ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ที่ระดับ ?AA+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2.5 พันล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 7 ปี ของบริษัทที่ระดับ ?AA+? ด้วยเช่นกัน โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของ บสส. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญ (Importance) กับภาครัฐในระดับ ?สำคัญมาก? (Very Important) และมีความสัมพันธ์ (Linkage) กับ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) ในระดับ ?สูงสุด? (Integral) โดยกองทุนฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความสัมพันธ์และบทบาทที่แข็งแกร่งมีนัยที่บ่งบอกถึงแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้สูงที่ บสส. น่าจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ในยามจำเป็น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กองทุนฯ ถือหุ้นทั้งหมดและมีบทบาทในการควบคุมดูแล
ทริสเรทติ้งคงการประเมินความสัมพันธ์ของ บสส. กับกองทุนฯ อยู่ในระดับ ?สูงสุด? (Integral) จาก ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ? ของทริสเรทติ้ง เนื่องจากกองทุนฯ เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของ บสส. การที่กองทุนฯ ถือหุ้นทั้งหมดใน บสส. ทำให้นโยบายในการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัทซึ่งรวมไปถึงนโยบายและทิศทางในการดำเนินธุรกิจและนโยบายทางการเงินถูกกำหนดและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดโดยคณะกรรมการบริษัทผ่านการประชุมของคณะกรรมการทุกเดือนและทุกไตรมาสกับทางกองทุนฯ ทั้งนี้ นอกจากบริษัทจะมีกรรมการบริษัทที่มาจากกองทุนฯ แล้วนั้น คณะกรรมการของบริษัทยังประกอบด้วยตัวแทนจาก ธปท. กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่น ๆ ของภาครัฐ ซึ่งเน้นย้ำถึงความใกล้ชิดระหว่างบริษัทและภาครัฐ อีกทั้ง นโยบายการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายทางการเงินของบริษัทยังมุ่งเน้นที่เสถียรภาพทางธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าผลกำไรอีกด้วย
มีบทบาทเชิงนโยบายที่สำคัญในการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ
ความสัมพันธ์และความสำคัญของบริษัทต่อกองทุนฯ และ ธปท. ได้รับการสนับสนุนจากบทบาทของบริษัทในการเป็นตัวแทนของ ธปท. ในการดำเนินนโยบายที่สำคัญของธนาคารกลาง โดย บสส. ทำหน้าที่สำคัญในฐานะเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐเพียงแห่งเดียวซึ่งมีหน้าที่ในการเป็นหน่วยงานของรัฐในการช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโดยการเข้าซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยบทบาทหน้าที่ของ บสส. เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่สำคัญในการรับมือกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นมากในระบบธนาคารพาณิชย์ บทบาทนโยบายของบริษัทใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสินเชื่อด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินโดยเน้นในการปรับโครงสร้างหนี้
นอกจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแล้ว บสส. ยังมีบทบาทที่เด่นชัดอีกบทบาทหนึ่ง คือการเป็นตัวกลางในการดำเนิน ?โครงการคลินิกแก้หนี้? ซึ่งริเริ่มโดย ธปท. เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้โดยสมัครใจสำหรับลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหาในการชำระคืนหนี้และเพื่อให้สถาบันการเงินได้รับชำระหนี้คืนมากขึ้น ในปี 2564 โครงการคลินิกแก้หนี้ได้ผ่อนปรนขยับวัน Cut-off Date สำหรับผู้กลับมาเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง (Re-entry Applicant) ขยายอายุผู้เข้าร่วมเป็น 70 ปี และผ่อนปรนการพิจารณาเอกสารแสดงรายได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโครงการได้มากยิ่งขึ้น
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 โครงการคลินิกแก้หนี้มีจำนวนลูกหนี้ภายใต้โครงการเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยอยู่ที่ประมาณ 23,000 รายจากประมาณ 11,000 รายในปี 2563 และ 3,000 รายในปี 2562 ทั้งนี้ ภาระหนี้เงินต้นสะสมรวมของลูกหนี้ภายใต้โครงการอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 และ 760 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ภายใต้โครงการอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของ บสส. ในการช่วยให้ ธปท. บรรลุเป้าหมาย
ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ
ทริสเรทติ้งเชื่อว่า บสส. มีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากกองทุนฯ ในยามวิกฤติ แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้รับการสนับสนุนที่เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนจากกองทุนฯ นอกเหนือไปจากเงินกู้ยืมผ่านตราสารหนี้ที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยจากกองทุนฯ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่ากองทุนฯ ให้การสนับสนุนทางการเงินโดยอ้อมให้แก่บริษัทผ่านการกำหนดตารางการชำระคืนหนี้ที่ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ โดยกองทุนฯ ได้กำหนดการชำระคืนหนี้ของบริษัทที่ 1.5 พันล้านบาทต่อปี โดยเมื่อเทียบเงินจำนวนดังกล่าวกับกระแสเงินสดรับของบริษัทในแต่ละปีที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในอดีตและ 5 พันล้านบาทในปี 2564 แล้ว จะเห็นว่าบริษัทสามารถเก็บเงินสดรับจากการดำเนินงานมาใช้สำหรับการขยายธุรกิจได้ ทั้งนี้ การชำระคืนหนี้ในปี 2562-2564 ปีละ 1.5 พันล้านบาทนั้นเป็นจำนวนที่ลดลงจากการชำระคืนที่ประมาณ 5 พันล้านบาทในปี 2560 เนื่องจากกองทุนฯ มีนโยบายที่ต้องการให้ บสส. เสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมกับการคาดการณ์ของสินเชื่อด้อยคุณภาพที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อจำกัดในเชิงกฎระเบียบหรือนโยบายใด ๆ ที่จะห้ามมิให้กองทุนฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ บสส. ในกรณีจำเป็น และทริสเรทติ้งยังมีมุมมองว่าการผิดนัดชำระหนี้ของ บสส. อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของกองทุนฯ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของ บสส.
เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง
บสส. ถือว่าเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในแง่ของขนาดของสินทรัพย์รวมเมื่อเทียบกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งสิ้น 62 แห่งในอุตสาหกรรมบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของไทย โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพของ บสส. ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่รับโอนมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด (บสพ.) ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา บสส. ได้ทำการซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารในจำนวนที่เพิ่มขึ้นตามแนวนโยบายของกองทุนฯ เพื่อให้ บสส. ยังคงดำเนินการต่อและรักษาขนาดของสินเชื่อด้อยคุณภาพเอาไว้ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 สินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิในอดีตคิดเป็น 33% และสินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิที่ซื้อเข้ามาคิดเป็น 67%
บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บสก. ได้รับอันดับเครดิต ?A-/Stable? จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1.26 แสนล้านบาท ทั้งนี้ สินทรัพย์รวมของทั้ง บสก. และ บสส. คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของสินทรัพย์รวมของทั้งอุตสาหกรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเทียบสินทรัพย์ของบริษัทกับขนาดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบการเงินที่มีจำนวนมากกว่า 5 แสนล้านบาท และความช่วยเหลือที่ได้รับจากกองทุนฯ ทริสเรทติ้งมองว่าบทบาทในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐเพียงแห่งเดียวซึ่งมีหน้าที่ในการเป็นหน่วยงานของรัฐในการช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินไม่สามารถทดแทนได้โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น ๆ ในระยะสั้นถึงปานกลาง
ภาระหนี้อยู่ในระดับต่ำ
กองทุนฯ กำกับดูแลระดับภาระหนี้ของบริษัทจากสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมเงินกู้ยืมที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยจากกองทุนฯ) เทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น โดยบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.31 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จาก 0.36 เท่า ณ สิ้นปี 2564 โดยถ้ารวมเงินกู้ยืมที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยจากกองทุนฯ บริษัทมีภาระหนี้ของบริษัทจากสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.6 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดใหม่จำนวน 2.5 พันล้านบาทจะเป็นแหล่งเงินทุนที่ช่วยในการขยายการลงทุนซื้อสินทรัพย์ของบริษัทในช่วงต้นปี 2566 หากคิดรวมหุ้นกู้ชุดใหม่ที่กำลังจะออกอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.8 เท่า (ยังไม่รวมการจ่ายคืนหนี้สิน) ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมมาลงทุนซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
แหล่งเงินทุนจากเงินสดรับชำระหนี้และวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
บสส. มีแหล่งเงินทุนเช่นเดียวกันกับบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น ๆ โดยมีเงินสดรับชำระหนี้จากลูกหนี้สินเชื่อและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นแหล่งเงินทุนหลักสำหรับการขยายธุรกิจ โดยในปี 2563 บริษัทมีกระแสเงินสดรับจากทั้งพอร์ตสินเชื่อด้อยคุณภาพและพอร์ตทรัพย์สินรอการขายลดลงอย่างมากที่ 8.3 พันล้านบาทจากประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงก่อนปี 2563 จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยกระแสเงินสดรับของบริษัทลดลงต่อเนื่องในปี 2564 เป็น 5.5 พันล้านบาทจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจำหน่ายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ กระแสเงินสดรับของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากทั้งพอร์ตสินเชื่อด้อยคุณภาพและพอร์ตทรัพย์สินรอการขายยังคงอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดรับของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2566 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ยังคงมีแรงกดดันอยู่ ซึ่งอาจทำให้บริษัทต้องพึ่งพาการกู้ยืมมากยิ่งขึ้นสำหรับการลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพและทำให้ระดับหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในด้านวงเงินกู้ยืมที่มีกับสถาบันการเงิน บริษัทมีวงเงินทั้งสิ้น 1.07 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 โดย 38% ของวงเงินดังกล่าวยังไม่ถูกเบิกใช้
เป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทบริหารสินทรัพย์จากการที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น
การระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมยังคงอ่อนแอถึงแม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือมากมายจาก ธปท. เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบก็ตาม หนี้เสียจากสถาบันการเงินซึ่งรวมทั้งสถาบันการเงินของไทยและต่างชาติตลอดจนบริษัทเงินทุนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.3 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 จาก 4.65 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าสถาบันการเงินจะทยอยจำหน่ายหนี้เสียออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการลดหนี้เสียของสถาบันการเงินต่าง ๆ หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลงในปี 2564 ซึ่งเห็นได้จากการริเริ่มของ ธปท. ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย วิธีดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่จะซื้อสินทรัพย์และเพิ่มรายได้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการจัดเก็บหนี้ที่ช้าลงในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอนี้จะยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญสำหรับทุกฝ่าย
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่า บสส. จะยังคงสถานะในการเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและจะรักษาความสัมพันธ์ระดับ ?สูงสุด? และบทบาทในระดับ ?สำคัญมาก? ต่อทั้งกองทุนฯ และ ธปท. เอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ บสส. อาจมีการเปลี่ยนแปลงหากมุมมองของทริสเรทติ้งทั้งในด้านของระดับความสัมพันธ์ และความสำคัญของ บสส. ที่มีต่อกองทุนฯ และ ธปท. นั้นเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM)
อันดับเครดิตองค์กร: AA+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 7 ปี AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable