ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานที่แข็งแกร่งในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกันของบริษัท และขนาดธุรกิจของบริษัทที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าแผนการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกัน และไม่มีหลักประกันจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยจะส่งผลให้ระดับการก่อหนี้ของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าก็จะเพิ่มสูงเช่นกัน ขณะที่กระแสเงินสดของบริษัทที่จะเกิดจากการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Non-performing Asset -- NPA) ยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากกระแสเงินสดดังกล่าวขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางกฎหมาย สถานที่ตั้ง ราคา และความต้องการ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้ง สถานะสภาพคล่องของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในระดับที่เพียงพอ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง
การประเมินสถานะทางธุรกิจของบริษัทชโย กรุ๊ป ของทริสเรทติ้งสะท้อนถึงประสบการณ์ที่กว้างขวาง ยาวนาน และมีผลงานที่พิสูจน์แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ รวมทั้งการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกันผ่านการดำเนินงานของ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ชโย จำกัด (Chayo AMC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะมีผู้ประกอบรายใหม่เข้ามาหลายราย แต่บริษัทก็อยู่ในตำแหน่งที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เนื่องจากความเชี่ยวชาญที่สะสมมายาวนานและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า รวมถึงสถาบันการเงิน บริษัทต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันมากขึ้น
ทริสเรทติ้งมีมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับการขยายกิจการเชิงกลยุทธ์ของบริษัทสู่การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันภายใต้ Chayo JV Co., Ltd. (Chayo JV) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2564 แม้ว่าทริสเรทติ้งจะมองว่าการกระจายความเสี่ยงเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการตลาดและขนาดธุรกิจของบริษัทในระยะปานกลาง แต่ทริสเรทติ้งก็มีความกังวลเกี่ยวกับระดับการก่อหนี้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและกระแสเงินสดที่ไม่แน่นอนจากการขายสินทรัพย์
ณ เดือนมิถุนายน 2565 Chayo JV มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 1.8 พันล้านบาท สินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันมีสัดส่วนคิดเป็น 61.3% ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมด (เงินให้กู้ยืมแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพก่อนดอกเบี้ยค้างจ่ายและการตั้งสำรอง) ของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากกลยุทธ์ในปัจจุบันของบริษัทที่จะเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันให้มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพ ในมุมมองของทริสเรทติ้ง การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนนี้เป็นพัฒนาการเชิงบวก เนื่องจากจะช่วยเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมในการจัดการและส่วนแบ่งผลกำไรในอนาคต
ขยายธุรกิจเชิงรุกแต่ขนาดธุรกิจยังค่อนข้างเล็ก
ขนาดธุรกิจของบริษัทขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกลยุทธ์การซื้อสินทรัพย์เชิงรุกโดยมุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันมากกว่าสินทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกัน ขนาดสินทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ระดับ 82.6% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมากกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของทั้งอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ถึงแม้ว่าบริษัทจะซื้อสินทรัพย์เชิงรุก แต่ยังคงต้องใช้เวลาในการสร้างการเติบโตของขนาดสินทรัพย์ของบริษัทจนถึงจุดที่มีผลกระทบเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท โดยขนาดสินทรัพย์ของบริษัทที่ระดับ 4.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 นั้นคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับเพียง 1.59% ในบรรดาบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดในประเทศไทย ทั้งนี้ จากสินทรัพย์รวมทั้งหมด 4.1 พันล้านบาทนั้น ประกอบด้วยสินทรัพย์ที่ Chayo AMC 2.8 พันล้านบาท ที่ Chayo JV 914 ล้านบาท และที่ บริษัทโฮลดิ้ง 335 ล้านบาท
เงินสดจัดเก็บเพิ่มมากขึ้นแต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
บริษัทรายงานการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของเงินสดจัดเก็บ โดยปรับเพิ่มขึ้น 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 หลังจากมีการปรับเพิ่มขึ้น 60.6% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกัน (ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันและทรัพย์สินรอการขาย) ที่บริษัทซื้อมาบริหารในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เงินสดจัดเก็บทั้งปีในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง เนื่องจากกระบวนการประมูลล่าช้ากว่าที่คาดและเป็นอุปสรรคต่อการขายสินทรัพย์ขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่ง
เมื่อมองไปข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินสดจัดเก็บของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 600-1,500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยในจำนวนนี้ เงินสดจัดเก็บของบริษัทจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันมีแนวโน้มจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของเงินสดจัดเก็บทั้งหมด ตามประมาณการของทริสเรทติ้ง เทียบกับ 53.3% ในปี 2564 ทั้งนี้ เนื่องจากสัดส่วนที่มากกว่าของเงินสดจัดเก็บจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกัน ทริสเรทติ้งจึงมองว่าความไม่แน่นอนของเงินสดจัดเก็บของบริษัทจากธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
การก่อหนี้อยู่ที่ระดับสูงในช่วงการเติบโต
ระดับการก่อหนี้ของบริษัทยังคงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของอับดับเครดิต เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าระดับการก่อหนี้จะอยู่ในระดับสูงในช่วงการเติบโต จากแผนของบริษัทและสมมติฐานของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในอัตรา 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 ระดับหนี้ของบริษัทจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินสดจัดเก็บ เนื่องจากธรรมชาติของการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้นต้องใช้เงินลงทุนสูง นอกจากนี้ การเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายที่ยืดเยื้อและไม่แน่นอนอาจทำให้การขายสินทรัพย์และการได้รับเงินสดจัดเก็บล่าช้าออกไป
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ระดับ 4.9 เท่าและ 4.5 เท่า ณ สิ้นปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ จากระดับ 0.4 เท่า ณ สิ้นปี 2564 โดยประมาณการดังกล่าวได้รวมมุมมองของทริสเรทติ้งที่เงินสดจัดเก็บจากการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันอาจมีความล่าช้าเนื่องจากกระบวนการขายที่ไม่แน่นอนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
รายได้จากบริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากบริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หลังจากที่ปรับตัวลดลง 26.9% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้บริการจากทั้งสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงที่มีโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากบริการดังกล่าวจะฟื้นตัว 12% และ 14% ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ โดยได้รับการสนับสนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงินภายหลังการสิ้นสุดโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เสนอให้ลูกค้าในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินสถานะสภาพคล่องของบริษัทอยู่ที่ระดับเพียงพอ โดยพิจารณาจากการคาดการณ์ว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทจะยังคงมากกว่าการใช้เงินทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 484 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า รวมถึงเงินสดในมือจำนวน 3.0 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 และเงินกู้ยืมใหม่เพื่อใช้คืนหนี้เดิม (รีไฟแนนซ์) ในขณะที่การใช้เงินทุนประกอบด้วยแผนการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอีกประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2565 และการปล่อยเงินกู้ลูกค้ารายใหม่ประมาณ 850 ล้านบาท
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตลงทุนลดลง
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตลงทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งวัดจากเงินลงทุน 10 รายการแรกในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันมีแนวโน้มลดลง โดยคิดเป็นประมาณ 37% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จากประมาณ 60% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด ณ สิ้นปี 2563 การลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากกลยุทธ์ของบริษัทในการกระจายพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแบบมีหลักประกันให้มีขนาดต่อรายเล็กลง นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตลงทุนของบริษัทก็บรรเทาลงบางส่วนจากต้นทุนการซื้อสินทรัพย์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับราคาประเมินของหลักประกันและการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหลักประกันเมื่อเวลาผ่านไป
เป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทบริหารสินทรัพย์จากการที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น
การระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมยังคงอ่อนแอถึงแม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือมากมายจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบก็ตาม หนี้เสียจากสถาบันการเงินซึ่งรวมทั้งสถาบันการเงินของไทยและต่างชาติตลอดจนบริษัทเงินทุนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.3 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 จาก 4.65 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าสถาบันการเงินจะทยอยจำหน่ายหนี้เสียออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการลดหนี้เสียของสถาบันการเงินต่าง ๆ หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลงในปี 2564 ซึ่งเห็นได้จากการริเริ่มของ ธปท. ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย วิธีดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่จะซื้อสินทรัพย์และเพิ่มรายได้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการจัดเก็บหนี้ที่ช้าลงในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอนี้จะยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญสำหรับทุกฝ่าย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567
? เงินสดจัดเก็บจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจะอยู่ในช่วง 600-1,500 ล้านบาทต่อปี
? รายได้จากบริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้จะอยู่ในช่วงประมาณ 32-41 ล้านบาทต่อปี
? กำไรจากการขายสินทรัพย์รอการขายจะอยู่ในช่วง 90-360 ล้านบาทต่อปี
? เงินให้สินเชื่อรวมสำหรับธุรกิจให้สินเชื่อจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.0-2.0 พันล้านบาทต่อปี
? การลงทุนซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพใหม่จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ และมีรายได้จากเงินสดจัดเก็บที่แข็งแกร่งต่อไปในระยะปานกลางจากการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างการเติบโตของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังคงรักษาระดับหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CHAYO)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable