ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย และนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กและความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจน้ำตาล
บริษัทมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยาวนานต่อเนื่องมากกว่า 60 ปี โดยมีน้ำตาลดิบเป็นสินค้าหลักของบริษัทซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 54% ของยอดขายน้ำตาลทั้งหมดของบริษัทในปี 2564 และในปีเดียวกันบริษัทมียอดส่งออกน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วน 71% ของรายได้รวมจากธุรกิจน้ำตาล โดยลูกค้าส่งออกของบริษัทมากกว่า 80% เป็นกลุ่มผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศ
บริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในโรงงานน้ำตาลเพียง 8 แห่งในประเทศไทยที่ได้ใบรับรองมาตรฐาน ?Bonsucro? ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้บริษัทขยายธุรกิจไปยังตลาดน้ำตาลคุณภาพสูงได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-added Product) ซึ่งได้แก่ น้ำตาลทรายดิบคุณภาพสูงมาก (Very High Polarization Sugar -- VHP) น้ำตาลทรายขาว (White Sugar) และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) โดยสัดส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 2561 เป็น 46% ในปี 2564
สัดส่วนการขายในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2561 พร้อมกับการมีลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ โดยปกติราคาน้ำตาลภายในประเทศจะมีราคาที่สูงกว่าราคาน้ำตาลส่งออกและยังมีค่าขนส่งที่ถูกกว่าซึ่งทำให้มีอัตรากำไรที่ดีกว่าอีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนการขายภายในประเทศจะอยู่ที่ 20% และสัดส่วนการส่งออกจะอยู่ที่ 80% ในช่วงปีประมาณการ
มีแหล่งรายได้เพิ่มเติมจากเอทานอลและไฟฟ้า
บริษัทใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยและผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลเพื่อนำไปผลิตเอทานอลและไฟฟ้า
บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าโดยรวมที่ขนาด 123.6 เมกะวัตต์ โดยบริษัทใช้กากอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลและใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในการผลิตไฟฟ้า บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าที่ขนาด 40 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับซื้อไฟฟ้าที่ขนาด 11 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP)
บริษัทมีกำลังการผลิตเอทานอลที่ขนาด 150,000 ลิตรต่อวันและมีลูกค้าเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันรายใหญ่ภายในประเทศ
ในปี 2564 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอลสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วน 70% และรายได้ในส่วนที่เหลือมาจากการจำหน่ายปุ๋ยและการให้บริการต่าง ๆ แก่ชาวไร่อ้อย
เป็นผู้ผลิตน้ำตาลขนาดเล็ก
บริษัทมีโรงงานผลิตน้ำตาล 2 แห่งโดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 48,000 ตันอ้อยต่อวัน ทั้งนี้ โรงงานแห่งที่สองมีกำลังการผลิตประมาณ 20% ของกำลังการผลิตของโรงงานแห่งแรก บริษัทเป็นเพียงบริษัทน้ำตาลแห่งเดียวที่ดำเนินการในจังหวัดสระแก้ว ทริสเรทติ้งมองว่าสถานที่ตั้งและกำลังการผลิตของบริษัทส่งผลต่อความเสี่ยงในเรื่องการดำเนินงานและการจัดหาวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการจัดหาวัตถุดิบของบริษัทถูกลดทอนจากการที่พื้นที่การปลูกอ้อยที่ขายให้กับโรงงานของบริษัทนั้นห่างจากโรงงานน้ำตาลแห่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งมีเพียง 3 โรงงานในจังหวัดชลบุรี
ปริมาณการผลิตน้ำตาลของบริษัทถือได้ว่าค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับโรงงานน้ำตาลอื่นในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ระหว่าง 3.5%-4.5% ของปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
การฟื้นตัวของผลการดำเนินงาน
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าทั้งจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้น
ในช่วงปี 2562-2564 ผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากเนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงอย่างมาก ผลผลิตอ้อยที่ค่อนข้างต่ำ และการลดลงของการบริโภคน้ำตาลในช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลดิบลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 12 เซนต์ต่อปอนด์ในระหว่างปี 2561-2563 เมื่อเทียบกับระดับ 16-18 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงปี 2559-2560 จำนวนผลผลิตอ้อยในประเทศไทยก็ลดต่ำลงระหว่างปี 2563-2564 มาอยู่ที่ 66.7 ล้านตันในช่วงปีการผลิต 2563/64 ลดลง 50.6% เมื่อเทียบกับ 134.9 ล้านตันในปีการผลิต 2560/61 จากสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและปัญหาภัยแล้ง
แม้ว่าปริมาณผลผลิตอ้อยของบริษัทจะลดมาอยู่ที่ 2.8 ล้านตันในฤดูการผลิต 2563/2564 จาก 3 ล้านตันในฤดูการผลิต 2562/63 แต่บริษัทก็ยังคงมีรายได้ในปี 2564 ใกล้เคียงกับปี 2563 ที่ 7 พันล้านบาทสืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลในตลาดโลก ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 17.9 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2564 จากที่ระดับ 12.9 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ การลดลงของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นผลจากผลผลิตอ้อยที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเฉพาะซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและผลกระทบจากเครื่องจักรที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ EBITDA ในปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 881 ล้านบาทจากระดับ 1.4 พันล้านบาทในปี 2563 เมื่อพิจารณาจากงบการเงินภายในของบริษัท EBITDA ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 840 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลผลิตอ้อยทั้งประเทศจะอยู่ที่ระดับ 90-100 ล้านตันต่อปีในระหว่างปีประมาณการ บริษัทจะยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้อยู่ที่ระดับ 3.5% ของผลผลิตอ้อยทั้งประเทศได้ ราคาน้ำตาลคาดว่าจะมากกว่า 15 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้รายได้ต่อปีของบริษัทจะอยู่ราว ๆ 7.8-8.5 พันล้านบาทในช่วงปีประมาณการ
ภาระหนี้ลดลง
ภาระหนี้ของบริษัทมีแนวโน้มลดลงในช่วงปี 2565-2567 โดยหลังจากที่ได้มีการเปิดดำเนินงานของโรงงานแห่งที่สองของบริษัทตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 เป็นต้นมา บริษัทได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาการปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อย การผลิตไฟฟ้า และการติดตั้งระบบซอฟแวร์ใหม่ ณ เดือนธันวาคม 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5 เท่า และ 17% ตามลำดับ
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 400-900 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนหลักของบริษัทจะใช้ไปในการปรับปรุงซ่อมแซมทั่วไป พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น การใช้พลังงานในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และการซื้อเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวอ้อย ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทจะลดมาอยู่ที่ระดับ 2-3 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 28%-43% ในระหว่างปีประมาณการ
สภาพคล่องเป็นที่น่าพอใจ
บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 111 ล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกจำนวน 6.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 เงินทุนจากการดำเนินงานในอีก 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวคาดว่าจะเพียงพอต่อการจ่ายชำระหนี้และการลงทุนที่จำเป็นในอีก 12 เดือนข้างหน้าซึ่งรวมถึงเงินกู้ระยะยาวที่จะต้องชำระคืนในปี 2565 จำนวน 230 ล้านบาท และแผนการลงทุนอีกจำนวน 400 ล้านบาท
ตามเงื่อนไขในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของทุนให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่าและอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage) มากกว่า 1.2 เท่า ซึ่ง ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.8 เท่าและ 8.2 เท่าตามลำดับ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการกู้เงินในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 7.8-8.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการ เป็นผลมาจากจำนวนผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้น
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 16%-19% ในช่วงปี 2565-2567
? งบลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 400-900 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถกลับมามีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในขณะที่ยังคงสามารถรักษาระดับโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในสัดส่วนที่ยอมรับได้หลังจากที่ความกังวลเกี่ยวกับภาวะภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานในประเทศไทยรวมทั้งราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ตกต่ำนั้นได้ผ่อนคลายลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและยังคงรักษาอัตรากำไรได้อย่างสมดุลโดย EBITDA อยู่ในระดับ 2 พันล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBTIDA อยู่ที่ระดับ 3 เท่าอย่างสม่ำเสมอ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากความสามารถในการทำกำไรและรายได้ของบริษัทลดลงกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนเชิงรุกที่ทำให้เกิดภาระหนี้จำนวนมากจนส่งผลทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็อาจเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ต้องมีการลดอันดับเครดิตของบริษัทลงได้เช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) (ESC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable