ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TIPH) ที่ระดับ AA พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของ TIPH ในการเป็นบริษัทโฮลดิ้งของธุรกิจประกัน อันประกอบด้วย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (TIP) และการลงทุนอื่น ๆ ภายใต้ TIPH (TIPH Group) นอกจากนี้ อันดับเครดิตของ TIPH ยังอยู่ต่ำกว่าสถานะทางเครดิตของกลุ่ม (Group Credit Profile: GCP) ซึ่งอยู่ที่ระดับ aaa อยู่สองขั้น
GCP สะท้อนถึงสถานะทางเครดิตของ TIPH Group ซึ่งมี TIP เป็นบริษัทหลัก GCP จึงสะท้อนถึงสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีเยี่ยม สถานะความเสี่ยงทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก และธุรกิจประกันภัยซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงกรอบธรรมาภิบาลและสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของ TIPH และ TIP อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทโฮลดิ้งของธุรกิจประกัน
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ TIPH โดยสะท้อนถึงสถานะทางเครดิตของ TIPH Group ซึ่งโดยส่วนใหญ่สะท้อนถึงสถานะทางเครดิตของ TIP อันเป็นบริษัทหลักของกลุ่ม จากการที่บริษัทเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการ (Non-Operating Holding Company: NOHC) บริษัทจึงอาศัยเงินปันผลจาก TIP เพื่อชำระหนี้
ทริสเรทติ้งคาดว่า TIPH จะคงสถานะเป็น NOHC ของกลุ่มประกันภัยในอนาคตอันใกล้ ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ 3-5 ปี TIPH จะจัดธุรกิจของกลุ่มเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจสนับสนุนธุรกิจประกันภัย และธุรกิจอื่น ๆ โดยบริษัทคาดว่าจะรักษาสัดส่วนเงินลงทุนในธุรกิจหลัก (ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจสนับสนุนธุรกิจประกันภัย) ไม่ต่ำกว่า 75% ของสินทรัพย์รวม ส่วนการลงทุนที่เป็นไปได้ภายใต้ธุรกิจอื่น ๆ อาจรวมถึงนวัตกรรมทางการเงิน เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล
เป็นผู้นำด้านการประกันวินาศภัยที่มีความหลากหลาย
ทริสเรทติ้งคาดว่า TIP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินงานหลักของ TIPH จะคงสถานะทางการแข่งขันในฐานะหนึ่งในบริษัทประกันวินาศภัยชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากส่วนแบ่งการตลาดที่แข็งแกร่ง แบรนด์ที่มีชื่อเสียง และธุรกิจที่หลากหลาย โดย TIP มีส่วนแบ่งการตลาดของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงอยู่ที่ระดับ 10.9% ในปี 2564 เป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยของไทย บริษัทเป็นผู้นำในด้านการให้บริการรับประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงที่ระดับ 19.8% ในปี 2564 บริษัทยังครองส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในการรับประกันภัยด้านอุบัติเหตุและสุขภาพ (A&H) เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ และอัคคีภัยในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ บริษัทยังครองตำแหน่งทางการตลาดเฉพาะในกลุ่มประกันภัยรถยนต์ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ระดับ 4% ในปี 2564
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง TIP สามารถปรับตัวต่อสภาวะทางธุรกิจและปัจจัยภายนอกที่ไม่พึงประสงค์ได้จากการรับประกันภัยที่มีความหลากหลาย การรับประกันภัยอย่างระมัดระวัง และการประกันภัยต่ออย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งรายได้ที่หลากหลายของ TIP ประกอบด้วยกำไรจากการรับประกันภัยที่มีความแข็งแกร่ง รายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าคอมมิชชั่นจากการประกันภัยต่อ และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ค่อนข้างคงที่ นอกจากนี้ TIP ยังให้การรับประกันทั้งในกลุ่มลูกค้าองค์กรและกลุ่มลูกค้าบุคคล โดยมีที่มาของกำไรจากการรับประกันภัยที่สำคัญซึ่งประกอบด้วยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (42%) เบ็ดเตล็ด (22%) อัคคีภัย (21%) และรถยนต์ (13%) ในช่วงปี 2559-2564
มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดี
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง TIP มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดี การร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TIPH ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลซึ่งประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทยนั้นส่งผลให้ TIP สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางและให้บริการกับพนักงานภาครัฐจำนวนมากภายใต้แรงกดดันด้านราคาที่ต่ำกว่า หน่วยงานเหล่านี้ยังให้การแนะนำทางธุรกิจสำหรับลูกค้าองค์กรและลูกค้าบุคคลอีกด้วย อีกทั้งการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านนายหน้าประกันภัยที่ไม่ใช่ธนาคารและแพลตฟอร์มดิจิทัลยังช่วยเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับ TIP ได้ด้วย นอกจากนี้ การลงทุนในอนาคตของ TIPH ในนวัตกรรมทางการเงินและแพลตฟอร์มดิจิทัลจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการจัดจำหน่ายของ TIP ได้อีกทางหนึ่ง
ความสามารถในการทำกำไรแข็งแกร่ง
TIP มีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยมีผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (Return On Average Equity: ROAE) อยู่ที่ระดับ 20%-25% ในช่วงปี 2559-2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า ROAE ซึ่งจะลดลงสู่ระดับประมาณ 10% ในปี 2565 จากค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันโรคโควิด 19 ที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น โดยคาดการณ์ว่า ROAE จะกลับคืนสู่ระดับปกติได้ที่ระดับ 20% ในปี 2566-2567 สำหรับ ROAE ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงในช่วงเวลาที่ผ่านมา สะท้อนถึงผลกำไรจากการรับประกันภัยที่ดีจากอัตราส่วนรวม (Combined Ratio) เฉลี่ยที่ระดับ 75% ในช่วงปี 2559-2563 รายได้ค่าคอมมิชชั่นจากประกันภัยต่อจากการใช้ประกันภัยต่อในสัดส่วนที่สูง และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ระดับ 5%-6% ต่อปี TIP ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนของประกันโรคโควิด 19 จำนวนมากเช่นเดียวกับบริษัทประกันวินาศภัยอื่น ๆ ในช่วงระหว่างปี 2564 ถึงครึ่งแรกของปี 2565 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) โดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 70% และ 90% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กรมธรรม์ประกันโรคโควิด 19 ของ TIP นั้นจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับกรณีรุนแรงเท่านั้น ซึ่งมีความคุ้มครองจากการประกันภัยต่อแบบอัตราส่วน (Quota Share) ในสัดส่วนที่สูงอีกด้วย การเคลมประกันโรคโควิด 19 โดยส่วนใหญ่ได้สิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2565 เนื่องจากบริษัทได้หยุดรับประกันโรคโควิด 19 ซึ่งให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา
เงินกองทุนแข็งแกร่ง
TIP น่าจะคงอัตราส่วนเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทมีเงินทุน (Total Capital Available: TCA) อยู่ที่ระดับ 7.4 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งมีขนาดปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ที่ระดับ 243% ณ เดือนมิถุนายน 2565 หลังจากจ่ายเงินปันผล 900 ล้านบาทไปในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของบริษัทจะคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 240% ได้ในอนาคตด้วยอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่ 50% ทริสเรทติ้งยังประมาณการอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับที่จะกลับสู่ระดับปกติที่ 5%-6% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป หลังจากที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 16% ต่อปีในช่วงปี 2563-2564 และอัตราการเติบโตจะคงที่ในปี 2565 สมมติฐานอื่น ๆ ยังประกอบด้วย Loss Ratio ในระดับปกติที่ระดับ 50%-55% ในช่วงปี 2566-2567 หลังจากที่ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 70% ในปี 2565 จากค่าสินไหมทดแทนประกันโรคโควิด 19 จำนวนมาก
มีความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินกองทุนที่จำกัด
ทริสเรทติ้งคาดว่าความผันผวนต่อเงินกองทุนของ TIP จะลดต่ำลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีการจัดการที่ดีต่อความเสี่ยงจากการรับประกันภัย มีการใช้ประกันภัยต่ออย่างมีประสิทธิภาพ และมีกลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งเน้นที่รายได้ที่มั่นคง ผลกำไรจากการรับประกันที่ดีของ TIP สะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเบี้ยประกันตามความเสี่ยงซึ่งตรวจสอบโดยทีมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยของบริษัท การนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรมของกลุ่มตลาดเป้าหมายช่วยลดแรงกดดันด้านราคาในการขายกรมธรรม์ประกันภัยของ TIP ได้ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับบริษัทประกันภัยต่อในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันอีกด้วย
TIP มีการใช้ประกันภัยต่อในระดับสูงเมื่อเทียบกับบริษัทประกันภัยอื่น เพื่อดำเนินธุรกิจภายใต้จำนวนเงินสูงสุดที่บริษัทสามารถรับความเสี่ยงไว้เอง (Retention Limit) เป็นการเพิ่มความสามารถในการรับประกัน และลดความผันผวนของผลการดำเนินงานจากการรับประกัน โดยมีการติดตามความเสี่ยงของคู่สัญญาการประกันภัยต่ออย่างสม่ำเสมอด้วยการติดตามอันดับเครดิต อัตราส่วนเงินกองทุน และการกระจุกตัวของบริษัทประกันภัยต่อแต่ละราย สัญญาประกันภัยต่อประกอบด้วยสัญญาแบบกำหนดสัดส่วนแน่นอน (Proportional Treaty) เพื่อร่วมรับความเสี่ยงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน บริษัทยังทำสัญญาประกันภัยต่อแบบไม่เป็นสัดส่วน (Non-Proportional Treaty) และสัญญาประกันภัยต่อเฉพาะราย (Facultative Reinsurance) อีกหลายฉบับเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและภัยที่มีลักษณะเฉพาะ นอกจากนี้ ความเสี่ยงประเภทหลักจากการรับประกันภัยสุทธิของบริษัท ซึ่งได้แก่ อุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยรถยนต์และทรัพย์สิน โดยทั่วไปแล้วก็จะมีการกระจายตัวด้วย
ในด้านการลงทุน ทริสเรทติ้งคาดว่าความผันผวนของเงินกองทุนจากพอร์ตการลงทุนของ TIP จะมีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัดจากกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นรายได้เป็นหลัก บริษัทมีการแบ่งเงินลงทุนเป็นกลุ่มตามวัตถุประสงค์อันประกอบด้วยเงินทุนหมุนเวียน การจัดการสินทรัพย์-หนี้สินสำหรับการชำระค่าสินไหมทดแทน ส่วนที่มุ่งเน้นผลตอบแทน และส่วนอื่น ๆ โดยในสองส่วนแรกประกอบด้วยเงินสด ตราสารในตลาดเงิน หุ้นกู้รัฐบาล และหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ซึ่งน่าจะยังคงสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของพอร์ตลงทุนรวมของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับกระบวนการลงทุนนั้นเป็นไปตามขีดจำกัดความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ระบุไว้แต่ละประเภท อันดับความน่าเชื่อถือขั้นต่ำสำหรับหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน และมูลค่าความเสี่ยง (VAR) สำหรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้น
การบริหารความเสี่ยงและกรอบธรรมาภิบาลที่ครอบคลุม
การบริหารความเสี่ยงและกรอบธรรมาภิบาลของ TIP นั้นสอดคล้องกับกรอบการบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management: ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (Own Risk and Solvency Assessment: ORSA) ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) TIP มีการควบคุมความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และติดตามตัวบ่งชี้ความเสี่ยงหลัก (Key Risk Indicators: KRIs) เป็นประจำทุกเดือน มีการระบุดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Risk Parameter) ควบคู่ไปกับช่วงเบี่ยงเบนที่ยอมรับได้ (Tolerance Level) และมีแนวปฏิบัติในการรับมือกับความเสี่ยงไว้อย่างชัดเจน โดยมีการกำหนดความเสี่ยงที่สำคัญ ๆ ซึ่งประกอบด้วย ความเสี่ยงด้านเงินกองทุน ความเสี่ยงจากการรับประกันภัย ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านตลาด TIP ยังประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของบริษัทได้ดียิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนตามเกณฑ์ของ คปภ. นอกจากนี้ ยังมีการจำลองผลกระทบจากภาวะวิกฤติภายใต้สถานการณ์จำลองที่หลากหลาย (Multiple-scenario Stress Test) เพื่อให้มั่นใจว่าระดับของอัตราส่วนเงินกองทุนจะอยู่เหนือระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของบริษัทที่ 180% การทดสอบดังกล่าวเป็นการจำลองผลกระทบจากการจ่ายค่าสินไหมในปริมาณสูงจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่และเหตุการณ์การแพร่ของโรคระบาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ บริษัทยังดำเนินการติดตามความเสี่ยงขององค์กรและทบทวนกรอบการบริหารความเสี่ยงภายในอย่างน้อยปีละครั้ง
มีสภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่า TIP จะสามารถรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอได้จากพอร์ตเงินลงทุนที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงเมื่อเทียบกับสำรองค่าสินไหมทดแทนของบริษัท อัตราส่วนสภาพคล่องตามเกณฑ์ของ คปภ. อยู่ที่ระดับ 184% ณ เดือนมิถุนายน 2022 นอกเหนือจากเงินสด ตราสารในตลาดเงิน และเงินฝากแล้ว TIP ยังมีการลงทุนทั้งหมดในสินทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ตราสารทุน กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าผู้ถือหุ้นของ TIPH ซึ่งเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่จะสามารถเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับ TIP ในรูปของวงเงินสินเชื่อได้อีกเมื่อมีความจำเป็น
เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวด
ความเสี่ยงของธุรกิจประกันวินาศภัยที่ทริสเรทติ้งประเมินนั้นสะท้อนถึงสถานะธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดของ คปภ. ซึ่งมีกรอบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมการดำเนินงานในด้านประกันภัยที่สำคัญ ๆ ทั้งหมดอันประกอบไปด้วย ความเพียงพอของเงินกองทุน การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยและเงื่อนไขของการประกัน กรอบธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยง การประเมินมูลค่าของสัญญาประกัน รวมถึงขอบเขตการลงทุนที่ได้รับอนุญาต มีการกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุนตามกรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (ภายใต้มาตรฐาน RBC-2) ซึ่งมีการระบุน้ำหนักของความเสี่ยงในแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) ที่กำหนดวิธีการติดตามสถานะทางการเงินของบริษัทประกันและขั้นตอนการแทรกแซงบริษัทประกันที่มีความเปราะบาง อีกทั้งกองทุนประกันภัยยังช่วยลดทอนความเสี่ยงเชิงระบบจากกรณีที่เกิดการเคลมขนาดใหญ่และกรณีที่มีบริษัทประกันล้มละลายได้อีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจะอยู่ในระดับคงที่ในปี 2565 และ 5%-6% ในช่วงปี 2566-2567
- อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนจะอยู่ที่ระดับ 68%-70% ในปี 2565 และ 50%-55% ในปี 2566-2567
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ระดับ 28%-29%
- ผลตอบแทนจากเงินลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่า TIPH จะยังคงเป็น NOHC ของ TIPH Group ซึ่ง TIPH จะยังคงอาศัยเงินปันผลจาก TIP ซึ่งเป็นบริษัทหลักของกลุ่ม นอกจากนี้ ยังสะท้อนมุมมองว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มจะยังคงแข็งแกร่งจากสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีเยี่ยม ผลกำไรจากการรับประกันภัยที่ดี เงินกองทุนที่แข็งแกร่ง การบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ รวมถึงสภาพคล่องที่เพียงพอ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตของ TIPH หากมีการปรับลด GCP ของ TIPH Group ลง โดยสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากมีการเสื่อมถอยอย่างมีนัยสำคัญในสถานะเงินกองทุนหรือสภาพคล่องของ TIP ซึ่งอาจเป็นผลมาจากผลขาดทุนเป็นมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง หลักฐานใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อบกพร่องของการบริหารความเสี่ยงและระบบธรรมาภิบาลอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกดดันต่อสถานะเครดิตได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังสามารถปรับลดอันดับเครดิตของ TIPH ได้อีกจากการปรับระดับความห่างจาก GCP ที่ห่างขึ้นหาก TIPH มีความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และหนี้สิน ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง หรือมี Double Leverage เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทริสเรทติ้งอาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ TIPH จากการปรับระดับความห่างจาก GCP ที่แคบลง หากมีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า TIPH มีความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเองที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีหลากหลายธุรกิจที่มีนัยสำคัญที่อยู่ภายใต้การควบคุม และมีการดำเนินการที่เป็นอิสระต่อกัน หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพียงพอจากการดำเนินงานหรือการลงทุนของบริษัทเอง หรือจากธุรกิจในเครือที่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล และ/หรือ หากบริษัทมีเงินสดที่ไม่มีภาระผูกพันหรือมีการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูงในปริมาณมากได้อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตบริษัทประกัน, 9 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TIPH)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable