ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคาร เมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (Mega ICBC) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าธนาคารมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ Mega International Commercial Bank Co., Ltd. ในไต้หวัน (Mega ICBC-Taiwan ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตจาก S&P Global Ratings ที่ระดับ ?A/Stable?) โดยธนาคารได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและการเงินจากธนาคารแม่อย่างต่อเนื่องซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าการสนับสนุนดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ Mega ICBC-Taiwan
ทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย Mega ICBC-Taiwan มีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ Mega ICBC-Taiwan ธนาคารเป็นตัวแทนของ Mega ICBC Group ในประเทศไทยที่ให้บริการทางการเงินแก่บริษัทและธุรกิจของไต้หวันที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย ธนาคารเป็นส่วนสำคัญของกลุ่มในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามตามแนวทาง ?New Southbound Policy?ของรัฐบาลไต้หวันซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันกับ 18 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคใต้ เอเชีย และออสเตรเลีย รวมทั้งไทย เพื่อลดการพึ่งพาจีนแผ่นดินใหญ่ มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากไต้หวันในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วยอัตราการเติบโตแบบทบต้น (CAGR) 18% ในช่วงปี 2559-2564 และเติบโตเร่งขึ้นเป็น 142% นับตั้งแตต้นปีจนถึงครึ่งแรกของปี 2565
ความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งของ Mega ICBC กับธนาคารแม่นั้น แสดงให้เห็นได้จากการควบคุมอย่างใกล้ชิดจากธนาคารแม่ในแง่ของกลยุทธ์ทางธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง Mega ICBC มีการบูรณาการเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกลุ่มโดยเห็นได้จากการนำกลยุทธ์และเป้าหมายทางการเงินของกลุ่มไปใช้ โดยลูกค้าส่วนหนึ่งของธนาคารได้รับการอ้างอิงมาจากธนาคารแม่และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลไต้หวัน
ทริสเรทติ้งมองว่า Mega ICBC-Taiwan มีพันธสัญญาระยะยาวที่แข็งแกร่งในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารจากสัดส่วนการถือหุ้น 100% และจากเหตุผลเชิงกลยุทธ์ที่ธนาคารมีฐานะเป็นตัวแทนของธนาคารแม่ในประเทศไทย ทั้งนี้ Mega ICBC-Taiwan มีประวัติในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธนาคารในรูปแบบของวงเงินสินเชื่อสำรองและการเพิ่มทุน จากการขยายตัวของสินเชื่อที่แข็งแกร่งในช่วงปี 2564 จนถึงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ลดลงเป็น 18.0% จาก 24.2% ในปี 2563 Mega ICBC-Taiwan อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มทุนอีก 1 พันล้านบาทให้กับธนาคาร ทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษอย่างทันท่วงทีจาก Mega ICBC-Taiwan และกลุ่มในยามที่จำเป็น เนื่องจากทริสเรทติ้งมองว่าชื่อเสียงของธนาคารจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของกลุ่มด้วย
มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้านักธุรกิจชาวไต้หวัน
ด้วยบทบาทในฐานะตัวแทนของ Mega ICBC-Taiwan ในประเทศไทยซึ่งช่วยสนับสนุน ?New Southbound Policy? ของไต้หวัน และในฐานะที่เป็นสาขาย่อยของธนาคารไต้หวันเพียงแห่งเดียวที่ดำเนินงานในประเทศไทย ทริสเรทติ้งจึงมีมุมมองว่าธนาคารจะยังคงเน้นการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้านักธุรกิจชาวไต้หวันที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ปัจจุบันการให้สินเชื่อแก่บริษัทไต้หวันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50%-60% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2.97 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนแบ่งการตลาดของธนาคารในสินเชื่อและเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับปานกลางซึ่งคล้ายกับธนาคารต่างประเทศรายอื่น ๆ ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อของธนาคารยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มลูกค้าบรรษัทโดยเฉพาะในภาคการผลิต โดยสินเชื่อที่ให้แก่ภาคการผลิตนั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 56% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565
นโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบมีความสอดคล้องกับกลุ่ม
ในฐานะที่เป็นหน่วยธุรกิจที่สำคัญส่วนหนึ่งของ Mega ICBC-Taiwan ธนาคารมีการใช้นโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบและดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มการดำเนินงานของกลุ่ม มาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อที่รอบคอบและการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่ดีน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีของธนาคารอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ Oversea Credit Guarantee Fund (OCGF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การค้ำประกันในไต้หวันยังให้การค้ำประกันสินเชื่อส่วนหนึ่งที่ธนาคารปล่อยให้แก่นักธุรกิจชาวไต้หวันที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งสามารถช่วยจำกัดผลขาดทุนของ Mega ICBC หากสินเชื่อภายใต้โครงการดังกล่าวมีการผิดนัดชำระหนี้ แม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจะลดลงเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) แต่คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังคงดีกว่าค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีค่าเฉลี่ยที่ 2.88% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.22% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 จาก 0.97% ณ สิ้นปี 2564 และ 1.19% ณ สิ้นปี 2563
ได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากกลุ่ม
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่เพียงพอจากกลุ่มในรูปของวงเงินสินเชื่อต่อไป ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ธนาคารได้รับวงเงินสินเชื่อจากกลุ่มประมาณ 1.04 หมื่นล้านบาท โดยทริสเรทติ้งประเมินว่ากลุ่มมีความเต็มใจและมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งพอที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารในกรณีที่จำเป็น นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ธนาคารยังมีวงเงินสินเชื่อราว ๆ 1.44 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินภายในประเทศอีกหลายแห่งด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งอยู่ภายใต้ความคาดหมายที่ธนาคารจะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ Mega ICBC-Taiwan ต่อไป
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารจะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ Mega ICBC-Taiwan และจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารแม่ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของธนาคารอยู่ในระดับสูงที่สุดคือ ?AAA? โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจได้รับการปรับลดลงหากอันดับเครดิตของ Mega ICBC-Taiwan ลดลง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดกับโครงสร้างและนโยบายของกลุ่มที่ทำให้ธนาคารไม่อยู่ในสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มก็อาจส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563
ธนาคาร เมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (Mega ICBC)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable