ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?BB? จาก ?BB+? และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จาก ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ การลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่อ่อนแอลงจากการเติบโตที่หยุดนิ่งและผลประกอบการทางการเงินที่ถดถอยลงอันเกิดจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่สามารถรับบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินทั่วไป นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังถูกลดทอนจากการที่บริษัทมีลูกหนี้ที่กระจุกตัวในระดับสูงซึ่งทำให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Non-performing Loan ? NPL) เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ฐานทุนที่แข็งแรงของบริษัทยังคงเป็นจุดแข็งต่ออันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งที่ยังคงเห็นความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวในผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในระยะปานกลางในขณะที่ความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่ (Refinancing Risk) อาจเกิดขึ้นหากบริษัทไม่มีการบริหารจัดการเงินทุนให้ดี
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดที่อ่อนตัวลง
การลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่ทริสเรทติ้งปรับลดสถานะเสถียรภาพทางธุรกิจ (Business Stability) ของบริษัทลงมา โดยการปรับลดดังกล่าวมาจากการที่สถานะทางการตลาดของบริษัทอ่อนแอลงซึ่งเห็นได้จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่หดตัวลงอย่างมากมาอยู่ที่จำนวน 2.2 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 ทั้งนี้ การหดตัวนั้นเกิดจากการเข้มงวดที่มากยิ่งขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อจากการที่สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) บริษัทมีความพยายามที่จะฟื้นคืนสถานะทางการตลาดกลับมา อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าโอกาสในการขยายสินเชื่อในระยะสั้นถึงระยะยาวของบริษัทนั้นยังคงมีความไม่แน่นอน โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 สินเชื่อคงค้างของบริษัทยังคงมีจำนวนไม่มาก โดยอยู่ระดับประมาณ 2.1 พันล้านบาทเท่านั้น
คุณภาพสินเชื่อที่ปรับตัวลดลงมีปัจจัยเร่งจากการกระจุกตัวของสินเชื่อ
บริษัทมีสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 38.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 15.3% ณ สิ้นปี 2564 โดยเกิดจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในช่วงที่มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 เพิ่มสูงขึ้นมากในปี 2564 ซึ่งทำให้ลูกค้าของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการต้องหยุดการทำงาน ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 เงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างคิดเป็น 51% ของเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตทั้งหมดของบริษัท ในขณะเดียวกัน การประจุกตัวของสินเชื่อยังคงเป็นข้อจำกัดต่ออันดับเครดิตของบริษัทและส่งผลกดดันต่อสถานะความเสี่ยงของบริษัทอีกด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 สัดส่วนสินเชื่อที่ให้แก่ลูกหนี้รายใหญ่ 20 รายแรกคิดเป็น 58% ของสินเชื่อรวมทั้งหมดของบริษัท
เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อที่ปรับตัวลดลง บริษัทจึงได้ปรับนโยบายการอนุมัติสินเชื่อให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นโดยเน้นการเรียกหลักประกันและลดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างให้น้อยลง ในขณะที่รอผลของการปรับนโยบายสินเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมคุณภาพสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ได้หรือไม่นั้น หน้าที่หลักของบริษัทเฉพาะหน้านี้คือการจัดการสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่มีอยู่อย่างมีประสิทฺธิภาพเพื่อที่จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นได้ในระยะปานกลาง
ผลประกอบการทางการเงินที่อ่อนแอลง
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการทางการเงินของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันต่อไปในระยะปานกลาง ทั้งนี้ บริษัทรายงานผลขาดทุนสุทธิ 95 ล้านบาทในปี 2564 จากการที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 กำไรสุทธิของบริษัทยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการที่สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับสูงจนส่งผลทำให้รายได้ดอกเบี้ยปรับตัวลดลงและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ในขณะเดียวกัน รายได้ค่าธรรมเนียมก็ปรับตัวลดลงเช่นกันจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลงและการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อค้ำประกันซองประมูล
ผลที่ตามมาก็คือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยมีการปรับตัวติดลบที่ระดับ -3.5% ในปี 2564 และ -3.7% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับระดับ 3.1% ในปี 2563 ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความสามารถในการกลับมาปล่อยสินเชื่อและควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในอนาคต
ในขณะเดียวกัน นโยบายการตั้งสำรองของบริษัทมีการปรับเพิ่มขึ้นจากอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) ที่ปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 70% จากที่ระดับประมาณ 60% ในอดีต ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Under-performing Loan : Stage 2) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 25% จากประมาณ 15% ในอดีต กระนั้นค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทโดยรวมนั้นยังคงได้รับแรงกดดันอยู่เมื่อพิจารณาจากสถานะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งอยู่ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอและภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงและจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่อไปในระยะปานกลาง
ฐานทุนที่ยังคงความแข็งแกร่ง
ฐานทุนที่แข็งแกร่งยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่ออันดับเครดิตของบริษัท โดยความแข็งแกร่งของฐานทุนของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk Adjusted Capital (RAC) Ratio) นั้นอยู่ที่ระดับ 45.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับระดับ 31.2% ณ สิ้นปี 2564 ฐานทุนที่แข็งแกร่งดังกล่าวเกิดจากการขยายสินเชื่อที่ชะลอตัวลงผนวกกับการเพิ่มทุนผ่านการใช้สิทธิเพิ่มทุน (Rights Offering ? RO) ในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งได้รับเงินทุนเพิ่มจำนวน 236 ล้านบาท แม้ทริสเรทติ้งจะเชื่อว่ากลยุทธ์การเติบโตแบบระมัดระวังน่าจะช่วยคงสถานะที่แข็งแกร่งของฐานทุนเอาไว้ได้ในระยะปานกลาง แต่ผลประกอบการทางการเงินที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลกระทบต่อระดับฐานทุนของบริษัทได้เช่นกัน
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอพร้อมกับความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่สำหรับภาระหนี้สินที่จะครบกำหนดในระยะใกล้
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอเมื่อพิจารณาจากแผนการขยายธุรกิจที่ระมัดระวัง ในส่วนของโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 นั้น บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้คิดเป็น 40% และมีฐานทุนคิดเป็น 60% ในส่วนของเงินกู้นั้น บริษัทมีวงเงินกู้ยืมที่ได้รับจากสถาบันการเงินหลายแห่งรวมถึงยังมีความสามารถในการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้อีกด้วย ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อระยะสั้นคงเหลือจากสถาบันการเงินที่ยังสามารถเบิกใช้ได้อยู่ที่จำนวน 635 ล้านบาทซึ่งช่วยสนับสนุนสภาพคล่องได้
บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างจำนวน 393 ล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนธันวาคม 2565 และจำนวน 394 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2566 โดยบริษัทมีแผนการจ่ายชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2565 ด้วยการใช้เงินสดในมือและกระแสเงินสดของบริษัท ส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2566 นั้นบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ทดแทนในช่วงปลายปี 2565 ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทน่าจะสามารถบริหารจัดการการชำระคืนหุ้นกู้จำนวน 393 ล้านบาทได้ตามแผน แต่หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2566 นั้นยังคงมีความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้
? สินเชื่อใหม่จะหดตัวในปี 2565 แล้วจะกลับมาขยายตัวที่ระดับประมาณ 5% ต่อปีหลังจากนั้น
? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะอยู่ในระดับเกินกว่า 40%
? อัตราผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยโดยรวมจะยังคงอยู่ในระดับ 5%-7%
? ต้นทุนทางด้านเครดิตจะรักษาระดับอยู่ที่ 3%-4%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5.5%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของผลประกอบการทางการเงินของบริษัทอันเนื่องมาจากแรงกดดันที่ต่อเนื่องของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถฟื้นฟูสถานะทางการตลาด ตลอดจนปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการทางการเงินกลับมาได้ในขณะที่ยังรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงคงอยู่ที่ระดับเกินกว่า 25%
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินเชื่อของบริษัทยังคงถดถอยลงอย่างต่อเนื่องจนทำให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากและทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่า 25% อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือทำให้ความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่เพิ่มสูงขึ้น
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT)
อันดับเครดิตองค์กร: BB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative