ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่ดีขึ้นทางธุรกิจของบริษัทลูกหลักของบริษัทคือ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในเชิงบวกถูกลดทอนด้วยความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงของกลุ่ม นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานเงินทุน รวมทั้งภาระหนี้ และความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัท ตลอดจนสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพออีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น
สถานะทางธุรกิจของบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ได้รับการสนับสนุนจากเสถียรภาพทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นของ บล. พาย ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลัก ซึ่งคิดเป็น 98% ของรายได้รวมของบริษัท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ส่วนแบ่งรายได้ของ บล. พายในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2.7% ในปี 2564 และในครึ่งแรกของปี 2565 จาก 0.9% ในปี 2560 ส่วนแบ่งรายได้นายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ บล. พายก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยมากเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมในปี 2564 ด้วยส่วนแบ่ง 14.5% และส่วนแบ่งเป็น 15.0% ในครึ่งแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในปี 2560 โดยได้รับแรงหนุนจากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ทีมการตลาดที่ขยายใหญ่ขึ้น และการจัดกิจกรรมทางการตลาด การจัดงาน และการจัดอบรมต่าง ๆ
บล. พายกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ของตนเองที่สามารถลงทุนในหลายสินทรัพย์ได้ ซึ่งรวมถึงเครื่องมือทางการเงินแบบดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ได้ฐานลูกค้ารายย่อยที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นของ บล. พายในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะส่งเสริมให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ แข็งแกร่งมากขึ้นด้วย
ธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงสร้างรายได้หลัก
บริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์พึ่งพารายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จาก บล. พายเป็นแหล่งรายได้หลักเมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวม แม้ว่ารายได้ค่านายหน้าฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านก็ตามแต่รายได้ของทั้งบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บล. พายก็อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดได้ ดังนั้น บริษัทจึงอาจยังสามารถเพิ่มการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ให้เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์จาก บล. พายคิดเป็น 82% ของรายได้รวมของบริษัท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 60% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ 9% ของรายได้ทั้งหมดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 16%
บริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากส่วนแบ่งกำไรของบริษัทร่วมที่ปรับตัวลดลงโดยส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม 2 แห่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 นั้นมีผลขาดทุน 39 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากการขาดทุน 74 ล้านบาทของ บริษัท เบาน์แอนด์บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หลังจากเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นธุรกิจโรงแรมตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 รายได้ของบริษัทเบาน์แอนด์บียอนด์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวอีกครั้งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ผลการดำเนินงานของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ลดลงตามสภาวะตลาดที่อ่อนตัวลง
ในปี 2564 บริษัทได้ลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าสัดส่วนรายได้ดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่ยังไม่มีนัยสำคัญในระยะใกล้ ทั้งนี้ เสถียรภาพของรายได้และผลกำไรของบริษัทในกลุ่มที่ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนาการกระจายตัวของแหล่งรายได้ของกลุ่ม
ฐานทุนยังคงแข็งแกร่งแต่ความสามารถในการสร้างผลกำไรอ่อนลงเล็กน้อย
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์มีฐานทุนและภาระหนี้อยู่ในระดับเข้มแข็งโดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 17% โดยเฉลี่ย 5 ปี การทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวังของบริษัทจะทำให้ฐานทุนของบริษัทยังคงแข็งแกร่งต่อไปในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของบริษัทที่นำไปสู่ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกดดันต่อการประเมินฐานทุนและภาระหนี้ และท้ายที่สุดก็จะส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตองค์กรของบริษัทได้
ความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์โดยวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Earnings before Taxes to Risk-weighted Assets -- EBT/RWA) ลดลงเป็น -0.02% เนื่องจากสภาวะตลาดที่อ่อนแอและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่สูงขึ้นของ บล. พาย รวมถึงส่วนแบ่งผลขาดทุนจากการกิจการโรงแรมของบริษัทเบาน์แอนด์บียอนด์ เปรียบเทียบกับ 0.6% ในปี 2564 และ 0.4% ในปี 2562-2563 ตัวเลขในปี 2564 ไม่รวมรายได้ครั้งเดียวจากการจำหน่ายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยและญี่ปุ่น และกำไรจากการต่อรองราคาซื้อกิจการโรงแรมของบริษัทเบาน์แอนด์บียอนด์ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่า EBT/RWA ของบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากคาดว่าค่าใช้จ่ายของ บล. พายจะยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่การดำเนินงานของโรงแรมมีแนวโน้มที่จะเริ่มทำกำไรได้ในปี 2567
สถานะทางความเสี่ยงที่หลากหลาย
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทมีนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากนโยบายของ บล. พายในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อที่รัดกุมและนโยบายการวางหลักประกันสำหรับทั้งเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่มีความเข้มงวด ซึ่งปรากฏให้เห็นจากการที่บริษัทมีต้นทุนทางเครดิตที่ระดับ -2.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ -0.04%
ความเสี่ยงของบริษัทซึ่งเกิดจากกิจกรรมการซื้อขายและการลงทุนหลักของตราสารหนี้และตราสารทุนที่ บล. พายก็ลดลงเช่นกันจากพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะตราสารหนี้ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเหลือประมาณ 2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 จาก 4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2562
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ความเสี่ยงของบริษัทส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในบริษัทประเภทต่าง ๆ ที่มีความไม่แน่นอนของกระแสเงินสด ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลและบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านบริษัทย่อยที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ Pi Ventures ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม 2565 โดยมีเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 500 ล้านบาท
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอแม้ว่าบริษัทจะไม่มีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินใด ๆ แต่พอร์ตเงินลงทุนของบริษัทก็สามารถใช้เป็นแหล่งสภาพคล่องในยามจำเป็นได้ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 2.4 พันล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังสามารถเข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทได้อีกด้วย อนึ่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างจำนวน 1.2 พันล้านบาท ตามงบการเงินรวม
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 มีดังนี้
? ส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5%-3%
? อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.07%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 80%
? เงินลงทุนในบริษัทร่วมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5 พันล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า บล. พาย ในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักทรัพย์และผลการดำเนินงานทางการเงินเอาไว้ได้เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ที่ว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับฐานทุนและภาระหนี้เอาไว้ได้ในขณะที่ยังคงดำรงนโยบายในการลงทุนที่ระมัดระวังไปด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการตลาดของธุรกิจในทุก ๆ สายงานของ บล. พาย ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักของบริษัทนั้นปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องในขณะที่บริษัทยังคงความสามารถในการสร้างผลกำไรเอาไว้ได้ รวมถึงในกรณีที่การลงทุนในอนาคตของบริษัทนำมาซึ่งแหล่งรายได้ที่หลากหลายและเป็นรูปธรรม ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากรายได้ของ บล. พายหรือผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทเองปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือระดับภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจนทำให้สถานะของฐานทุน ภาระหนี้ และความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทอ่อนแอลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Securities Company Rating Methodology, 9 เมษายน 2563
บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (CGH)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable