ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ?BBB-? รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน (DUSIT22PA) ของบริษัทที่ระดับ ?BB? และคงแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? เช่นเดิม
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าสถานะเครดิตของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการพัฒนาโครงการ ?ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค? ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงที่เกิดในช่วงระหว่างการพัฒนาโครงการไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการก่อสร้าง ต้นทุนที่สูงกว่าคาด และการขายโครงการที่อยู่อาศัยที่อาจช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัว ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อจะเพิ่มความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของธุรกิจ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ธุรกิจโรงแรมจะทยอยฟื้นตัว
ทริสเรทติ้คาดว่าธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและสถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อก็ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวดังกล่าวภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับประมาณ 80% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดและที่ระดับประมาณ 90% ในปี 2566 ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในปี 2567 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าโรงแรมของบริษัทในประเทศมัลดีฟส์และฟิลิปปินส์จะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การฟื้นตัวของโรงแรมในประเทศไทยนั้นจะไม่เท่ากัน โดยโรงแรมที่มีนักท่องเที่ยวภายในประเทศในสัดส่วนที่สูงอย่างโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน และโรงแรมดุสิตธานี พัทยา นั้นน่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต โรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ และโรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ นั้นมีการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าและมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่วนโรงแรมที่พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างเช่นโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ นั้นอาจใช้เวลาที่นานกว่าในการฟื้นตัวโดยขึ้นอยู่กับนโยบายจำกัดการเดินทางของประเทศจีนเป็นสำคัญ
ธุรกิจอาหารเติบโตขึ้น
บริษัทมีเป้าหมายในการขยายธุรกิจอาหารโดยพยายามที่จะกระจายแหล่งรายได้ให้หลากหลายยิ่งขึ้นและลดการพึ่งพาธุรกิจโรงแรมที่มีความเป็นวงจรขึ้นลงและผันผวน บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารผ่าน บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด โดยปัจุบันบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว 75% และอีก 25% ถือโดย บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
แหล่งรายได้หลักของบริษัทดุสิต ฟู้ดส์ ในปัจจุบันมาจาก บริษัท เอ๊บพิคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดเตรียมอาหารให้แก่โรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ The Caterers ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดเตรียมอาหารให้แก่โรงเรียนนานาชาติในประเทศเวียดนามโดยผ่านการลงทุนของบริษัทเอ๊บพิคิวร์ เคเทอริ่ง ทั้งนี้ บริษัทเอ๊บพิคิวร์ เคเทอริ่ง ยังมีแผนจะขยายธุรกิจให้บริการจัดเลี้ยงแก่กลุ่มลูกค้าบริษัทและโรงพยาบาลอีกด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทดุสิต ฟู้ดส์ ได้เข้าลงทุน 55% ใน บริษัท บองชู เบเกอรี่ เอเชีย จำกัด และ Baujour International Co Limited ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตขนมอบหรือเบเกอรี่และดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ร้านขนมอบ ?บองชู? (Bonjour) ในประเทศไทยและประเทศจีน โดยการลงทุนในครั้งนี้ใช้เงินจำนวน 517 ล้านบาทและการซื้อกิจการช่วยทำให้เป้าหมายของบริษัทที่จะควบคุมมาตรฐานสินค้าและต้นทุนการผลิตภายในกลุ่มดุสิตมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายไปยังธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่อีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้จากธุรกิจอาหารของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 750 ล้านบาทในปี 2565 จาก 282 ล้านบาทในปี 2564 อันเป็นผลจากการที่บริษัทเอ๊บพิคิวร์ เคเทอริ่ง และ The Caterers ให้บริการได้ตามปกติหลังจากที่โรงเรียนกลับมาเปิดทำการได้ใหม่และจากการรวมรายได้ของร้านบองชูเข้ามา ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจอาหารจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.9-1 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567 นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจอาหารอาจสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ได้หากบริษัทประสบความสำเร็จตามแผนธุรกิจที่วางไว้และความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางธุรกิจต่าง ๆ มีผลลัพธ์ที่ดี
รายได้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ภาระหนี้ยังคงสูงจากการลงทุน
ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่จำนวนประมาณ 4.4 พันล้านบาทในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 5.2 พันล้านบาทในปี 2566 โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6.5 พันล้านบาทในปี 2567 จากการคาดการณ์ว่าโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะเปิดดำเนินการได้ตามแผนในช่วงต้นปี 2567 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจซึ่งจะช่วยให้บริษัทใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่ระดับ 10%-11% ในปี 2565 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 15%-20% ในระหว่างปี 2566-2567 และคาดว่า EBITDA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 460 ล้านบาทในปี 2565 ที่ระดับ 760 ล้านบาทในปี 2566 และที่ระดับประมาณ 1.2 พันล้านบาทในปี 2567
ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นตามความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค โดยคาดว่าภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่ปรับปรุงแล้วจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดที่ประมาณ 2.0-2.1 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2566-2567 ก่อนที่บริษัทจะได้รับกระแสเงินสดจำนวนมากจากการขายและโอนโครงการที่อยู่อาศัยเข้ามาในปี 2568 ในขณะที่หนี้สินทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงไปจนถึงปี 2567 เป็นอย่างต่ำ สถานะทางการเงินของบริษัทอาจอ่อนแอลงอีกหากการพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ไม่เป็นไปตามแผนจากความล่าช้าในการก่อสร้างและต้นทุนการพัฒนาโครงการที่บานปลาย อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการลดความเสี่ยงเรื่องต้นทุนที่อาจบานปลายด้วยการกำหนดต้นทุนการพัฒนาโครงการกับผู้รับเหมาไว้แล้วกว่า 75% ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือความคืบหน้าในการขายโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งถ้าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก็อาจทำให้บริษัทต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมโดยการก่อหนี้เพิ่มเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ
ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 31% ทั้งนี้ บริษัทมีข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญคือการดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับไม่เกิน 3 เท่า ซึ่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.6 เท่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนจำนวน 1.5 พันล้านบาทซึ่งน่าจะช่วยในการเสริมฐานทุนให้แก่บริษัทได้ อย่างไรก็ดี จากการที่ภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งจึงคาดหวังว่าบริษัทจะบริหารจัดการโครงสร้างเงินทุนอย่างรอบคอบเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ แหล่งสภาพคล่องหลักของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ตลอดจนวงเงินกู้ยืมที่สามารถเบิกใช้ได้จากธนาคารจำนวน 1.8 พันล้านบาท เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนจำนวน 1.5 พันล้านบาทเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเงินสดที่ได้รับจากการลงทุนในบริษัทดุสิต ฟู้ดส์ ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกอีกจำนวน 300 ล้านบาท ส่วนแหล่งเงินสดสำหรับการพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค นั้นประกอบด้วยเงินสดที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงสร้างศูนย์การค้าตามสัญญาจำนวน 571 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อโครงการจากธนาคารรวมจำนวน 5.5 พันล้านบาทซึ่งบริษัทมีแผนจะเบิกมาใช้ประมาณ 2.8 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า และเงินมัดจำจากลูกค้าที่ซื้อโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่จำนวนประมาณ 0.5-1 พันล้านบาท ในขณะที่การใช้เงินทุนของบริษัทนั้นประกอบไปด้วยการชำระภาระหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดจำนวนรวม 3.2 พันล้านบาทและงบประมาณสำหรับแผนการลงทุนอีกประมาณ 4-4.5 พันล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินใหม่เพื่อนำมาใช้ชดเชยหนี้ที่จะครบกำหนดชำระบางส่วน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 4.4 พันล้านบาทในปี 2565 และจะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 5.2 พันล้านบาทในปี 2566 และประมาณ 6.5 พันล้านบาทในปี 2567
? EBITDA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 460 ล้านบาทในปี 2565 ส่วนในปี 2566 จะอยู่ที่ 760 ล้านบาท และในปี 2567 จะอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท
? บริษัทจะมีแผนลงทุนซึ่งรวมโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่ประมาณ 2.5 พันล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เช่น ความล่าช้าในการก่อสร้าง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการขายโครงการที่อยู่อาศัยที่ล่าช้ากว่าคาด ซึ่งอาจทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยที่เพิ่มความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของธุรกิจของบริษัทอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเปลี่ยนมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? ได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวกลับมาได้อย่างมั่นคงและการดำเนินโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มีความก้าวหน้าตามแผน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทเสื่อมถอยลงมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้อย่างมากไม่ว่าจะเกิดจากการที่ธุรกิจฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด และ/หรือการก่อสร้างโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค และการขายโครงการที่อยู่อาศัยล่าช้ากว่าที่คาดอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การปรับลดอันดับเครดิตก็อาจเกิดจากการที่สถานะสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564 ?
บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) (DUSIT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
DUSIT237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-
DUSIT23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-
DUSIT22PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 1,500 ล้านบาท BB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative