อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพของบริษัทในประเทศไทย ซึ่งมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันจากความแข็งแกร่งของกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักทั้งในด้านการจัดหาวัตถุดิบจนไปถึงการจำหน่าย อย่างไร
ก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนลงจากอุปทานส่วนเกินของเชื้อเพลิงชีวภาพ การแข่งขันที่รุนแรง และกำไรที่มีความ
ผันผวน
ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวได้พิจารณาถึงโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นจากเงินเพิ่มทุนที่ได้รับจากการเสนอขายหลักทรัพย์ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering -- IPO) อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตของบริษัทยังคงถูกกดดันจากผลประกอบการที่ถดถอยลงอันเนื่องมาจากการปรับตัวขึ้นสูงของต้นทุนวัตถุดิบในปี 2565
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศไทย
บริษัทเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพชั้นนำของประเทศไทยโดยมีกำลังผลิตใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยทั้งผลิตภัณฑ์
เอทานอลและไบโอดีเซล
ภาครัฐกำหนดให้เอทานอลเป็นส่วนผสมในแก๊สโซฮอล์ที่จำหน่ายในตลาดค้าปลีกเชื้อเพลิง บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงงานเอทานอล 3 แห่งผ่านทางบริษัทย่อย โดยมีกำลังการผลิตรวม 0.6 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 8.7% ของกำลังการผลิตเอทานอลในประเทศไทย และกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.8 ล้านลิตรต่อวันในปี 2566 ตามโครงการขยายกำลังการผลิตของบริษัท
ในขณะเดียวกัน บริษัทก็เป็นเจ้าของและดำเนินการโรงงานไบโอดีเซลที่มีกำลังการผลิต 1.0 ล้านลิตรต่อวันหรือคิดเป็น 10.3% ของกำลังการผลิตในอุตสาหกรรม สัดส่วนของไบโอดีเซลที่จะถูกนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อการจำหน่ายในตลาดค้าปลีกนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลซึ่งจะแปรผันไปตามสถานการณ์ตลาดในแต่ละช่วง
ในปี 2564 บริษัทจำหน่ายเอทานอลได้รวม 183 ล้านลิตรหรือคิดเป็น 13.5% เทียบกับการจำหน่ายเอทานอลทั้งประเทศ ในขณะที่บริษัทจำหน่ายไบโอดีเซลรวมทั้งสิ้น 239 ล้านลิตรหรือคิดเป็น 14.2% ของการจำหน่ายไบโอดีเซลทั้งประเทศ
มีความได้เปรียบในการแข่งขันจากห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์
ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากการมีห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายระยะยาวกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งการจัดหาวัตถุดิบและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์
ในด้านการจัดหาวัตถุดิบ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดหากากน้ำตาลให้บริษัทเป็นหลัก โดยกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล ภายใต้สัญญาซื้อขายวัตถุดิบระยะยาวนั้นบริษัทมีสิทธิ์ในการซื้อกากน้ำตาลทั้งหมดจากโรงงานน้ำตาล 4 แห่งของบริษัทน้ำตาลขอนแก่นก่อนผู้ซื้อรายอื่น ซึ่งทริสเรทติ้งเห็นว่าสัญญาดังกล่าวช่วยลดทอนความเสี่ยงจากการขาดแคลนกากน้ำตาลได้ ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทซื้อกากน้ำตาลจากบริษัทน้ำตาลขอนแก่นประมาณ 44% ของความต้องการ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของบริษัทน้ำตาลขอนแก่นในการจัดซื้อกากน้ำตาลจากผู้จำหน่ายรายอื่น ๆ ด้วย
ในด้านการจำหน่าย บริษัทมีสัญญาซื้อขายเอทานอลระยะยาวกับบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น โดยในปี 2564 บริษัทจำหน่ายเอทานอลให้แก่บริษัทบางจากประมาณ 80% ของการผลิตเอทานอลทั้งหมดของบริษัท นอกจากเอทานอลแล้ว บริษัท
บางจากยังมีสัญญาซื้อไบโอดีเซลระยะยาวกับบริษัทด้วย โดยในปี 2564 บริษัทจำหน่ายไบโอดีเซลประมาณ 92% ของยอดขายรวมให้แก่บริษัทบางจาก จากการที่บริษัทบางจากเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ตามสัญญาระยะยาวนั้น บริษัทสามารถเพิ่มอัตราการผลิตทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมได้
อุปทานส่วนเกินของเชื้อเพลิงชีวภาพ
แนวโน้มธุรกิจของบริษัทนั้นยังคงเผชิญกับภาวะอุปทานส่วนเกินของเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งสร้างแรงกดดันต่อทั้งอัตรากำไรและปริมาณผลผลิต โดยกำลังการผลิตรวมของผู้ผลิตเอทานอลทั้งหมดในตลาดสูงถึง 6.9 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนอัตราการบริโภค
เอทานอลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 3.6-4.4 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น ในขณะเดียวกัน กำลังการผลิตไบโอดีเซลของทั้งประเทศที่ 9.7 ล้านลิตรต่อวัน ยังคงสูงกว่าความต้องการของตลาดอย่างมาก ส่งผลให้อัตรากำลังการผลิตโดยรวมของประเทศอยู่ที่ประมาณ 47% ในปี 2564 และอยู่ที่ 37% ในครึ่งแรกของปี 2565
ทริสเรทติ้งมองว่าอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอาจจะต้องใช้เวลาในการเข้าสู่สมดุล และการแข่งขันจะยังคงรุนแรงในระยะสั้นถึงปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นทั่วทั้งอุตสาหกรรมยังคงมีความผันผวนในระดับสูง
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย
ปริมาณความต้องการใช้ไบโอดีเซลภายในประเทศขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐบาลซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาด โดยราคาเชื้อเพลิงได้เคยขึ้นไปถึงระดับสูงสุดในปี 2557 และรอบล่าสุดในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2565 ทั้งนี้ แรงกดดันที่รุนแรงจากภาวะเงินเฟ้อทำให้รัฐบาลยังคงต้องรักษานโยบายการควบคุมราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าลิตรละ 35 บาทด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดปริมาณส่วนผสมของไบโอดีเซลและการยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตชั่วคราว โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลได้ลดสัดส่วนไบโอดีเซลตามนโยบายลงเหลือ B5 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 5%) ส่งผลให้ปริมาณความต้องการไบโอดีเซลลดลง อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่ารัฐบาลจะยังคงสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลในระยะยาว ซึ่งปัจจุบัน B7 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 7%) ถูกกำหนดให้เป็นน้ำมันดีเซลหลักสำหรับการบริโภคในประเทศ
แรงกดดันจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและการขาดแคลนวัตถุดิบ
วัตถุดิบที่สำคัญสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพมาจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น อ้อย ผลปาล์ม และมันเส้น ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเป็นหลัก นอกจากนี้ ราคาของวัตถุดิบบางชนิดก็แปรผันตามตลาดโลกอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีภาวะการขาดแคลนอาหารจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและปริมาณขาย
ไบโอดีเซลที่ลดลง กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ 443 ล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างมากถึง 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อีกทั้งอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ก็ลดลงเหลือ 6.2% จาก 10.4% ของช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันต่อไปตลอดทั้งปี 2565 ก่อนที่จะทยอยฟื้นตัวในช่วงปี 2566-2567 ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ต้นทุนวัตถุดิบต่อลิตรของปริมาณเอทานอลที่ขายได้เพิ่มขึ้นถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กดดันอัตรากำไรจากธุรกิจเอทานอลของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากธุรกิจเอทานอลจะยังคงถูกจำกัดไปตลอดทั้งปี 2565 ก่อนที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2566-2567 จากปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะสูงขึ้น
ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil -- CPO) ปรับขึ้น 40% เป็น 50.4 บาทต่อกิโลกรัมในครึ่งแรกของปี 2565 ตามสภาวะการขาดแคลนอาหารของโลกซึ่งเป็นสาเหตุให้ประเทศอินโดนีเซียได้ประกาศห้ามการส่งออกในช่วงวันที่ 28 เมษายน ถึง 23 พฤษภาคม 2565 ราคาน้ำมันปาล์มดิบที่สูงขึ้นนี้เป็นแรงกดดันให้รัฐบาลไทยต้องใช้นโยบายส่วนผสมไบโอดีเซลให้อยู่ในระดับ B5 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งทำให้ปริมาณขายไบโอดีเซลหดตัวลงไปประมาณ 23% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันปาล์มดิบได้ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าปริมาณความต้องการใช้ไบโอดีเซลในประเทศจะเพิ่มขึ้นในปี 2566 จากการปรับเพิ่มส่วนผสมไบโอดีเซลเป็น B7 และจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เงิน IPO ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้โครงสร้างเงินทุน
บริษัทประสบความสำเร็จในการระดมทุนจำนวน 4.45 พันล้านบาทจากการ IPO ในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอย่างมาก โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ดีขึ้นเป็น 6.3% จาก 38.6% ณ สิ้นปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะใช้เงินส่วนใหญ่จากการระดมทุนไปใช้ในการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High-value Products -- HVP) รวมถึงการชำระคืนหนี้ด้วย
ในระยะยาวบริษัทจะมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (S-curve Growth) โดยธุรกิจใหม่นี้จะอาศัยความแข็งแกร่งของบริษัทในด้านการจัดหาผลิตผลทางการเกษตรและการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพด้วยกระบวนการหมักในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การลงทุนของบริษัทในด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่สำคัญประกอบด้วย ธุรกิจพัฒนาและรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ หรือ Contract Development and Manufacturing Organization (CDMO) การลงทุนในธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel -- SAF) ผ่านบริษัทร่วมทุนที่นำโดยบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น บริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3.0-4.0 พันล้านบาทสำหรับการลงทุนตามแผนด้านเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งรวมถึงธุรกิจ CDMO ธุรกิจน้ำเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน Win Ingredient และ BIOM ซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ในด้านวิจัยและพัฒนา
ทริสเรทติ้งคาดว่า การลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพเหล่านี้จะเริ่มสร้างผลตอบแทนในระดับที่มีนัยสำคัญได้ภายหลังปี 2567 โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จเชิงพาณิชย์ของธุรกิจเหล่านี้ด้วย
ผลการดำเนินงานทางการเงินจะฟื้นตัวในช่วงปี 2566-2567
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินของบริษัทจะฟื้นตัวในช่วงปี 2566-2567 ตามความคาดหมายว่าสภาวะการขาดแคลนวัตถุดิบจะบรรเทาลง และมีการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังคาดว่า EBITDA Margin จะเพิ่มขึ้นจาก 6.5%-7.0% ตามประมาณการในปี 2565 เป็น 7.5%-9.0% ในปี 2566-2567 โดยคาดว่าปริมาณขายของไบโอดีเซลจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับปรกติในช่วงประมาณการตามการเปลี่ยนนโยบายส่วนผสมน้ำมันดีเซลขึ้นเป็น B7 ในเดือนตุลาคม 2565 และด้วยเหตุนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดการว่า EBITDA ของบริษัทในปี 2565 จะอยู่ที่ 850-950 ล้านบาทและจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.0-1.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2566-2567
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะใช้เงินประมาณ 5.0 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 สำหรับการลงทุนใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง การซ่อมบำรุงตามแผน การขยายกำลังการผลิตเอทานอล โรงผลิตกรีเซอรีนบริสุทธิ์ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ เมื่อพิจารณาตามแผนการลงทุนนี้ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะทยอยเพิ่มขึ้นจาก 6.3% ณ เดือนมิถุนายน 2565 ขึ้นเป็น 20%-25% ณ สิ้นปี 2567 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เท่าตลอดช่วงปี 2565-2567
สภาพคล่องที่เพียงพอ
สภาพคล่องของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นมากหลังจากการ IPO โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3.5 พันล้านบาท รวมทั้งวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 7.4 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 อีกทั้งทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้า 650-750 ล้านบาท ในขณะที่ภาระการใช้จ่ายเงินของบริษัทประกอบด้วยหนี้สินทางการเงินและหนี้สินตามสัญญาเช่าที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้ามีจำนวน 1.1 พันล้านบาท รวมกับเงินจำนวน 2.3 พันล้านบาทสำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนรวมถึงการลงทุนตามแผนตามข้อผูกพันในช่วงเดียวกันด้วย
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้สินจำนวน 3.4 พันล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนเงินก่อนประมาณ 2.1 พันล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนเงินก่อนนั้นประกอบไปด้วยหนี้ที่มีหลักประกัน 1.34 พันล้านบาท และหนี้ไม่มีหลักประกันที่บริษัทย่อยจำนวน 0.74 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนเงินก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 62% สะท้อนว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอยู่ในสถานะด้อยว่าเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันในกรณีที่ต้องมีการเรียกร้องอ้างสิทธิต่อทรัพย์สินของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? กำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 8.0 แสนลิตรต่อวันในปี 2566 จาก 6.0 แสนลิตรต่อวันในปี 2565
? อัตราการใช้กำลังการผลิตประมาณจะเพิ่มขึ้นเป็น 85%-90% ภายในปี 2567 จาก 68% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565
? กำลังการผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ 1.0 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตประมาณ 55%-60% ในปี 2565 และ 75%-80% ในช่วงปี 2566-2567
? EBITDA Margin ทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 8.0%-9.0% ในช่วงปี 2566-2567 จาก 6.5%-7.0% ในปี 2565
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนทั้งหมดในโครงการที่มีข้อผูกพันคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.0 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าผลประกอบการของบริษัทจะฟื้นตัวในช่วงปี 2566-2567 โดยคาดหวังว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 เท่าในช่วงปี 2566-2567 แม้จะมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและ/หรือจากธุรกิจใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญโดยโครงสร้างเงินทุนยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้ามอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทด้อยกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมาก
อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอาจมีการเปลี่ยนแปลง หากอันดับเครดิตของบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่นมีการเปลี่ยนแปลง หรือระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่นเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (BBGI)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable