ทริสเรทติ้งคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Financial Strength Rating ? FSR) ของ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) (TNI) ที่ระดับ ?AA-? ด้วยแนวโน้ม ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะซึ่งอยู่ภายใต้กลุ่มธนชาต (TGROUP) ของบริษัท ที่ได้รับการป้องกันไม่ให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทได้รับผลกระทบจากการแทรกแซงของกลุ่มธุรกิจหรือบริษัทแม่ (Insulated Entity) โดยมี บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP ? ได้รับการจัดอันดับเครดิต ?A/Stable? จากทริสเรทติ้ง) เป็นตัวแทนกลุ่ม ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile ? SACP) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ ?aa-? ซึ่งสูงกว่าอันดับเครดิตกลุ่ม (Group Credit Profile ? GCP) ของ TGROUP และอันดับเครดิตของ TCAP อยู่ 2 ขั้น
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรมของธุรกิจประกันวินาศภัย (Non-life Insurance) ในประเทศไทยซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวด นอกจากนี้ อันดับเครดิตเฉพาะดังกล่าวยังสะท้อนถึงสถานะความเสี่ยงทางด้านธุรกิจของบริษัทที่อยู่ในระดับน่าพอใจเนื่องจากบริษัทมีตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคงในกลุ่มบริษัทประกันวินาศภัยชั้นนำ 10 รายแรกรวมถึงประสบการณ์ของบริษัทในด้านการประกันภัยรถยนต์ ตลอดจนสถานะความเสี่ยงด้านการเงินที่แข็งแกร่งซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับดี เงินกองทุนที่มีความแข็งแกร่งมาก และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็งอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์และเป็น Insulated Entity ภายใต้กลุ่ม TGROUP
ในความเห็นของทริสเรทติ้ง TNI มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ TGROUP โดย ณ สิ้นปี 2564 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประกอบด้วย TGROUP ในสัดส่วน 51% Scotia Netherlands Holdings B.V. (BNS) ในสัดส่วน 39% และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB) ในสัดส่วน 10% ส่วนคณะกรรมการของบริษัทนั้นประกอบด้วยกรรมการที่มีประสบการณ์ในการร่วมงานกับ TGROUP และ TTB พร้อมทั้งยังมีกรรมการที่มาจาก BNS จำนวน 1 คนและกรรมการอิสระอีก 3 คนด้วย
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทเป็นหน่วยงานที่ได้รับการป้องกันไม่ให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทได้รับผลกระทบจากการแทรกแซงของกลุ่มธุรกิจหรือบริษัทแม่ภายใต้กลุ่ม TGROUP เนื่องจากทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ในระดับต่ำที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทจะถูกฉุดให้ลดลงโดยอันดับเครดิตกลุ่มที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ บริษัทมีความเชื่อมโยงในด้านการดำเนินงาน ในด้านธุรกิจ และในด้านการเงินกับบริษัทอื่น ๆ ภายในกลุ่มอยู่ในระดับจำกัด ซึ่งแม้จะมีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยร่วมกับบริษัทอื่น ๆ ภายในกลุ่ม แต่บริษัทลูกของ TCAP แต่ละแห่งก็มีการดำเนินงานอย่างอิสระ นอกจากนี้ บริษัทยังไม่มีการพึ่งพาเงินทุนจากบริษัทอื่น ๆ ใน TGROUP ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่เข้มงวดซึ่งป้องกันไม่ให้บริษัทให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทอื่น ๆ ของกลุ่มในระดับที่จะทำให้อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทถดถอยลงมากเกินควรอีกด้วย
เป็นผู้ให้ประกันภัยรถยนต์ที่มีความแข็งแกร่ง
จากการประเมินของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของ TNI นั้นสะท้อนให้เห็นถึงธุรกิจประกันภัยรถยนต์ของบริษัทที่มีความมั่นคงจากการมีผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรโดยรวมที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ TNI เป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งทางการตลาดของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยจัดอยู่ในอันดับที่ 7 จากผู้ประกอบการทั้งหมด 52 ราย บริษัทดำเนินธุรกิจประกันภัยรถยนต์ที่มีความแข็งแกร่งซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงที่ระดับ 4.8% ในปี 2564 โดยจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของอุตสาหกรรม
กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ TNI มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจรายย่อยเป็นหลักโดยผ่านความสัมพันธ์ที่มั่นคงในด้านช่องทางการจัดจำหน่ายกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ TGROUP และการขยายเครือข่ายของบริษัทลีสซิ่ง นายหน้า และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั่วประเทศ ปัจจุบันบริษัทกำลังขยายขอบเขตสู่ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ประเภทใหม่ ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งในส่วนของรถบรรทุกและรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) เพิ่มเติมจากประกันภัยรถยนต์แบบเดิม ในขณะเดียวกัน TNI ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์โดยผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายเดียวกันอีกด้วย อาทิ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การคุ้มครองเครดิต บ้านและทรัพย์สิน และประกันอุบัติเหตุการเดินทาง โดยในปี 2564 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยที่รับตรงจากช่องทางนายหน้าคิดเป็น 60% ของเบี้ยรวม รองลงมาคือจากช่องทางธนาคาร (36%) และช่องทางตรง (4%) ทั้งนี้ เบี้ยประกันภัยรับตรงประกอบด้วยประกันภัยรถยนต์ (86%) ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (11%) ประกันอัคคีภัย (1%) และอื่น ๆ (2%)
ผลการดำเนินงานของบริษัทแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะทางธุรกิจและปัจจัยภายนอกที่ไม่พึงประสงค์จากการรับประกันภัยรายย่อยที่กระจายตัว การมีกำไรจากการรับประกันภัยที่สม่ำเสมอ และกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นรายได้เป็นหลัก การมีอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ที่ค่อนข้างคงที่ซึ่งอยู่ที่ระดับ 52.3% ในปี 2564 นั้นสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญในการรับประกันและการบริหารงานเคลมที่มีประสิทธิภาพของบริษัท ส่วนประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจด้วยอัตราส่วนค่าใช้จ่าย (Expense Ratio) ที่ระดับ 39.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรโดยรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจโดยมีผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ระดับ 13.7% ในปี 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อพอร์ตการลงทุนที่เน้นรายได้ของบริษัทต่อไปเนื่องจากบริษัทจัดสรรเงินลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนในสัดส่วนที่มากขึ้น
เงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาก
ทริสเรทติ้งคาดว่า TNI จะรักษาอัตราส่วนเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio ? CAR) ที่แข็งแกร่งมากเอาไว้ได้ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 976% ณ เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาบริษัทประกันวินาศภัยของไทย อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด (Total Capital Available ? TCA) ของบริษัทที่ระดับ 5.81 พันล้านบาทนั้นถือว่าเป็นขนาดปานกลางตามตัวชี้วัดของทริสเรทติ้ง ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะคงอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลไว้ที่ระดับ 70% และมีผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ยที่ระดับ 13%-15% ต่อปีจากการมีผลกำไรจากการรับประกันภัยที่มีความสม่ำเสมอและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการว่าอัตราการเติบโตของค่าเบี้ยประกันภัยรวม (Gross Written Premium ? GWP) ของบริษัทจะแข็งแกร่งที่ระดับ 20% ในปี 2565 หลังจากการเติบโตแบบปีต่อปีที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อีกทั้งยังคาดว่าการเติบโตจะกลับคืนสู่ระดับปกติที่ 7% ในปี 2566 และปี 2567 อีกด้วย
การบริหารความเสี่ยงที่ดีช่วยจำกัดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินกองทุน
ทริสเรทติ้งประเมินว่าความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินกองทุนของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับที่จำกัดเนื่องจากบริษัทมีกลยุทธ์การเติบโตที่มีความระมัดระวัง อีกทั้งยังมีการบริหารความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของคู่สัญญาของบริษัทประกันภัยต่อที่อยู่ในเกณฑ์ดี และการบริหารพอร์ตเงินลงทุนที่ระมัดระวัง ในขณะเดียวกันบริษัทก็สามารถรักษาระดับอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนที่ค่อนข้างคงที่ได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากการมุ่งเน้นประกันภัยรถยนต์ที่บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและการขยายสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างระมัดระวัง ส่วนผลกระทบที่เกิดจากประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) นั้นก็ไม่มีนัยที่สำคัญเนื่องจากบริษัทมีการรับประกันไว้ในปริมาณที่จำกัด ทริสเรทติ้งมองว่าการขยายตัวของเงินสำรองค่าสินไหมทดแทนซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของค่าเบี้ยประกันภัยนั้นเป็นพัฒนาการในด้านบวกอีกประการหนึ่งของบริษัท
TNI มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับบริษัทประกันภัยต่อในการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่บริษัทไม่มีความเชี่ยวชาญอย่างเต็มที่โดยผ่านการแบ่งปันข้อมูลและการใช้ประกันภัยต่อแบบอัตราส่วน (Quota Share) ควบคู่ไปกับการประกันภัยต่อแบบความเสียหายส่วนเกิน (Excess of Loss -- XOL) โดยการใช้ประกันภัยต่อแบบความเสียหายส่วนเกินนั้นช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากความสูญเสียที่มีมูลค่าสูงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Catastrophe Risk) ซึ่งบริษัททำการทดสอบ (Stress Test) เป็นการภายในเพื่อหาระดับความรุนแรงของความสูญเสียดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยต่อที่เป็นคู่สัญญาทั้งหมดต่างก็มีสถานะเครดิตที่อยู่ในเกณฑ์ดีซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตขั้นต่ำที่ระดับ ?A-? ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตระดับสากล (International Rating Scale) โดยบริษัทมีสินทรัพย์จากการประกันภัยต่อต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าแต่ยังค่อนข้างต่ำโดยอยู่ที่ระดับ 14.2% ณ เดือนมิถุนายน 2565
กลยุทธ์การลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมของบริษัทสะท้อนถึงการลงทุนที่มุ่งเน้นรายได้โดยมีสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอยู่ในสัดส่วนค่อนข้างสูงและมีความเสี่ยงจากการมีผู้ออกตราสารรายเดียวกัน (Single Name Exposure) อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2565 บริษัทได้ปรับปรุงกลยุทธ์การลงทุนโดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและตราสารทุนอีกเล็กน้อย โดย ณ กลางปี 2565 พอร์ตเงินลงทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินฝากประจำ (30% ของเงินลงทุนรวม) พันธบัตรรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ (37%) และหุ้นกู้ภาคเอกชน (25%) ที่มีอันดับเครดิตขั้นต่ำที่ระดับ ?A-? ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตระดับประเทศ (National Rating Scale) ส่วนเงินลงทุนในส่วนที่เหลือนั้นประกอบไปด้วยตราสารทุนภายในประเทศ (4%) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (3%) และกองทุนรวมที่มีการลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศ (0.5%)
การบริหารความเสี่ยงและกรอบธรรมาภิบาลที่มีความรอบด้าน
ทริสเรทติ้งไม่พบข้อบกพร่องใด ๆ ในการบริหารความเสี่ยงและกรอบธรรมาภิบาลของบริษัทเนื่องจากบริษัทปฏิบัติตามกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management ? ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทเอง (Own Risk and Solvency Assessment ? ORSA) ตามที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งครอบคลุมขอบเขตของการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนความรับผิดชอบของคณะกรรมบริหารความเสี่ยง และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องซึ่งประกอบด้วยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) ฝ่ายกำกับดูแล (Compliance) และฝ่ายตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงการดำเนินการที่สำคัญในแต่ละด้านของธุรกิจประกันภัยอีกด้วย
เพื่อให้เป็นปัจจัยชี้วัด บริษัทจึงมีการจัดทำกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนการติดตามตรวจสอบความเสี่ยงรายเดือน และการจำลองผลกระทบจากภาวะวิกฤติภายใต้สถานการณ์จำลองที่หลากหลาย (Multiple-scenario Stress Test) เพื่อปฏิบัติเป็นการภายในอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการปรับสมมติฐานการทดสอบความเครียดของเงินทุนและสภาพคล่องอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการปรับปรุงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Tolerance Level) และแนวปฏิบัติในการรับมือกับความเสี่ยง (Risk Responses) ที่จำเป็น นอกจากนี้ ในการจำลองผลกระทบจากภาวะวิกฤติเป็นการภายในนั้นยังมีการนำสมมติฐานที่มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันในหลากหลายสถานการณ์ซึ่งมีระดับของความรุนแรงแตกต่างกันไปมาปรับใช้อีกด้วย บริษัทมีการจำลองผลกระทบจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่มีมูลค่าสูงจากกรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดต่าง ๆ ตลอดจนการผิดสัญญาของบริษัทประกันภัยต่อ รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนที่มีความผันผวน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าการทดสอบเหล่านี้มีความเข้มงวดสูงกว่าการทดสอบที่ใช้ในการจำลองเพื่อส่งผลวิเคราะห์ให้แก่ คปภ.
มีสภาพคล่องสูง
บริษัทมีสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนสภาพคล่องตามเกณฑ์ของ คปภ. อยู่ในระดับสูงที่ 622% ณ เดือนมิถุนายน 2565 แม้จะลดลงจากระดับ 710% ณ เดือนมิถุนายน 2564 แต่ก็สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่ระดับ 100% ทั้งนี้ พอร์ตเงินลงทุนของบริษัทประกอบไปด้วยเงินฝากประจำและสินทรัพย์สภาพคล่องสูงที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน ตราสารทุน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
?
เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวด
ความเสี่ยงของธุรกิจประกันวินาศภัยที่ทริสเรทติ้งประเมินนั้นสะท้อนถึงสถานะธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดของ คปภ. ซึ่งกรอบการกำกับดูแลนั้นครอบคลุมการดำเนินงานในด้านประกันภัยที่สำคัญ ๆ ทั้งหมดอันประกอบไปด้วย ความเพียงพอของเงินกองทุน อัตราเบี้ยประกันภัย เงื่อนไขของการประกัน กรอบธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยง การประเมินมูลค่าของสัญญาประกัน และขอบเขตการลงทุนที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ คปภ. ได้มีการกำกับความเพียงพอของเงินกองทุนผ่านกรอบฐานความเสี่ยง (ภายใต้มาตรฐาน RBC-2) ซึ่งมีการระบุน้ำหนักของความเสี่ยงในแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ คปภ. ยังกำหนดให้มีระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System ? EWS) ซึ่งมีวิธีการติดตามสถานะทางการเงินของบริษัทประกันและขั้นตอนการแทรกแซงบริษัทประกันที่มีความเปราะบาง อีกทั้งกองทุนประกันภัยยังช่วยลดทอนความเสี่ยงเชิงระบบจากกรณีที่เกิดการเคลมขนาดใหญ่และกรณีที่มีบริษัทประกันล้มละลายได้อีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? อัตราการเติบโตของเบี้ยรับโดยตรงจะอยู่ที่ระดับ 20% ในปี 2565 และระดับ 7% ต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
? อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนจะอยู่ที่ระดับ 52%-54%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ระดับ 42%-44%
? ผลตอบแทนจากเงินลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 2%-3%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ต่อไปได้และในขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ เพิ่มความหลากหลายไปสู่ธุรกิจที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์อย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งยังคาดหวังด้วยว่าบริษัทจะคงความแข็งแกร่งของสถานะเงินกองทุนพร้อมทั้งยังคงมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดและสภาพคล่องที่เพียงพอเอาไว้ได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทลงหากสถานะเงินกองทุนหรือสภาพคล่องของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญอันนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท โดยสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในกรณีที่บริษัทประสบผลขาดทุนเป็นมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ หากมีหลักฐานพยานใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อบกพร่องของการบริหารความเสี่ยงและระบบธรรมาภิบาลอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทถูกจำกัดเพดานให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตกลุ่มของ TGROUP และอันดับเครดิตองค์กรของ TCAP ไม่เกิน 2 ขั้น ดังนั้น การปรับลดอันดับเครดิตกลุ่มของ TGROUP และอันดับเครดิตองค์กรของ TCAP ก็อาจส่งผลทำให้มีการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
ทริสเรทติ้งอาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตเฉพาะของ TNI หากบริษัทสามารถยกระดับสถานะในการแข่งขันทางธุรกิจของตนได้ซึ่งอาจจะด้วยการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงได้อย่างมีนัยสำคัญในขณะที่ยังคงสามารถรักษาผลการดำเนินงานจากการรับประกันภัยและความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่ดี รวมทั้งคงระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดเอาไว้ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตเฉพาะจากระดับปัจจุบันจะไม่นำไปสู่การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทหากไม่มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตกลุ่มของ TGROUP และอันดับเครดิตองค์กรของ TCAP ไปด้วย
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตบริษัทประกัน, 9 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) (TNI)
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน: AA-
แนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน: Stable