ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมเหล็กที่อยู่ในธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) รวมถึงการมีสินค้าที่ครอบคลุมกว้างขวาง และฐานลูกค้าที่หลากหลาย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนจากลักษณะของอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นวงจรขึ้นลงและมีการแข่งขันด้านราคาที่สูง ตลอดจนอัตรากำไรที่ผันผวนของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ตำแหน่งการตลาดที่แข่งแกร่ง
บริษัทยังคงมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านสินค้าเหล็กชั้นนำของประเทศไทย หากพิจารณาถึงรายได้แล้ว บริษัทมีขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมผู้ค้าเหล็กปลายน้ำที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีรายได้ถึง 2.16 หมื่นล้านบาทในปี 2564
ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ บริษัทได้ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งเหล่านี้ในการนำเสนอบริการให้คำปรึกษาและโซลูชั่นทางธุรกิจ ซึ่งทำให้บริษัทมีความแตกต่างจากผู้จำหน่ายเหล็กรายอื่น ๆ ทั่วไป การบริการดังกล่าวได้ให้ประโยชน์แก่ลูกค้า ทั้งในแง่ของการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และช่วยลดต้นทุนของลูกค้าในด้านการจัดการสินค้าคงคลังและคลังสินค้าด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของบริษัทก็ได้รับประโยชน์จากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่าบริษัทคู่แข่งอีกด้วย
การขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของบริษัทนั้น จะยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตของยอดขายของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในปี 2564 กำลังการผลิตของบริษัทอยู่ที่ 8.06 แสนตันต่อปี โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีเท่ากับ 9.2% ตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทยังคงขยายกำลังการผลิตทั้งในส่วนของท่อเหล็ก เครื่องตัดเหล็กม้วน รวมไปถึงขยายพื้นที่คลังสินค้า และยังได้เพิ่มกำลังการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีความเรียบเป็นพิเศษ ซึ่งมีชื่อว่า ?STAY FLAT? เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าด้วยเช่นกัน
มีสินค้าที่ครอบคลุมกว้างขวางและฐานลูกค้าที่หลากหลาย
บริษัทยังคงดำเนินกลยุทธ์ในการเป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์เหล็กแบบครบวงจร (One-stop Steel Supplier) เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยผลิตภัณฑ์เหล็กของบริษัท ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์สินค้าเหล็กชนิดแบน เหล็กชนิดยาว รวมถึงผลิตภัณฑ์สั่งทำพิเศษ ได้ช่วยให้บริษัทเข้าถึงฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความต้องการใช้เหล็กที่ผันผวนได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ประมาณ 50% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทนั้นมาจากผู้ค้าส่งและตัวแทนจำหน่าย ในขณะที่ 24% มาจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง และส่วนที่เหลือนั้นมาจากอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอิงกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมากยิ่งขึ้นโดยประเมินจากการเติบโตที่รวดเร็วของยอดขายท่อเหล็กโครงสร้างรวมถึงแผนการเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กท่อของบริษัท
ความสามารถในการทำกำไรดีกว่าคู่แข่ง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีอัตรากำไรที่สูงและผันผวนน้อยกว่าผู้ค้าเหล็กรายอื่น ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวและยังคงรักษาธุรกิจให้มีผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ วัฏจักรที่ผ่านมา ในขณะที่ คู่แข่งบางรายประสบภาวะขาดทุนและมีความผันผวนของผลกำไรที่มากขึ้น ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทมีปัจจัยมาจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการบริการให้คำปรึกษาและความสามารถในการจัดการผลกระทบของความผันผวนของราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (Hot Rolled Coil ? HRC) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญได้ ทั้งนี้ บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพและการหมุนเวียนสินค้าคงคลังอย่างรวดเร็วโดยถือเป็นกลยุทธหลักเพื่อลดผลกระทบจากราคาเหล็กที่ผันผวนอีกด้วย
มีความเสี่ยงในอุตสาหกรรมสูง
บริษัทยังคงเผชิญต่อความเสี่ยงด้านวัฏจักรของสินค้าโภคภัณฑ์ การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีน โดยปัจจัยเชิงลบเหล่านี้ยังคงเป็นตัวลดทอนความเข้มแข็งด้านเครดิตของบริษัทอย่างต่อเนื่อง รายได้ของบริษัทยังคงขึ้นอยู่กับการบริโภคเหล็กในประเทศไทย ซึ่งสามารถขึ้นลงได้อย่างรวดเร็วตามอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการผลิต อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจด้วย โดยในช่วงปี 2560-2564 อัตราการเติบโตของการบริโภคเหล็กในประเทศนั้นค่อนข้างผันผวนโดยอยู่ในช่วงระหว่าง -14% ถึง 14% ต่อปี
ในทางกลับกัน การเคลื่อนไหวของราคาเหล็กนั้นเป็นไปตามราคาในตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยประเทศจีนซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเหล็กที่ใหญ่ที่สุดของโลก ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2564 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กได้ลดลงอย่างมากตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เนื่องจากความต้องการเหล็กในประเทศจีนลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากมีการปิดประเทศอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) รวมไปถึงการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ ในขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากแรงกดดันของเงินเฟ้อก็ส่งผลให้ความต้องการเหล็กทั่วโลกชะลอลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กก็อาจได้รับการพยุงจากการผลิตที่หดตัวด้วย
อัตรากำไรที่ผันผวน
สถานะเครดิตของบริษัทถูกลดทอนลงจากผลกำไรที่ไม่ค่อยเสถียร โดยเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบที่ผันผวน ดังจะเห็นได้จากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่บริษัททำได้ต่อปีมีความผันผวนระหว่าง 0.6 พันล้านบาทถึง 2.28 พันล้านบาทในช่วงปี 2560-2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ก็ผันผวนในวงกว้างโดยอยู่ระหว่าง 3.6%-10.5% อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเหล็กที่อยู่ในธุรกิจปลายน้ำเช่นเดียวกัน อัตรากำไรของบริษัทนั้นถือว่ามีความผันผวนในระดับที่น้อยกว่า
กระแสเงินสดน่าจะฟื้นตัวในปี 2566
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะอ่อนตัวลงในปี 2565 จากการปรับตัวลงของราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนและความต้องการเหล็กในประเทศไทยที่ลดลง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ปริมาณการขายของบริษัทหดตัวลง 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 0.355 ล้านตัน ในขณะเดียวกัน บริษัทมี EBITDA อยู่ที่ 560 ล้านบาทซึ่งลดลงถึง 62% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และ EBITDA Margin ก็ลดลงเหลือ 4.7% จาก 14.1% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้เหล็กในประเทศไทยน่าจะดีขึ้นในปี 2566 จากการฟื้นตัวของตลาดทั้งในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการก่อสร้าง ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณการขายของบริษัทจะทรงตัวในปี 2565 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้น 6%-8% ต่อปีในช่วงปี 2566-2567 ราคาเหล็กมีแนวโน้มที่จะกลับคืนสู่ระดับปกติในปี 2566-2567 จากการปรับสมดุลของอุปสงค์และอุปทานทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเป็นไปได้ที่ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนจะปรับเพิ่มขึ้นนั้นน่าจะมีจำกัดในระยะอันใกล้นี้ เนื่องจากสภาวะของอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำและการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน
จากการคาดการณ์กรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ 0.8 พันล้านบาทในปี 2565 ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1.1 พันล้านบาทในช่วงปี 2566-2567 เช่นเดียวกันกับเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 0.6 พันล้านบาทในปี 2565 และปรับเพิ่มเป็นอย่างน้อยที่ 0.9 พันล้านบาทต่อปีในอีก 2 ปีข้างหน้า
สัดส่วนภาระหนี้สินมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าภาระหนี้คงค้างของบริษัทน่าจะค่อย ๆ ลดลง จากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่น้อยลงตามทิศทางขาลงของราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งมองว่าเงินลงทุนของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 400 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA จะลดลงจาก 6.0 เท่าในปี 2565 มาอยู่ในช่วง 4-4.5 เท่าในระหว่างปี 2566-2567 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อเงินทุนน่าจะอยู่ที่ 58%-60% และอัตราส่วนของเงินทุนจากการดำเนินงานต่อภาระหนี้สินจะอยู่ในช่วง 12%-20% ตลอดระยะเวลาคาดการณ์
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้สินระยะยาวจากสถาบันการเงินที่จะถึงกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าเป็นจำนวนเงินประมาณ 0.64 พันล้านบาท และมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 4.6 พันล้านบาท ในขณะที่ แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินทุนซึ่งรวมเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่ประมาณ 0.7-0.8 พันล้านบาท เงินสดจำนวน 0.16 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 และวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 5.6 พันล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนเหล่านี้ยังคงเพียงพอต่อภาระหนี้สินในระยะสั้นนี้
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้ 6.7 พันล้านบาท โดยหนี้ของบริษัทประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้น 4.6 พันล้านบาท และเงินกู้ระยะยาว 2.1 พันล้านบาท บริษัทได้รับเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอยู่ที่ 23.7% ณ เดือนมิถุนายน 2565
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ปริมาณเหล็กที่จำหน่ายจะทรงตัวในปี 2565 ก่อนที่จะฟื้นตัวมาอยู่ที่ประมาณ 6%-8% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566
? EBITDA Margin จะอยู่ที่ 4% ในปี 2565 ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ค่าเฉลี่ยประมาณ 6% ในช่วงปี 2565-2566
? เงินลงทุนโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่จำนวนประมาณ 400 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 80%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าคู่แข่งเอาไว้ได้ รวมถึงมีกระแสเงินสดและระดับหนี้สินที่สอดคล้องกับที่ได้คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะจัดการเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างรอบคอบและดำเนินการตามแนวทางการกำหนดราคาสินค้าอย่างมีวินัย
?
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากฐานกระแสเงินสดของบริษัทมีการขยายเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับปัจจุบันเมื่อเทียบกับภาระหนี้สินจนบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ให้ต่ำกว่า 3.5 เท่าได้ หรือมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินอยู่ที่ 20% หรือสูงกว่าอย่างยั่งยืน
ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทลดต่ำลงกว่าประมาณการจนส่งผลกระทบทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ แรงกดดันในด้านลบต่ออันดับเครดิตก็อาจเกิดจากการความต้องการเหล็กในประเทศที่ลดลงเป็นระยะเวลายาวนานได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) (TMT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable