ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? โดยการเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนภาระหนี้ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่มีแนวโน้มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยทริสเรทติ้งคาดว่าพัฒนาการในเชิงบวกนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ในขณะที่อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะฐานทุนที่แข็งแกร่งรวมทั้งแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจในระดับปานกลางของบริษัทยังคงเป็นข้อจำกัดของอันดับเครดิตต่อไปถึงแม้ว่าทริสเรทติ้งจะคาดการณ์ว่าสินเชื่อของบริษัทจะค่อยๆ ฟื้นตัวในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าก็ตาม ในขณะเดียวกัน ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่าสถานะทางการตลาดจะค่อยๆ ฟื้นตัว
สถานะทางการตลาดของบริษัทค่อย ๆ ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอันเป็นผลเนื่องมาจากการที่บริษัทมีกลยุทธ์ในการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวังโดยยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่คุณภาพสินทรัพย์จะเสื่อมถอยลง ส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงเหลือ 4.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถฟื้นสถานะทางการตลาดกลับมาได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความพยายามทางการตลาดของบริษัทและความร่วมมือกับผู้จำหน่ายรถมือสองรายใหญ่โดยผ่านช่องทางออนไลน์ในการขยายการเติบโตของบริการที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการที่จะเสนอบริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Auto Title Loan) ให้แก่กลุ่มลูกค้าเก่าเพิ่มเติมอีกด้วย
จากกลยุทธ์การเติบโตดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อใหม่ของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากประมาณการที่คาดว่ายอดสินเชื่อใหม่ของบริษัทจะเติบโตที่อัตราเฉลี่ยประมาณ 20% ต่อปีในช่วงปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับประมาณ 5 พันล้านบาทภายในปลายปี 2567 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสินเชื่อรถยนต์มือสองและสินเชื่อรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ (Big Bike) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทจะยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัทต่อไป อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะสั้นนี้ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะยังคงหดตัวลงที่ราว ๆ 22% ในปี 2565
คุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
การปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตนั้นเป็นผลมาจากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและความคาดหวังของทริสเรทติ้งที่บริษัทจะสามารถบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ได้ในขณะที่มีการขยายพอร์ตสินเชื่อ โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต หรือลูกหนี้ชั้นที่ 3 -- NPL) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทลดลงเหลือ 5.9% ณ สิ้นปี 2564 และลดลงอย่างต่อเนื่องลงมาอยู่ที่ระดับ 5.0% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 8.3% ณ สิ้นปี 2563 โดย NPL ทั้งหมดของบริษัทปรับตัวลดลงเหลือ 266 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 จาก 472 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) เป็นค่าติดลบ
อย่างไรก็ตาม การขยายพอร์ตสินเชื่อภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่ของบริษัทในช่วงปี 2565-2567 อาจเพิ่มขึ้นได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ปรับเพิ่มขึ้นได้จากการมีเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดและกระบวนการติดตามหนี้ที่ปรับปรุงดีขึ้นแล้ว ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 1%-2% และอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 100%-130% ในระหว่างปี 2565-2567
การควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ลดลงจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไร
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางต่อไปได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA Ratio) นั้นมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมาอยู่ที่ระดับ 4.6% ในปี 2564 จากระดับ 1.2% ในปี 2563 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อัตราส่วน EBT/ARWA (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.5% และกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 104 ล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าอัตราส่วน EBT/ARWA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.5%-4.6% ในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม
ในระยะปานกลางบริษัทมีแนวโน้มที่จะรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งยังคงควบคุมค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) แล้ว บริษัทยังมีแผนจะขยายไปยังธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปอีกด้วย ถึงแม้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถซึ่งส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยรับที่ปรับลดลง แต่ทริสเรทติ้งก็ยังคาดหวังว่าต้นทุนทางการเงินที่ต่ำของบริษัทจะยังคงรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับ 7% ต่อไปได้ในขณะที่การทำกำไรจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปตามการขยายตัวของสินเชื่อ ในขณะเดียวกัน กลยุทธ์ในการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ตลอดจนการใช้งบประมาณทางการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ การขยายสู่ช่องทางออนไลน์ และการจ้างบริษัทจากภายนอกให้ทำการติดตามหนี้ก็น่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ต่ำลงกว่าระดับ 40% ของรายได้รวมในช่วงปี 2565-2567 ได้
สถานะฐานทุนยังคงแข็งแกร่ง
สถานะฐานทุนยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของบริษัท โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 40.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 1.47 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนตามข้อกำหนดของสถาบันการเงินที่ระดับ 4 เท่า ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะฐานทุนของบริษัทนั้นเพียงพอที่จะสนับสนุนแผนการขยายสินเชื่อของบริษัทได้ในระยะปานกลาง การคาดการณ์ของทริสเรทติ้งภายใต้นโยบายการขยายสินเชื่อและการจ่ายเงินปันผลในระดับปานกลางของบริษัทเชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรในระดับปัจจุบันจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้โดยจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับประมาณ 37%-41% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
สถานะเงินทุนและสภาพคล่องยังคงอยู่ในระดับเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอ ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีหนี้สินทางการเงินที่ครบกำหนดภายใน 1 ปีค่อนข้างสูง แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากสภาพคล่องใน 12 เดือนข้างหน้าได้ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินระยะสั้นอยู่ในสัดส่วน 70% ของหนี้สินทางการเงินรวม สำหรับหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดทั้งหมดนั้นประกอบด้วยเงินกู้ระยะยาวที่กำหนดชำระใน 1 ปี 66% และเงินกู้ระยะสั้นอีก 34%
ทริสเรทติ้งมองว่าความสัมพันธ์ที่ดีที่บริษัทมีกับสถาบันการเงินหลายแห่งและการได้รับวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอจะช่วยลดทอนความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนได้ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีความไม่สอดคล้องกันในอายุของสินทรัพย์และหนี้สินเป็นบวก โดยบริษัทคาดว่าจะได้รับเงินสดจากการชำระคืนหนี้สินเชื่อของลูกหนี้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่จำนวนประมาณ 2.3 พันล้านบาทในขณะที่ภาระการชำระคืนหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งสิ้นจำนวน 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังมีส่วนช่วยให้บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินอีกด้วยซึ่งจะทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำและสถานการณ์ดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะยาวด้วย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีตั๋วแลกเงินคงค้างจำนวน 200 ล้านบาทที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทและมีวงเงินกู้ยืมที่ค้ำประกันโดย Premium Group Co., Ltd. (Japan) (PG) อีก 500 ล้านบาทซึ่งรวมแล้วคิดเป็น 24% ของหนี้สินทางการเงินทั้งหมด วงเงินกู้ยืมบางส่วนมีการค้ำประกันโดยการโอนสิทธิลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งบริษัทอาจมีข้อจำกัดในการขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมในอนาคตได้ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีสัดส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้ชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 73%
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตรถยนต์เป็นวงกว้างทั่วโลก วิกฤติการณ์ขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ใหม่และทำให้ราคารถยนต์มือสองปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีราคารถยนต์มือสองซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ระดับ 113 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 101 ทริสเรท ติ้งคาดว่าเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่คลี่คลายลงจะส่งผลทำให้อุปสงค์รถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อรวมถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นก็คาดว่าจะส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัวได้อย่างจำกัดและทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงจะส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการจากการมีภาระค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหรือตัดหนี้สูญที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อมองในภาพรวมแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อรถยนต์คงค้างจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 โดยยอดสินเชื่อคงค้างสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2565 มีอัตราเพิ่มขึ้น 2.4% จาก ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งสูงกว่าการเติบโตที่ระดับเพียง 0.4% ในปี 2564
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 มีดังนี้
? การขยายตัวของสินเชื่อใหม่จะอยู่ที่ระดับ 20% ต่อปี
? ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 7.1%
? ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะอยู่ที่ระดับ 1%-2%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความหวังว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะรักษาสถานะทางการตลาด และมีผลประกอบการทางการเงินที่น่าพึงพอใจ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยพอร์ตสินเชื่อเติบโตอย่างมีคุณภาพรวมทั้งมีฐานทุนและผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงและ/หรือผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจะทำให้อัตราส่วน EBT/ARWA อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5%
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ECL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable