ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยาอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ระดับ ?AAA/Stable? ซึ่งจัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง)
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่เป็นบริษัทลูกที่สำคัญ
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและแหล่งเงินทุนอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจหลักของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทและได้วางตำแหน่งให้บริษัทเป็นหน่วยธุรกิจหลักของธนาคารที่ให้บริการด้านบัตรเครดิตภายใต้ตราสัญลักษณ์
?กรุงศรี? บริษัทมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและมีแนวทางการดำเนินงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ ?กลุ่มกรุงศรี คอนซูมเมอร์? ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตหลากหลายประเภท
บริษัทมีระบบปฏิบัติการร่วมกับธนาคารอย่างเต็มรูปแบบ โดยบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นช่องทางในการขยายฐานลูกค้าบัตรเครดิตรวมทั้งใช้เป็นช่องทางการชำระเงินและให้บริการ ทั้งนี้ จำนวนบัตรเครดิตใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น เกือบ 50% ของจำนวนบัตรเครดิตใหม่มาจากการแนะนำผ่านสาขาของธนาคารเป็นช่องทางหลัก นอกจากนี้ ธนาคารยังให้การสนับสนุนบริษัทในด้านการรวมศูนย์ระบบปฏิบัติการทั้งในด้านการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบภายใน และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้มาตรฐานอีกด้วย ในฐานะที่เป็นบริษัทลูกประเภท Solo Consolidation ของกลุ่มฯ บริษัทจึงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาในรูปแบบของวงเงินสินเชื่ออีกด้วย
มีสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจบัตรเครดิต
บริษัทยังคงรักษาสถานะทางการตลาดของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถึงแม้ว่ามูลค่าสินเชื่อคงค้างจะหดตัวอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับประมาณ 10% ของมูลค่าสินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิต โดยยอดสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้างของบริษัทอยู่ที่ระดับ 4.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของบริษัทในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 1.64 แสนล้านบาท (หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 11% ของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในอุตสาหกรรม) ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ
พัฒนาการของบริษัทในปี 2565 เป็นไปในเชิงบวก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 สินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตขยายตัว 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ฟื้นตัวด้วยการเติบโต 11.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีแรงผลักดันมาจากกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพและความร่วมมือกับธนาคารแม่
คุณภาพของสินทรัพย์ยังคงแข็งแรง
บริษัทสามารถรักษา NPL Ratio (ลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน) สำหรับบัตรเครดิตให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 2% เช่นเดียวกันกับสินเชื่อส่วนบุคคลทีมี NPL Ratio ที่ 2.4% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 3.1% คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่รัดกุมและข้อมูลเครดิตที่ใช้ร่วมกันของลูกค้าภายในกลุ่มกรุงศรี คอนซูมเมอร์
สถานะเงินทุนมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับฐานทุนให้แข็งแรงและอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับแผนการขยายธุรกิจในระยะปานกลางและจะช่วยรองรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลงได้ โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 24% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 21% ณ สิ้นปี 2563 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากกำไรที่สะสมอย่างต่อเนื่องและนโยบายงดการจ่ายเงินปันผลของบริษัท
ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา
บริษัทมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอจากการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาในรูปแบบของวงเงินสินเชื่อ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ได้อีก เช่น การออกหุ้นกู้ในตลาดทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเป็นจำนวน 4.05 หมื่นล้านบาท โดยที่ 97% ของวงเงินดังกล่าวนั้นยังไม่ได้เบิกใช้
?
แรงกดดันจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมยังคงมีต่อเนื่อง
การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนได้จากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในครึ่งแรกของปี 2565 ที่อยู่ที่ระดับ 0.94 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดคงค้างของบัตรเครดิตในอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 9.7% ในครึ่งแรกของปี 2565
อย่างไรก็ดี คุณภาพสินทรัพย์ทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอ่อนแอลงเล็กน้อย โดย NPL Ratio สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ 2.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 1.8% ณ สิ้นปี 2564 ในขณะที่ NPL Ratio ของสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งไม่รวมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จาก 3.1% ณ สิ้นปี 2564 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ในมุมมองของทริสเรทติ้งคุณภาพสินทรัพย์ทั้งระบบยังคงมีความเปราะบางและมีแนวโน้มอ่อนแอลงภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังคงได้รับแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวไปยังธุรกิจอื่น ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดดันจากการสร้างรายได้ยังคงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งตั้งอยู่บนความคาดหมายที่บริษัทจะยังคงดำรงสถานะในการเป็นบริษัทลูกหลักของธนาคารกรุงศรีอยุธยาต่อไป
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะความเป็นบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้และจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารแม่ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
สถานะเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงในกรณีที่สถานะเครดิตของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแปลงไป หรือมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความสำคัญของบริษัทที่มีต่อกลุ่มหรือระดับของการสนับสนุนที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีต่อบริษัทเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (KCC)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KCC233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
KCC239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
KCC249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable