ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ. ได้รับอันดับเครดิต ?AAA/Stable? จากทริสเรทติ้ง) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัทที่มีขนาดเล็ก รวมถึงความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิง ทั้งนี้ อันดับเครดิตได้พิจารณาถึงแนวโน้มการก่อหนี้สินทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้นจากแผนการเติบโตขนาดใหญ่ของบริษัทด้วยแล้ว
อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทสะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทย่อยหลัก (Core Subsidiary) ของ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG (ได้รับอันดับเครดิต ?BBB-/Stable? จากทริสเรทติ้ง) ด้วยเหตุนี้ อันดับเครดิตของบริษัทจึงได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ซึ่งอยู่ที่ระดับ ?bb+? ขึ้นมาอยู่ที่ระดับเดียวกับ BWG
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กำไรมาจากสัญญาซื้อขายไฟระยะยาวกับ กฟภ.
บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะอุตสาหกรรม (WTE) จำนวน 3 แห่งภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. รวม 16.5 เมกะวัตต์ โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ในรูปแบบที่ไม่ได้กำหนดปริมาณขายไฟฟ้า (Non-firm Basis) นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของคู่สัญญาต่อการสร้างกำไรของบริษัทก็ได้รับการบรรเทาลงอย่างมากจากผู้รับซื้อตามสัญญาระยะยาวที่มีความน่าเชื่อถือสูง ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งขายไฟฟ้าภายใต้โครงสร้างราคาแบบ Feed-in-Tariff (FiT) โดยจะได้รับพรีเมียมจำนวน 0.70 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในช่วง 8 ปีแรก
ผลประกอบการของโรงไฟฟ้าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ
บริษัทเป็นผู้ริเริ่มในธุรกิจพลังงานทางเลือกจากขยะอุตสาหกรรมของประเทศ โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกของบริษัทก็เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกจากขยะอุตสาหกรรมแห่งแรก ๆ ของประเทศ โรงไฟฟ้าดังกล่าวตั้งอยู่ในอำเภอแก่งคอยและมีสัญญา PPA ขนาด 8 เมกะวัตต์ กับ กฟภ. โรงไฟฟ้าแห่งนี้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2560 และได้ผ่านการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ในปี 2563 เพื่อปรับแก้ระบบควบคุมความร้อนในห้องสันดาป อย่างไรก็ดี ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าก็อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจที่ 86%-90% ในช่วงปี 2561-2564
โรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดพิจิตรโดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาอยู่ที่ 5.5 เมกะวัตต์ และ 3.0 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยทั้งสองแห่งเปิดดำเนินงานในช่วงปลายปี 2562 โรงไฟฟ้าสองแห่งนี้มีค่าความพร้อมจ่ายอยู่ในช่วง 84%-91% ในปี 2563-2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหมายว่าต่อไปในอนาคตผู้ให้บริการด้านการดำเนินงานและการซ่อมบำรุงซึ่งเป็นบริษัทในเครือจะมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานโรงไฟฟ้ามากขึ้น และสามารถรักษาระดับค่าความพร้อมจ่ายให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมที่ประมาณ 89% ได้ โดยในประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง โรงไฟฟ้าเดิมของบริษัทจะสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ได้ประมาณ 330-360 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัทมีขนาดเล็ก
แม้ว่าการดำเนินงานโรงไฟฟ้าจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัทถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีขนาดเล็กและกระจุกตัวดังกล่าวอาจจะทำให้อำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าถูกลดทอนลงและยังทำให้ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ได้ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้โรงไฟฟ้าแห่งใดแห่งหนึ่งต้องหยุดชะงักลง กำไรและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทก็อาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญด้วย
ความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิง
แม้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงด้านตลาดร่วมถึงช่วยให้สามารถคาดการณ์รายได้ได้แม่นยำขึ้น แต่กำไรจากโรงไฟฟ้าก็ยังคงอ่อนไหวต่อความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิงเนื่องจากไม่มีกลไกการส่งผ่านภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บริษัทได้จัดหาเชื้อเพลิงที่ผลิตจากขยะ หรือ SRF (Solid Recovered Fuel) เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งเกือบทั้งหมดจากการทำสัญญาระยะยาวกับ BWG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดย BWG มีวัตถุดิบสำหรับการผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวนมาก สัญญาซื้อขายเชื้อเพลิง SRF ดังกล่าวมีโครงสร้างราคาที่ตายตัวโดยมีการปรับเพิ่มขึ้นปีละ 2%
ผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันดีเซลทะยานสูงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2565 นั้น ทำให้ BWG มีต้นทุนในการผลิตและขนส่งเชื้อเพลิง SRF เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ BWG จึงได้เจรจากับบริษัทเพื่อปรับเพิ่มราคาขายเชื้อเพลิง SRF เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาเชื้อเพลิง SRF จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ในครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรจากการขายไฟฟ้าถูกบีบตัวลดลง สะท้อนว่ากลไกการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากโครงสร้างราคาตามโครงการ VSPP จะปรับตัวตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่านั้นแต่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามราคาน้ำมันดีเซล
?
มุ่งมั่นในแผนการเติบโตขนาดใหญ่
ทริสเรทติ้งมองเห็นโอกาสในการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยจากการที่รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนและจากเป้าหมายระยะยาวที่จะก้าวเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การผลิตไฟฟ้าจากขยะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ.) จึงได้เปิดให้มีการเข้าร่วมเสนอโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะอุตสาหกรรมโดยมีโควตารวม 100 เมกะวัตต์สำหรับปี 2565 และตั้งเป้าหมายให้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2568-2569 ซึ่งบริษัทนั้นได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะขยายขนาดกำลังการผลิตรวมในระดับที่สูง โดยบริษัทได้เข้าร่วมเสนอโครงการเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะด้วยเป้าหมายโรงไฟฟ้าใหม่จำนวนมาก
ภาระหนี้จะสูงขึ้น
อันดับเครดิตของบริษัทถูกฉุดรั้งอย่างมากจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างมากของภาระหนี้สินทางการเงินจากการที่บริษัทมีโอกาสสูงที่จะต้องกู้ยืมเพิ่มเติมในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ทั้งนี้ ในประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะจำนวน 4 แห่งโดยมีกำลังการผลิตติดตั้งแห่งละ 9.9 เมกะวัตต์ และประมาณการว่าบริษัทจะต้องใช้เงินทั้งหมดจำนวน 5.8 พันล้านบาทในช่วงปี 2566-2568 ทั้งนี้ บริษัทยังคงเงินส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO) ในปี 2563 จำนวน 1.5 พันล้านบาทเอาไว้ โดยคาดว่าเงินก้อนนี้จะทยอยหมดไปในช่วงก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่
จากแผนการลงทุนที่มุ่งมั่นนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะทะยานขึ้นไปถึง 11 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 54% ในปี 2567 อีกทั้ง หนี้สินสุทธิของบริษัทจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 5 พันล้านบาทในปี 2568 อย่างไรก็ดี ระดับหนี้สินทางการเงินจะทยอยลดลงหลังจากโรงไฟฟ้าทยอยเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงของการก่อสร้างตลอดช่วงเวลา 2 ปีระหว่างพัฒนาโครงการ
สภาพคล่องส่วนเกินช่วงก่อนเริ่มขยายกิจการ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าในปัจจุบันบริษัทยังคงมีสภาพคล่องมากกว่าภาระทางการเงินของบริษัทในช่วงระยะเวลาอันใกล้ก่อนที่การลงทุนครั้งใหม่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เงินที่ได้จาก IPO ของบริษัทเป็นแหล่งที่มาของสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าว แหล่งเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.2 พันล้านบาท รวมทั้งวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 25 ล้านบาท อีกทั้งทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 200-240 ล้านบาท ซึ่งแหล่งสภาพคล่องเหล่านี้เพียงพอสำหรับค่าใช่จ่ายลงทุนเพื่อการซ่อมบำรุงและการชำระหนี้สินทางการเงินในช่วงเดียวกัน ซึ่งมียอดรวมจำนวน 412 ล้านบาท
เป็นบริษัทย่อยหลักของ BWG
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลัก (Core Subsidiary) ของ BWG ซึ่งมีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญเหนือบริษัท ทั้งในด้านการดำเนินงาน ด้านการเงิน รวมถึงด้านการพัฒนาธุรกิจ อีกทั้งการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าภายใต้ชื่อบริษัทนั้น ช่วยให้ BWG สามารถสร้างห่วงโซ่มูลค่าในการผลิตไฟฟ้าจากขยะได้ โดยอาศัยแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวนมากของ BWG ทั้งนี้ BWG ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าผ่านบริษัทเป็นอย่างมากในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยรายได้จากการผลิตไฟฟ้านั้นคิดเป็นประมาณสองในสามของ EBITDA รวมในปี 2564 ของ BWG แซงหน้า EBITDA จากธุรกิจบริหารจัดการของเสียไปตั้งแต่ปี 2563 ยิ่งไปกว่านั้น ความมั่นคงของกำไรจากธุรกิจไฟฟ้ายังช่วยชดเชยความเสี่ยงจากความผันผวนของกำไรในธุรกิจบริหารจัดการของเสียเป็นอย่างมาก ความสำคัญของบริษัทต่อ BWG นั้นมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยการเติบโตของกลุ่ม BWG จะต้องอาศัยการขยายธุรกิจด้านการผลิตพลังงานทดแทนจากขยะเป็นหลัก
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งได้คำนึงถึงโอกาสที่สัดส่วนความเป็นเจ้าของสุทธิในบริษัทโดย BWG อาจจะลดลงเหลือ 44% ในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องมาจากการที่ BWG ตัดสินใจขายหุ้น 7% ที่ถืออยู่ทางอ้อม นอกจากนี้ สัดส่วนความเป็นเจ้าของอาจลดลงไปได้อีกจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจงของบริษัท อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า BWG จะยังสามารถรักษาอำนาจควบคุมส่วนใหญ่เหนือบริษัทเอาไว้ได้ และจะให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเต็มที่ได้เมื่อบริษัทต้องการ
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้ที่ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าทั้งสิ้น 855 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและบริษัทย่อย อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดจึงคิดเป็น 100% ซึ่งสะท้อนว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบกว่าเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันอย่างมีนัยสำคัญในกรณีที่ต้องมีการเรียกร้องอ้างสิทธิต่อทรัพย์สินของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเดิมทั้ง 3 แห่งอยู่ที่ประมาณ 89% ในช่วงปี 2565-2567
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) อยู่ที่ประมาณ 43%-47% ในช่วงปี 2565-2567
? บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่จำนวน 4 แห่งโดยมีกำลังการผลิตติดตั้งแห่งละ 9.9 เมกะวัตต์ และมีต้นทุนแต่ละโครงการประมาณ 1.4-1.5 พันล้านบาท
? ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่รวม 5.8 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2568
? ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเพื่อการซ่อมบำรุงประมาณ 65-75 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
?
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงมีผลประกอบการในระดับที่น่าพอใจ รวมถึงระดับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะแห่งใหม่จะสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดหมายว่า BWG จะยังคงสามารถรักษาอำนาจควบคุมส่วนใหญ่เหนือบริษัทไว้ได้ แม้ว่าจะมีโอกาสที่จะขายหุ้นของบริษัทที่ถืออยู่ทางอ้อมออกไป รวมถึงอำนาจควบคุมที่อาจถูกลดสัดส่วนลงไปได้อีกจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจงของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่จะทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้นนั้นยังมีจำกัดในระยะใกล้ จากโอกาสที่ระดับการก่อหนี้สินทางการเงินจะเพิ่มขึ้นในช่วงการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ทั้งนี้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจมาจากการลงทุนใหม่ที่จะเริ่มสร้างผลประโยชน์โดยทำให้กระแสเงินสดของบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการกระจายตัวมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม แรงกดดันที่ทำให้มีการลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากโรงไฟฟ้าของบริษัทมีผลประกอบการที่ถดถอยลงไปกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ นอกจากนี้ แผนการลงทุนที่มากขึ้นจนทำให้ระดับการก่อหนี้สินทางการเงินสูงกว่าคาดก็อาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตได้เช่นกัน
หากความระดับน่าเชื่อถือของ BWG เปลี่ยนแปลงอย่างมากก็จะทำให้อันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากนี้ หากอำนาจควบคุมและการสนับสนุนจาก BWG ถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญก็จะทำให้อันดับเครดิตของบริษัทได้รับผลกระทบเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ETC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable