ทริสเรทติ้งได้ปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทลงมาที่ระดับ ?bbb+? จากระดับ ?a-? เพื่อสะท้อนถึงระดับการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อสถานะเงินทุนของบริษัท ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดจนความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่ง และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัททุนธนชาต
ทริสเรทติ้งประเมินว่า บล. ธนชาตมีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัททุนธนชาต ปัจจุบันบริษัททุนธนชาตถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 50.96% ในขณะที่ Scotia Netherlands B.V. (Scotia) และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 39.94% และ 10% ตามลำดับ บริษัททุนธนชาตมีอำนาจในการควบคุมกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายด้านการเงินของบริษัทโดยผ่านตัวแทนซึ่งมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริษัท โดยทั้งบริษัททุนธนชาตและ Scotia ต่างก็แต่งตั้งตัวแทนของตนเข้ามาเป็นกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ (Non-independent Director) จำนวนบริษัทละ 1 คนจากกรรมการทั้งหมด 4 คน นอกจากนี้ บล. ธนชาตยังดำเนินงานภายใต้กรอบการกำกับดูแลของกลุ่มทุนธนชาตเหมือนกับบริษัทลูกอื่น ๆ ของบริษัททุนธนชาตอีกด้วย
บริษัทมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการเงินที่หลากหลายของกลุ่มโดยการให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนแบบครบวงจร บริษัทสร้างส่วนแบ่งกำไรให้แก่บริษัททุนธนชาตในสัดส่วน 9.8% ในปี 2564 และ 8.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัททุนธนชาตในรูปของวงเงินสินเชื่อซึ่งช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินในเวลาที่จำเป็นอีกด้วย ในขณะที่ทริสเรทติ้งมองว่าชื่อเสียงของบริษัทนั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับบริษัททุนธนชาตจากการใช้ชื่อแบรนด์หรือตราสัญลักษณ์บริการร่วมกัน
ยังคงรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่ดีในกลุ่มลูกค้าสถาบันภายในประเทศเอาไว้ได้
แม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้ของ บล. ธนชาตในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้นจะลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ทริสเรทติ้งก็ยังมองว่าบริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง โดยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากการลดลงของปริมาณการซื้อขายในกลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาและในธุรกรรมการซื้อขายขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็มองว่าบริษัทยังคงมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในกลุ่มลูกค้าสถาบันภายในประเทศโดยเห็นได้จากปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากนักลงทุนสถาบันภายในประเทศรายอื่น ๆ ซึ่งช่วยรักษาตำแหน่งที่มั่นคงให้แก่บริษัทในกลุ่มลูกค้าดังกล่าว
การกระจายตัวของรายได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
บล. ธนชาตมีพัฒนาการที่ดีในการดำเนินกลยุทธ์การกระจายธุรกิจโดยการขยายไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การลงทุนในหลักทรัพย์ด้วยเงินสด (Non-cash Equity Businesses) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปในระยะปานกลาง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจที่ไม่ใช่การลงทุนในหลักทรัพย์ด้วยเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 58% จากระดับ 50% ในปี 2564 และระดับ 33% ในปี 2563 ทั้งนี้ ธุรกิจที่ไม่ใช่การลงทุนในหลักทรัพย์ด้วยเงินสดของบริษัทประกอบด้วยบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน (หรือที่เรียกว่า ?Zeal?) การขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivatives Warrant) การให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Lending) และการขายกองทุนรวม (Mutual Fund)
สถานะเงินทุนอ่อนแอลง
การปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะของ บล. ธนชาตสะท้อนถึงการปรับมุมมองของทริสเรทติ้งในการประเมินสถานะเงินทุนของบริษัทเป็นระดับ ?Adequate? หรือ ?เพียงพอ? จากระดับ ?Strong? หรือ ?แข็งแกร่ง? เป็นหลักเนื่องจากสถานะเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital Ratio -- RAC) ซึ่งปรับตัวลดลงสู่ระดับ 15.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 25.3% ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่ลดลงอย่างมากเป็นผลมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จาก 3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากแผนของบริษัทที่จะคงเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ไว้ที่ประมาณ 7 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้าแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับ ?Adequate? หรือ 'เพียงพอ' โดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่คาดการณ์ไว้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 13%-14%
ยังคงรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้
ทริสเรทติ้งประเมินความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทให้อยู่ในระดับ ?Strong? หรือ ?แข็งแกร่ง? เนื่องจากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Profitability) อยู่ในระดับที่มั่นคงโดยมีค่าเฉลี่ย 5 ปีของอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Earnings before Taxes to Risk-weighted Assets -- EBT/RWA) สูงกว่า 3.55% (ปี 2563-2567) ซึ่งในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่มีแนวโน้มที่จะเสริมความแข็งแกร่งและความมั่นคงให้แก่กำไรของบริษัทในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้าแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ก็ตาม นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดีและให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง (เช่น ธุรกิจให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจให้บริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนแก่กลุ่มลูกค้านักลงทุนสถาบัน) ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ระดับ 46.1% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน
นโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่า บล. ธนชาตมีกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบทั้งในด้านความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์และความเสี่ยงด้านเครดิต โดยบริษัทมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากการลงทุนโดยบัญชีของบริษัทเองนั้นใช้กลยุทธ์ที่ไม่ผันผวนไปตามตลาดโดยเน้นที่การป้องกันความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเสนอขายเท่านั้น ส่วนความเสี่ยงด้านเครดิตนั้น บริษัทยังคงรักษาหลักการไม่มีหนี้สูญใด ๆ จากการให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์แม้ว่าจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2564 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ก็ตาม โดยข้อจำกัดสูงสุดในการให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ต่อลูกค้า 1 รายอยู่ที่ระดับ 25% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ต่อมูลค่าหลักประกันของบริษัทอยู่ที่ระดับ 33% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ภายในของบริษัทที่ระดับ 75% ค่อนข้างมาก
สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทนั้นน่าจะยังคงเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะปานกลางได้ ทั้งนี้ บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อระยะสั้นจำนวน 5.1 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินหลายแห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 นอกจากนี้ บริษัททุนธนชาตยังให้การสนับสนุนเงินทุนและสภาพคล่องแก่บริษัทอย่างต่อเนื่องโดยผ่านวงเงินสินเชื่อจำนวน 3 พันล้านบาทอีกด้วยโดยที่ประมาณ 90% ของวงเงินดังกล่าวนั้นบริษัทยังไม่ได้เบิกมาใช้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าเงินกู้ยืมระยะสั้นของ บล. ธนชาตที่ผ่านการออกตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 3.3 พันล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้บริษัทใช้ไปในการดำเนินธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ แม้ว่าการนำเงินกู้ระยะสั้นมาใช้ในการให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์จะเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรม แต่การขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญของเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ซึ่งก่อให้เกิดภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นผลกระทบในทางลบต่อสถานะเครดิต
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 มีดังนี้
? ส่วนแบ่งทางการตลาดของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%
? อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.12%-0.13%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 48%-50%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดซึ่งวัดจากส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งให้คงอยู่ต่อไปได้ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาสถานะเงินทุนไม่ให้อ่อนแอลงมากไปกว่านี้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตเฉพาะจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่ออัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 20% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทสามารถรักษาความแข็งแกร่งของส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้และยังคงมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวต่อไป ส่วนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทนั้นยังไม่น่าเป็นไปได้เว้นแต่ในกรณีที่อันดับเครดิตของบริษัททุนธนชาตได้รับการปรับเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันหากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทลดต่ำลงเกินกว่าระดับ 12% อย่างต่อเนื่อง หรือบริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง หรือบริษัทมีความสามารถในการสร้างผลกำไรซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนแอลงอย่างมาก ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทยังสามารถเกิดขึ้นได้หากอันดับเครดิตของบริษัททุนธนชาตได้รับการปรับลดลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- Securities Company Rating Methodology, 9 เมษายน 2563
บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (TNS)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable