ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A+? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ ?A-? พร้อมทั้งคงแนวโน้มอันดับเครดิต ?Positive? หรือ ?บวก?
แนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจจากธุรกิจหลักของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นจากการนำบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของรายได้จากผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆของบริษัท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งของบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลก รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย และตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนลักษณะของธุรกิจที่คู่แข่งรายใหม่เข้ามาได้ยากเนื่องจากมีโควต้าการจับปลาและต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการฟื้นตัวที่เปราะบางของภาวะเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ตลอดจนความความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลประกอบการอ่อนลงจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อันเป็นผลมาจากสภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แม้ว่าจะมีความท้าทายหลากหลายประการในช่วงไตรมาสข้างหน้า แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะรักษาผลประกอบการที่ดีไว้ได้ จากกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและสินค้าที่เพิ่มมูลค่า ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการลดต้นทุนของบริษัท
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และได้รับประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคกักตุนสินค้าในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้น 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ตลอดจนการปรับราคาสินค้าที่มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานลดลง จากราคาวัตถุดิบ ตลอดจนต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าจะมีความพยายามในการปรับราคาสินค้าหลายครั้ง แต่กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทก็ลดลง 16.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 6.5 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดย EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน จากระดับ 10%-11% ในช่วงปี 2563-2564 แต่ยังคงสูงกว่าระดับ 7%-8% ในปี 2561-2562
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3%-10% ต่อปีในปี 2565-2567 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า ตลอดจนการออกสินค้าใหม่ ๆ โดยคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 8.3%-9.8% ในปี 2565-2567
ความท้าทายในอนาคตของ Red Lobster
?Red Lobster? เป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งบริษัทมีสัดส่วนการลงทุน 49% ประกอบด้วยการลงทุนในหุ้นสามัญจำนวน 25% ของหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และอีกจำนวน 24% เป็นการลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิที่แปลงสภาพได้คิดเป็นมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ธุรกิจของ Red Lobster ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่และภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 460 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับผลขาดทุนจำนวน 105 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของ Red Lobster จะยังเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยยังส่งผลลบต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินและมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทอีกด้วย แม้ว่าจะมีกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มจำนวนลูกค้า แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่า Red Lobster ยังคงต้องใช้เวลาในการดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านมากขึ้น ตลอดจนการปรับปรุงอัตรากำไรจากการดำเนินงานให้ดีขึ้นจนถึงระดับจุดคุ้มทุน
ภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากสินค้าคงเหลือที่อยู่ในระดับสูง
บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากจากสินค้าคงเหลือที่อยู่ในระดับสูง อันเป็นผลมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นมาก หนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 6.8 หมื่นล้านบาทในปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 53.3% ในปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.3 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากระดับ 4.2-4.4 เท่าในช่วงปี 2563-2564
ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับลดลงเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนการลงทุนซื้อกิจการขนาดใหญ่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาวินัยทางการเงิน นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าที่มีนวัตกรรม ซึ่งมีอัตรากำไรที่ดี ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนปรับปรุงสถานะทางการเงินโดยจะนำบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง ที่คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้าอีกด้วย
ทั้งนี้ สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ 5.2 เท่าในปี 2565 และลดลงมาอยู่ที่ระดับ ต่ำกว่า 4 เท่าในปี 2566-2567 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 53% ในปี 2565 และลดลงต่ำกว่า 50% ในปี 2566-2567
มีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่หลากหลาย
บริษัทเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 570,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลกอีกด้วย โดยนอกเหนือจากปลาทูน่าซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักในสัดส่วน 33% ของยอดขายรวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 แล้ว สินค้าอาหารทะเลของบริษัทยังประกอบไปด้วย กุ้งและสินค้าที่เกี่ยวข้อง (26%) อาหารสัตว์เลี้ยง (13%) ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอร์เรล (7%) ปลาแซลมอน (7%) รวมทั้งสินค้าเพิ่มมูลค่าและสินค้าอื่น ๆ (14%) ด้วย
การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบ ทั้งนี้ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยังเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการใช้ผลผลิตพลอยได้ เช่น การนำก้าง หนัง และหัวปลามาใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันสกัดจากปลาทูน่าและสาหร่าย ตลอดจนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่บริษัทได้รับสิทธิบัตรคือ แคลเซียม และคอลลาเจนจากปลาทูน่าอีกด้วย
มีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์
การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ทั้งในด้านฐานการผลิตและตลาดช่วยลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทลงได้บางส่วน โดยบริษัทมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ใน 11 ประเทศซึ่งครอบคลุม 4 ทวีป นอกจากนี้ บริษัทยังมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ด้วยเช่นกัน โดยรายได้จากทวีปอเมริกาเหนือซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 42% ของรายได้รวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 รองลงมาคือตลาดยุโรป 26% ประเทศไทย 11% และประเทศญี่ปุ่น 6% ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดจากโรคระบาด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้า และกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลกได้ในระดับหนึ่ง
สภาพคล่องพียงพอ
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทไม่มีหนี้สินทางการเงินระยะยาวที่ครบกำหนดชำระ ในขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายลงทุนตามแผนประมาณ 5 พันล้านบาท แหล่งที่มาของเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 นอกจากนี้ สภาพคล่องของบริษัทยังมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดประมาณ 2.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ตลอดจนวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันทางการเงินอีกหลายแห่ง
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 10% ในปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างมาก และรายได้จะเพิ่มขึ้น 2%-3% ในช่วงปี 2566-2567
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในช่วง 17.6%-18.4% ในขณะที่ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับประมาณ 8.3%-9.8% ในช่วงปี 2565-2567
? ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 5.0-6.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Positive? หรือ ?บวก? สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ตลอดจนกลยุทธ์ของที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดี และโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้น จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทต่ำกว่าระดับ 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมาก หรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลง จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทสูงกว่าระดับ 7 เท่าอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TU237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
TU241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
TU242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
TU26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
TU26NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
TU271A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
TU287A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
TU29NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+
TU31NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
TU19PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 6,000 ล้านบาท A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive