2 เท่าในปี 2562
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงแต่จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อพิจารณาจากความต้องการใช้เงินลงทุนสำหรับขยายสาขาร้านค้าปลีกและขยายกำลังการผลิตของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทว่าจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่าในปี 2565 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 6 เท่าในปี 2567 และคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะอยู่ที่ระดับ 9%-12% ในช่วงระหว่างปี 2565-2567
?
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้าหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 4.7 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 อีกทั้งยังมีวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.45 หมื่นล้านบาทในปี 2565 อีกด้วย ในขณะเดียวกัน บริษัทจะมีการใช้เงินทุนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดชำระในปี 2565 และใช้ในการลงทุนอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอเพื่อให้พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่มีความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจต่อไป
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 1.6-2.0 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับประมาณ 12.5%-13.0%
? เงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณปีละ 1-1.4 หมื่นล้านบาทในช่วงปีประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินจะค่อย ๆ ลดลงในระยะปานกลางโดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะไม่อยู่สูงเกินกว่าระดับที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจากที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือหากบริษัทมีการลงทุนและ/หรือมีการซื้อกิจการขนาดใหญ่โดยใช้เงินทุนจากการก่อหนี้จำนวนมากซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่สูงเกินกว่า 8 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีภาระหนี้สินทางการเงินที่ลดลงอย่างมากจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ลดลงต่ำกว่า 5 เท่า
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BJC233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
BJC233B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
BJC239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
BJC239B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
BJC23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
BJC243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
BJC246A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 12,256.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
BJC249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
BJC253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
BJC259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
BJC269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 20,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
BJC271A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
BJC273B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
BJC279A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
BJC283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
BJC293A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
BJC299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
BJC303A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A
BJC306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,003.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
?